คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นภริยาจำเลยที่ 2 ซื้อบ้านมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้และใช้ผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านร่วมกันกับบ้านสองหลังของโจทก์ร่วม การที่จำเลยทั้งสองว่าจ้าง ช. รื้อผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านโดยพลการ เป็นการร่วมกันเข้าไปในบ้านทั้งสองหลังซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 และเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 364 อีกบทหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 ทั้งยังเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยอันเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 อีกบทหนึ่ง
จำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างให้ ช. ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านของจำเลยที่ 1 โดยให้รื้อฝาผนังร่วมซึ่งเป็นผนังไม้ทั้งสองด้าน คอยควบคุมดูแลการก่อสร้างอยู่ตลอด และทราบว่าการไม่ฉาบปูนผนังอิฐทางด้านบ้านของโจทก์ร่วม เป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำรั่วซึมเวลาฝนตก การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการสมคบร่วมกันกระทำการรื้อผนังอาคารร่วมทั้งสองด้านซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามมาตรา 83 หาใช่เป็นเพียงผู้ใช้ให้ ช. กระทำความผิดตามมาตรา 84 ไม่
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจก็คือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 446 กำหนดให้เรียกร้องได้เฉพาะในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายอนามัยหรือทำให้เขาเสียเสรีภาพเท่านั้น กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สิน มาตรา 446 ไม่เปิดสิทธิให้แก่ผู้ต้องเสียหายเรียกร้องเอาได้ สำหรับค่าเช่าหรือค่าเสียโอกาสใช้สอยบ้านของโจทก์ร่วมนั้น การที่ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมไม่ได้ใช้สอยบ้านทั้งสองหลัง ไม่ได้หมายความว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมจะใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย ไม่อาจใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนได้
โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำผิดฐานบุกรุกว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านพักอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข และมีคำขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 362, 364, 365 ประกอบมาตรา 83 เมื่อการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้เข้าลักษณะเป็นความผิดทั้งตามมาตรา 362 และมาตรา 364 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาปรับบทลงโทษเพียงตามมาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 จึงไม่ถูกต้องครบถ้วน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และการที่ศาลฎีกาเพียงแต่ปรับบทลงโทษโดยมิได้แก้ไขโทษให้หนักขึ้น ก็มิได้เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษอันจักเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
กรณีผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่มีนัยสำคัญบ่งชี้ว่าวิธีพิจารณาความแพ่งเช่นว่านี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่นเดียวกับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 นั่นเอง ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงอยู่ในบังคับต้องมีคำพิพากษาสั่งในเรื่องความรับผิดในชั้นที่สุดแห่งค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ประกอบมาตรา 167 เพราะแม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 คำร้องขอตามมาตรา 44/1 ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมด หรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม โดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลซึ่งค่าธรรมเนียมศาลที่ผู้นั้นได้รับยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร” และแม้คำว่า “ผู้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล” ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 เป็นบทบัญญัติต่อเนื่องมาจากหลักเกณฑ์การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีตามมาตรา 156 มาตรา 156/1 และมาตรา 157 ก็ตาม แต่ก็ต้องนำมาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้เสียหายใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนเองอันเป็นคดีส่วนแพ่ง