คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องขอไถ่ถอนการขายฝากก็ดีหรือการฟ้องขอทำลายนิติกรรมการขายฝากก็ดี เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะเรียกทรัพย์กลับคืนมาเช่นเดียวกันไม่ต่างกันจึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ว่าที่ดินโฉนดที่ 2077 จังหวัดธนบุรี เป็นสินบริคณฑ์ ระหว่างโจทก์กับนางบุญเลี่ยงภริยานางบุญเลี่ยงเอาไปขายฝากแก่นายนิ่ม 25,000 บาท โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ และโจทก์มิได้รู้เห็นโจทก์มีหนังสือบอกล้างนิติกรรมนี้ไปยังนายนิ่มแล้วต่อมานายนิ่มตาย จำเลยเป็นผู้รับมรดกไม่ยอมนำสัญญาไปจดทะเบียนเพิกถอนการขายฝาก จึงขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมรายนี้เป็นโมฆะและเพิกถอนทำลายเสีย

จำเลยต่อสู้หลายประการ

ศาลแขวงธนบุรีพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการขายฝากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ย่อมตกไปยังผู้ซื้อ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้แสดงว่าสัญญาขายฝากที่นางบุญเลี่ยงทำไว้เป็นโมฆะและให้เพิกถอนก็เท่ากับโจทก์ฟ้องเรียกกรรมสิทธิ์คืนมาจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ตามฟ้องคดีนี้มีทุนทรัพย์ 25,000 บาทเกินอำนาจศาลแขวง พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลแขวงธนบุรีเสียให้คืนฟ้องให้โจทก์เพื่อยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาขายฝากรายนี้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากย่อมตกไปยังผู้ซื้อแล้ว การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนทำลายนิติกรรมการขายฝากรายนี้ก็เท่ากับเป็นการเรียกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กลับคืนมาเป็นสินบริคณฑ์ระหว่างโจทก์กับภริยาดังเดิม จึงเป็นคดีที่พิพาทกันในเรื่องทรัพย์ซึ่งกำหนดลงเป็นราคาเงินได้ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 1196/2491 และที่ 1335/2493 ข้อที่โจทก์อ้างว่าคำพิพากษาฎีกาทั้งสองนี้ เป็นเรื่องฟ้องขอไถ่เมื่อพ้นกำหนดในสัญญาขายฝากแล้วไม่เหมือนกับเรื่องนี้นั้น เห็นว่าการฟ้องขอไถ่เมื่อพ้นกำหนดก็ดีหรือการฟ้องขอให้ทำลายนิติกรรมเช่นเรื่องนี้ก็ดีเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะเรียกที่ดินกลับคืนมาเช่นเดียวกัน

คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทำสัญญาขายฝากเงิน 25,000 บาทราคาทรัพย์ที่พิพาทจึงมีทุนทรัพย์ 25,000 บาท ข้อนี้จะถูกหรือไม่ไม่มีฝ่ายใดโต้เถียงขึ้นมา ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัย

พิพากษายืน

Share