คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5137/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกที่ดินโจทก์เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งานเศษและจำเลยที่ 2 บุกรุกที่ดินโจทก์เนื้อที่ประมาณ 30 ตารางว่านั้น เป็นแต่เพียงกะประมาณเนื้อที่เอาไว้เพื่อเสียค่าขึ้นศาลเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 บุกรุกที่ดินของโจทก์รวมเนื้อที่จริง 3 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวาตามแผนที่กลางที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้น ทั้งโจทก์จำเลยก็ทราบดีถึงเขตที่ดินส่วนที่พิพาทกันแล้วที่ศาลพิพากษาให้จำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ในเนื้อที่ดินที่บุกรุกจริง จึงมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
โจทก์ฟ้อง เรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดอันพึงจะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็น เวลานานแล้วและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ ดังนั้น ค่าเสียหายของโจทก์ในส่วนที่เกิน 1 ปี ก่อนวันฟ้องย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ จำเลยที่ 4 ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยที่ 4

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำขอของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โดยโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน ๑ แปลง เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๒ งาน ๖๔ ตารางวา เมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ ได้บุกรุกเข้ามาไถที่ดินและปลูกอ้อยในที่ดินของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งานเศษ และจำเลยที่ ๒ ได้บุกรุกเข้ามาไถที่ดินและปลูกอ้อยในที่ดินของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ตารางวาทุกปีตลอดมา โจทก์ได้ห้ามปรามและบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ รื้อถอนต้นอ้อยออกไปจากที่ดินของโจทก์ทุกปี จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ก็เพิกเฉย การกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องขาดรายได้จากการทำไร่อ้อยปีละ ๒,๐๐๐ บาทต่อไร่ คิดเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ ๑ ทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๙ ถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๗ ปี เป็นเงิน ๔๙,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๙ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๑,๐๕๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ รื้อถอนต้นอ้อยไปจากที่ดินของโจทก์และห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าขาดรายได้จำนวน ๔๙,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยค่าขาดรายได้อีกปีละ ๗,๐๐๐ บาท และให้จำเลยที่ ๒ ชดใช้ค่าขาดรายได้จำนวน ๑,๐๕๐ บาท พร้อมด้วยค่าขาดรายได้อีกปีละ ๑๕๐ บาท ทั้งนี้นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และบริวารจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นคดีอาญาสินไหม ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยให้โจทก์มาฟ้องเป็นคดีใหม่ภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ โจทก์มาฟ้องคดีนี้หลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว จึงเป็นฟ้องซ้ำจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่เคยบุกรุกที่ดินของโจทก์ แต่ได้เช่าที่ดินจากจำเลยที่ ๓ เพื่อปลูกอ้อยมา ๑๐ ปีเศษแล้วต่อมาจำเลยที่ ๓ ได้ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จึงได้เช่าที่ดินจากจำเลยที่ ๔ ต่อมาโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ รื้อถอนต้นอ้อยแต่ประการใด โจทก์ไม่ได้เสียหาย หากเสียค่าเสียหายของโจทก์ก็ไม่เกิน ๕๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เช่าที่ดินของจำเลยที่ ๓ เพื่อปลูกอ้อยมา ๑๐ ปีเศษ ต่อมาจำเลยที่ ๓ โอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๔ ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เช่าที่ดินดังกล่าวต่อมาโจทก์ไม่ได้เสียหาย หากเสียค่าเสียหายก็ไม่เกิน ๕๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ และบริวารไปจากที่ดินตามแนวในแผนที่หมาย จ.๓(๑) แต่เป็นจำนวนเนื้อที่ไม่เกินกว่าที่ระบุในฟ้อง และให้รื้อถอนต้นอ้อยออกไป ให้จำเลยที่ ๓ ชำระค่าเสียหายในอัตราไร่ละ ๒,๐๐๐ บาทต่อปี ให้แก่โจทก์คิดตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๑๙ เป็นต้นไปจนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ และให้จำเลยที่ ๔ ชำระค่าเสียหายในอัตราไร่ละ ๒,๐๐๐ บาทต่อปี คิดตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกไปจากที่ดินโจทก์
โจทก์และจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ กับบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามแนวเขตและจำนวนเนื้อที่ซึ่งเจ้าพนักงานรังวัดได้ในแผนที่พิพาทหมาย จ.๓(๑) ให้จำเลยที่ ๔ ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราปีละ ๙๐๐ บาท ก่อนฟ้องเป็นเวลา ๑ ปี และค่าเสียหายในอัตราดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ออกไปจากที่ดินของโจทก์ ส่วนคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ ๔ เดิมที่ดินจำเลยที่ ๔ เป็นของจำเลยที่ ๓ โดยซื้อมาจากผู้อื่นจำเลยที่ ๓ ได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๓ จำเลยที่ ๓ ได้ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เช่าที่ดินปลูกต้นอ้อยตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๑๙ ตลอดมาและเมื่อจำเลยที่ ๓ ได้โอนขายที่ดินให้จำเลยที่ ๔ แล้วจำเลยที่ ๔ ได้ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เช่าต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ปลูกต้นอ้อยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์รวมเป็นเนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๗๖ ตารางวา ปรากฏตามแผนที่กลางเอกสารหมาย จ.๓(๑) ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามข้อฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ ๔ เฉพาะข้อกฎหมาย มีว่า
๑. ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ และบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์เนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๗๖ ตารางวา ตามแผนที่กลางเอกสารหมาย จ.๓(๑) ซึ่งเกินไปจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น ชอบ หรือไม่
๒. โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ในส่วนที่เกิน ๑ ปี ก่อนวันฟ้องหรือไม่
ปัญหาข้อแรก ศาลฎีกาเห็นว่าที่โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้ว่าจำเลยที่ ๑ บุกรุกที่ดินโจทก์เนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งานเศษ และจำเลยที่ ๒ บุกรุกที่ดินโจทก์เนื้อที่ประมาณ ๓๐ ตารางวา ขอให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ออกไปจากที่ดินส่วนที่บุกรุกนั้นเป็นแต่เพียงกะประมาณเนื้อที่เอาไว้เพื่อเสียค่าขึ้นศาลเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ บุกรุกที่ดินของโจทก์รวมเนื้อที่จริง ๓ ไร่ ๓ งาน ๗๖ ตารางวา ปรากฏตามแผนที่กลางเอกสารหมาย จ.๓ (๑) ที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นทั้งโจทก์จำเลยก็ทราบดีถึงเขตที่ดินส่วนที่พิพาทกัน ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยออกไปจากที่ดินขอโจทก์ในเนื้อที่ดินที่บุกรุกจริง จึงมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
ปัญหาข้อที่ ๒ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในส่วนที่เกิน ๑ ปี ก่อนวันฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ผู้กระทำละเมิดอันพึงจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์มาเป็นเวลานานแล้ว แต่โจทก์เพิ่งฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นคดีนี้ ทั้งจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ก็ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ ดังนั้นค่าเสียหายของโจทก์ในส่วนที่เกิน ๑ ปีก่อนวันฟ้องย่อมขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๘ แม้ว่าจำเลยที่ ๔ จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ จำเลยที่ ๔ ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลย…
พิพากษายืน

Share