ซึ่งมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้นด้วย ในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 335, 358, 362, 364, 365 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ลักไปเป็นเงิน 668,953.50 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางวรรณภรณ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของบ้านทั้งสองหลังเป็นค่าเช่าเดือนละ 70,000 บาท นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2551 ค่าเสื่อมราคาในกรณีที่ซ่อมแซมบ้านได้ 1,300,000 บาท หากซ่อมแซมไม่ได้ให้ชดใช้ราคา 6,500,000 บาท และหากสร้างใหม่ต้องเสียที่ดินหน้าบ้านหลังบ้าน และข้างเคียงคิดเป็นเงิน 8,000,000 บาท ค่าประเมินและแก้ไขโครงสร้างของบ้าน 4,000,000 บาท ค่ารื้อถอนเฟอร์นิเจอร์ 400,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 600,000 บาท ค่าเสียหายทางจิตใจ 500,000 บาท หากไม่สามารถซ่อมแซมบ้านได้และต้องขายขอคิดเป็นเงิน 7,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากจำนวนเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 86 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานบุกรุกตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับฟังมาซึ่งคู่ความทุกฝ่ายมิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของบ้าน 2 หลัง คือบ้านเลขที่ 5 ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และบ้านเลขที่ 9 – 10 ถนนดวงจันทร์ ตำบลเดียวกัน จำเลยทั้งสองอยู่กินกันฉันสามีภริยา จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 7 ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 ตำบลเดียวกัน ซึ่งปลูกสร้างอยู่ระหว่างบ้านของโจทก์ร่วมทั้งสองหลังดังกล่าวโดยใช้ฝาผนังทั้งสองด้านร่วมกับบ้านของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ว่าจ้างนายชยกร ให้ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านของตน โดยนายชยกรเสนอราคา หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างนายชยกรให้ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้าง หรือ ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง นายชยกรดำเนินการซ่อมแซมบ้านของจำเลยที่ 1 ทำให้บ้านเลขที่ 5 และเลขที่ 9 – 10 ของโจทก์ร่วมดังกล่าวและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมภายในบ้านได้รับความเสียหาย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่บ้านเลขที่ 7 ของจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นห้องแถวไม้ปลูกสร้างอยู่ระหว่างบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 – 10 ของโจทก์ร่วม โดยบ้านเลขที่ 7 ของจำเลยที่ 1 ใช้ฝาผนังไม้ทั้งสองด้านร่วมกับบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 – 10 ทั้งสองหลังของโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ในการว่าจ้างนายชยกรปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเลขที่ 7 ของจำเลยที่ 1 นายชยกร ซ่อมแซมบ้านไม่เรียบร้อย มีน้ำรั่วเข้าไปในบ้าน จำเลยที่ 2 พูดคุยกับนายชยกรแล้ว แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงให้ช่างผู้รับเหมาคนใหม่มีชื่อเล่นว่าไก่ ซึ่งจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ชื่อนายวีระ เข้ามาดู นายไก่หรือวีระเสนอให้จำเลยที่ 1 ฉาบปูนที่ฝาผนังทั้งสองด้านซึ่งอยู่ติดกับบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 – 10 ของโจทก์ร่วม ซึ่งแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่าได้รื้อผนังร่วมซึ่งเป็นผนังไม้แล้วก่ออิฐแทนจึงจำเป็นต้องเข้าไปฉาบปูนผนังในบ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมและเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่เบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า ประมาณปลายเดือนตุลาคม 2552 จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์มาหาโจทก์ร่วม 2 ถึง 3 ครั้ง ในครั้งแรกบอกว่า จำเลยที่ 1 ซื้อบ้านเลขที่ 7 ซึ่งอยู่ติดกับบ้านของโจทก์ร่วมทั้งสองแล้ว และได้ทำการซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอให้โจทก์ร่วมมาตรวจสอบ แต่ต่อมาอีกประมาณ 2 ถึง 3 วัน จำเลยที่ 1 โทรศัพท์มาหาโจทก์ร่วมอีกบอกว่าจะขอเข้าไปฉาบปูนแต่ไม่ได้อธิบายรายละเอียดให้ทราบ ครั้งที่ 3 จำเลยที่ 1 โทรศัพท์มายืนยันว่าจะเข้าไปฉาบปูนในบ้านโจทก์ร่วมเพราะได้ก่อผนังอิฐใหม่ เนื่องจากเมื่อฝนตกจะทำให้น้ำรั่วเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมพยายามซักถามว่า จำเลยที่ 1 จะเข้าไปฉาบปูนในบ้านของโจทก์ร่วมได้ยังไง เนื่องจากผนังร่วมเป็นไม้ จำเลยที่ 1 ไม่ยอมอธิบายรายละเอียด ครั้นวันที่ 16 ถึง 18 พฤศจิกายน 2552 โจทก์ร่วมไปตรวจสอบดูที่บ้านทั้งสองหลังของตนพบว่าผนังร่วมอาคารบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 – 10 ของตนกับบ้านเลขที่ 7 ของจำเลยที่ 1 เดิมซึ่งทำด้วยไม้ทั้งสองด้านหายไปถูกก่อสร้างใหม่เป็นผนังปูนแทนโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วมในการรื้อถอนผนังไม้ร่วม รวมทั้งไม่ได้บอกรายละเอียดในการรื้อถอนผนังร่วมให้โจทก์ร่วมทราบด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งสองนำสืบรับกันดังกล่าวว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 ซื้อบ้านเลขที่ 7 ซึ่งมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้และใช้ผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านร่วมกันกับบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 – 10 ของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยทั้งสองต้องการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารของจำเลยที่ 1 เพื่อขยายกิจการค้าขายเครื่องสำอาง จึงได้ว่าจ้างให้นายชยกรดำเนินการปรับปรุงโดยจำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างให้นายชยกรรื้อผนังอาคารไม้ซึ่งเป็นผนังร่วมทั้งสองด้านโดยพลการโดยไม่ได้ขออนุญาตจากโจทก์ร่วมหรือแจ้งการรื้อถอนผนังอาคารไม้ซึ่งเป็นผนังร่วมทั้งสองด้านให้โจทก์ร่วมทราบก่อนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันเข้าไปในบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 – 10 ทั้งสองหลังซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 364 อีกบทหนึ่งด้วย และเมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 นอกจากนี้ การที่จำเลยทั้งสองว่าจ้างให้นายชยกรปรับปรุงอาคารบ้านเลขที่ 7 ของตนด้วยการก่อสร้างเป็นผนังปูนแทนผนังร่วมไม้ทั้งสองด้านโดยต้องรื้อถอนผนังอาคารไม้เดิมซึ่งเป็นผนังร่วมกับอาคารบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 – 10 ของโจทก์ร่วมทั้งสองหลังย่อมเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 อีกบทหนึ่ง ตามฟ้องโจทก์จริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพียงพิจารณาข้อความตามใบเสนอราคาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้ใช้ให้นายชยกรกระทำความผิดตามมาตรา 84 ซึ่งแตกต่างกับฟ้องโจทก์ที่บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันกระทำผิดตามมาตรา 83 จึงลงโทษจำเลยทั้งสองฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองเบิกความยอมรับความสัมพันธ์ความเป็นสามีภริยากัน และเบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 1 ซื้อบ้านเลขที่ 7 เพราะต้องการขยายกิจการขายเครื่องสำอางและให้มารดาจำเลยที่ 1 พักอาศัย แต่บ้านที่ซื้อมามีสภาพเก่าทรุดโทรมไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ จำเลยทั้งสองไม่มีความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมบ้านจึงได้ว่าจ้างนายชยกรมาดำเนินการ แม้จำเลยทั้งสองจะพยายามบ่ายเบี่ยงเรื่องการเป็นผู้สั่งให้รื้อฝาไม้ซึ่งเป็นผนังร่วมทั้งสองด้านและอ้างว่าระหว่างก่อสร้างจำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าไปควบคุมดูแลก็ตาม แต่ตามสัญญาจ้าง ข้อ 4 ระบุการซ่อมแซมปรับปรุงตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ สถานที่รื้อถอนห้องชั้นล่าง ผนังไม้ชั้น 2 และชั้น 3 ทุบห้องน้ำชั้นล่าง ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยทั้งสองยังเบิกความตรงกันว่า นายชยกรซ่อมแซมบ้านไม่เรียบร้อย มีน้ำรั่วเข้าไปในบ้าน จำเลยทั้งสองพูดคุยกับนายชยกรแล้ว นายชยกรไม่ยอมแก้ไข จึงให้ช่างผู้รับเหมาคนใหม่ ชื่อนายวีระหรือไก่เข้ามาดู นายวีระหรือไก่เสนอให้ฉาบปูนที่ฝาผนังอิฐทั้งสองด้าน จำเลยทั้งสองจึงโทรศัพท์หาโจทก์ร่วมเพื่อขออนุญาตเข้าไปฉาบปูน แต่ตกลงกันไม่ได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างให้นายชยกรซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเลขที่ 7 ของจำเลยที่ 1 โดยให้รื้อฝาผนังร่วมซึ่งเป็นผนังไม้ทั้งสองด้าน และคอยควบคุมดูแลการก่อสร้างอยู่ตลอด จึงทราบว่าการไม่ฉาบปูนผนังอิฐทางด้านบ้านเลขที่ 5 และเลขที่ 9 – 10 ของโจทก์ร่วมเป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำรั่วซึมเวลาฝนตก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการสมคบร่วมกันกระทำการรื้อถอนผนังอาคารร่วมทั้งสองด้านซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตามมาตรา 83 หาใช่เป็นเพียงผู้ใช้ให้นายชยกรกระทำความผิดตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยไม่ ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวมทั้งฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในข้ออื่น ๆ นอกจากนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยมาถูกต้องแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่นได้ ฎีกาของโจทก์ร่วมดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยมาสอดคล้องต้องกันถูกต้องแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง เช่นกัน
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองในประเด็นค่าเสียหายนั้น เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยกำหนดค่าเสื่อมราคา ค่าประเมินและแก้ไขโครงสร้างกับค่ารื้อถอนเฟอร์นิเจอร์ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจและให้เหตุผลแห่งการวินิจฉัยถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเป็นอย่างอื่น และเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจที่โจทก์ร่วมเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ซึ่งก็คือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 กำหนดให้เรียกร้องได้เฉพาะในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยหรือทำให้เขาเสียเสรีภาพเท่านั้น กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สิน มาตรา 446 ดังกล่าวไม่เปิดสิทธิให้แก่ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนต่อจิตใจได้ จึงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่ไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ร่วม แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า ก่อนเกิดเหตุ 2 ถึง 3 ปี บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมปิดไว้ไม่มีผู้พักอาศัยเพราะโจทก์ร่วมไปดูแลบุตรอยู่ที่กรุงเทพมหานคร บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมจึงไม่ได้ให้ผู้ใดเช่าและไม่มีผู้ใดอยู่อาศัย จึงไม่กำหนดค่าเช่าหรือค่าเสียโอกาสใช้สอยบ้านให้โจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า การที่ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมไม่ได้ใช้สอยบ้านทั้งสองหลัง ไม่ได้หมายความว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมจะใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ร่วมเสียหายไม่อาจใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนได้ โจทก์ร่วมจึงชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่ตนได้ โดยโจทก์ร่วมเรียกร้องเท่ากับค่าเช่าบ้านทั้งสองหลังที่โจทก์ร่วมอาจให้เช่าได้ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 70,000 บาท นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2551 ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อโจทก์ร่วมเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับชดใช้ทรัพย์สินตามคำพิพากษาเสร็จ ซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาทำเลที่ตั้งของบ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมที่โจทก์ร่วมระบุในคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าอยู่ในทำเลดี เพราะตั้งอยู่ตรงหัวมุมหน้าตลาดกิมหยงติดถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 และถนนดวงจันทร์ ตรงบริเวณสี่แยกชุมชน สามารถทำการค้าขายหรือทำธุรกิจได้ดี เป็นถิ่นการค้าขายที่มีชื่อเสียงสำคัญของอำเภอหาดใหญ่แล้ว เห็นว่า ทำเลที่ตั้งของบ้านโจทก์ร่วมทั้งสองหลังดังกล่าวเมื่อพิจารณาประกอบคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ซื้อบ้านเลขที่ 7 ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 – 10 ทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมมาในราคาสูงถึง 6,300,000 บาท จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า โจทก์ร่วมอาจให้เช่าบ้านของโจทก์ร่วมทั้งสองหลังในอัตราค่าเช่าเดือนละไม่น้อยกว่า 70,000 บาท จริง แต่ที่โจทก์ร่วมเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ร่วมจะได้รับชดใช้ทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองมิได้ทำลายบ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมจนเสียหายใช้การไม่ได้ จำเลยทั้งสองเพียงแต่รื้อถอนผนังร่วมซึ่งเป็นผนังไม้ แล้วก่ออิฐทำเป็นผนังปูนแทน หากโจทก์ร่วมประสงค์จะใช้ประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังโดยให้บุคคลอื่นเช่า โจทก์ร่วมก็เพียงแต่ใช้เวลาในการซ่อมแซมบ้านทั้งสองหลังให้อยู่ในสภาพดี พร้อมที่จะให้เช่าได้ ก็นำออกให้เช่าหาประโยชน์ได้แล้ว หาได้มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการฟ้องร้องต่อสู้คดีจนกว่าจะได้รับชดใช้ทรัพย์สินตามคำพิพากษาไม่ แต่โจทก์ร่วมก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์ร่วมจะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงบ้านทั้งสองหลังนานเท่าใดจึงจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะให้เช่าได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดระยะเวลาในการซ่อมแซมบ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วม เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้สอยหาประโยชน์ รวม 3 เดือน เป็นค่าเสียหายส่วนนี้ 210,000 บาท เมื่อรวมกับค่าเสื่อมราคา ค่าประเมินและแก้ไขโครงสร้างและค่ารื้อถอนเฟอร์นิเจอร์ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้แก่โจทก์ร่วม จำนวน 300,000 บาท แล้ว เป็นค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชดใช้แก่โจทก์ร่วมทั้งสิ้น 510,000 บาท ฎีกาของโจทก์ร่วมในประเด็นค่าเสียหายฟังขึ้นบางส่วน แต่ฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับข้อหาความผิดฐานบุกรุกนั้น โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านพักอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควรและเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข และมีคำขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364, 365 ประกอบมาตรา 83 เมื่อการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้ดังที่ได้วินิจฉัยมาเข้าลักษณะเป็นความผิดทั้งตามมาตรา 362 และมาตรา 364 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองเพียงตามมาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 จึงไม่ถูกต้องครบถ้วน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และการที่ศาลฎีกาเพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองโดยมิได้แก้ไขโทษให้หนักขึ้นนั้น ก็มิได้เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษอันจักเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 บัญญัติว่า ในคดีที่มีคำขอของผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมิให้เรียกค่าธรรมเนียม จึงไม่มีค่าธรรมเนียมที่ศาลต้องสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนแพ่งเป็นพับจึงไม่ถูกต้องและพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับมานั้น เห็นว่า กรณีผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติว่า “…และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น…” อันเป็นบทบัญญัติที่มีนัยสำคัญบ่งชี้ว่าวิธีพิจารณาคดีส่วนแพ่งเช่นว่านี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่นเดียวกับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 นั่นเอง ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงอยู่ในบังคับต้องมีคำพิพากษาสั่งในเรื่องความรับผิดในชั้นที่สุดแห่งค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ประกอบมาตรา 167 ทั้งนี้ เพราะแม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 คำร้องขอตามมาตรา 44/1 ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม โดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ชำระต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลซึ่งค่าธรรมเนียมศาลที่ผู้นั้นได้รับยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร” และแม้ว่าคำว่า “ผู้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาล” ตามมาตรา 158 ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติต่อเนื่องมาจากหลักเกณฑ์การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 156 มาตรา 156/1 และมาตรา 157 ก็ตาม แต่ก็ต้องนำมาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้เสียหายใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนเองอันเป็นคดีส่วนแพ่ง ซึ่งมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้นด้วย ในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 ประกอบมาตรา 83 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 510,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share