แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชี มีหน้าที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนของพนักงาน ได้ดำเนินการให้โจทก์ร่วมโอนเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากของตนเองและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้โอกาสที่ตนเองเป็นผู้จัดทำบัญชีเงินเดือนของพนักงานทำการแสวงหาประโยชน์ด้วยการปรับแต่งบัญชีเงินเดือนของพนักงาน เพิ่มเงินเดือนให้แก่ตนเองให้มีอัตราสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยได้รับเงินจากโจทก์ร่วมไปเป็นเงินทั้งสิ้น 466,500 บาท และจำเลยยังได้ปรับแต่งข้อมูลอัตราเงินเดือนของ ส. ให้สูงขึ้น เป็นเหตุให้ ส. ได้รับเงินเกินไปกว่าเงินเดือนที่แท้จริงจำนวน 96,000 บาท แต่เมื่อ ส. นำเงินส่วนที่ได้รับเกินมาดังกล่าวไปคืนให้แก่จำเลย จำเลยก็นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยลักเงินของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างโดยใช้กลอุบายปรับแต่งบัญชีเงินเดือนให้โจทก์ร่วมนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับ แล้วจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 335 กับให้จำเลยคืนเงิน 562,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทยูนิค อินเตอร์เนชั่นแนล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา และโจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายสมบูรณ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมและนายกุลบัณฑิต เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนโจทก์ร่วมได้ ในขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นพนักงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม มีหน้าที่จัดทำข้อมูลเงินเดือนพนักงานเสนอให้กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ร่วมพิจารณาอนุมัติเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมที่เปิดไว้กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเทียมร่วมมิตร บัญชีเลขที่ 733-2-30333-8 เพื่อโอนจ่ายเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากของพนักงานแต่ละคน โดยจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนของพนักงานโจทก์ร่วมลงในแผ่นซีดีและส่งให้แก่ธนาคารดำเนินการจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงาน บัญชีเงินฝากของจำเลยเลขที่ 733-2-30311-7 อัตราเงินเดือนของจำเลยหลังหักภาษี เงินประกันสังคม และเงินสะสมในเดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนมกราคม 2551 เป็นเงิน 29,950 บาท และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 ถึงเดือนตุลาคม 2551 เป็นเงิน 32,750 บาท นายสุลตอน เป็นพนักงานรับส่งเอกสารของโจทก์ร่วม มีบัญชีเงินฝากเลขที่ 733-2-30289-7 อัตราเงินเดือนของนายสุลตอนหลังหักเงินประกันสังคมและเงินสะสมคงเหลือ 9,800 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า นายสมบูรณ์กับจำเลยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ประกอบกับเหตุที่มีการแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยสืบเนื่องมาจากนายสมบูรณ์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์ร่วมที่มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการคนอื่นอีกหนึ่งคนในหนังสือถึงธนาคารอนุมัติให้หักเงินในบัญชีเพื่อจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานของโจทก์ร่วม ได้ตรวจพบความผิดปกติของบัญชีที่มีการขึ้นลงทางตัวเลขเป็นยอดที่สูง จึงตรวจสอบ พบว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเลยทำหนังสือยอมรับผิดเป็นเงินทั้งสิ้น 497,000 บาท อีกทั้งโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีบัญชีรายการเงินเดือนและการเคลื่อนไหวทางบัญชี มาแสดงให้เห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีมีหน้าที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนของพนักงานได้ดำเนินการให้โจทก์ร่วมโอนเงินเดือนเข้าบัญชีของตนเองและนายสุลตอนเกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับจริง ดังนี้ จึงเชื่อว่านายสมบูรณ์เบิกความไปตามความเป็นจริง ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำให้จำเลยได้รับโทษ นอกจากนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนายสุลตอนมาเบิกความสนับสนุนว่า พยานเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม เมื่อปี 2550 พยานได้รับเงินเดือนหลังจากหักเงินประกันสังคมและหักเงินสะสมแล้วเหลือเพียง 9,800 บาท และในปี 2551 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม พยานได้รับเงินเดือนเท่าเดิม แต่ตามบัญชีรายการเงินเดือนและการเคลื่อนไหวทางบัญชี ปรากฏว่าระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม 2551 พยานมีเงินเดือนเข้าบัญชีเพิ่มขึ้นแต่มิใช่เงินเดือนที่แท้จริง เหตุที่มีเงินเพิ่มเนื่องจากพยานต้องการทำบัตรเครดิตเพื่อนำเงินไปต่อเติมบ้าน จึงไปขอให้จำเลยเพิ่มเงินเดือนไว้ที่หน้าบัญชี โดยในแต่ละเดือนพยานจะนำเงินของตนเองฝากเข้าบัญชีผ่านจำเลยหรือหากเดือนใดไม่มีเงิน พยานจะยืมเงินจำเลยฝากเข้าบัญชีไปก่อน เมื่อเงินเดือนออกพยานจะนำเงินประมาณ 12,000 บาท ไปคืนจำเลยทุกเดือนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม 2551 เห็นว่า คำเบิกความของนายสุลตอนเกี่ยวกับเงินเดือนของตนเองที่ได้รับในแต่ละเดือนหลังจากหักเงินประกันสังคมและหักเงินสะสมซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนเงินที่นายสุลตอนนำไปชำระคืนให้แก่จำเลยในแต่ละเดือนแล้ว ปรากฏว่ามีจำนวนใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่โอนเข้าบัญชีเงินเดือนของนายสุลตอนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม 2551 ตามบัญชีรายการเงินเดือนและการเคลื่อนไหวทางบัญชี แม้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้อ้างรายการโอนเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากของนายสุลตอนในเดือนพฤศจิกายนกับเดือนธันวาคม 2551 เป็นหลักฐาน แต่คำเบิกความของนายสุลตอนก็สอดคล้องกับเอกสารดังกล่าวแผ่นที่ 4 ซึ่งสรุปให้เห็นส่วนต่างของเงินเดือนที่นายสุลตอนได้รับเกินไปนับแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม 2551 เป็นเงิน 96,000 บาท เมื่อไม่ปรากฏว่านายสุลตอนเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน และคำเบิกความก็ไม่มีข้อพิรุธน่าสงสัย เชื่อว่านายสุลตอนเบิกความไปตามความเป็นจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้โอกาสที่ตนเองเป็นผู้จัดทำบัญชีเงินเดือนของพนักงานทำการแสวงหาประโยชน์ด้วยการปรับแต่งบัญชีเงินเดือนของพนักงานเพิ่มเงินเดือนให้แก่ตนเองให้มีอัตราสูงกว่าความเป็นจริง จึงทำให้จำเลยได้รับเงินจากโจทก์ร่วมไปเป็นเงินทั้งสิ้น 466,500 บาท และจำเลยยังได้ปรับแต่งข้อมูลอัตราเงินเดือนของนายสุลตอนให้สูงขึ้น เป็นเหตุให้นายสุลตอนได้รับเงินเกินไปกว่าเงินเดือนที่แท้จริงจำนวน 96,000 บาท แต่เมื่อนายสุลตอนนำเงินส่วนที่ได้รับเกินมาดังกล่าวไปคืนให้แก่จำเลย จำเลยก็นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม แม้จำนวนเงินที่จำเลยทำบันทึกยอมรับผิดจำนวน 497,000 บาท ไม่ตรงกับจำนวนเงินตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่าจำเลยเอาไปจำนวน 562,500 บาท ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย ก็ตามแต่ตามบันทึก จำเลยก็ได้เขียนขึ้นด้วยลายมือของจำเลยเอง โดยยอมรับผิดใช้เงินให้แก่โจทก์ร่วม ส่วนที่จำนวนเงินไม่ตรงกันก็น่าจะมีสาเหตุมาจากในขณะที่จำเลยเขียนบันทึกวันที่ 12 ธันวาคม 2551 โจทก์ร่วมยังไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย จึงยังไม่ทราบยอดเงินที่แน่นอน แต่เมื่อมีการแจ้งความแล้ว พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด จึงมีการคำนวณยอดเงินที่จำเลยลักไปเป็นจำนวนเงินตามฟ้อง การที่จำนวนเงินแตกต่างกันดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อพิรุธ ที่จำเลยเบิกความต่อสู้ว่า ปี 2549 จำเลยได้รับเงินเดือนประมาณ 30,000 บาท จำเลยมีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อซื้อบ้าน จึงมีการปรับแต่งรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีให้มีเงินเข้าในแต่ละเดือนเพียงพอที่จะผ่อนชำระเงินกู้โดยจำเลยนำเงินส่วนตัวโอนเข้าบัญชีหลักของโจทก์ร่วม จากนั้นโอนเงินดังกล่าวจากบัญชีหลักเข้ามายังบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อจ่ายเข้าบัญชีของจำเลยนั้น จำเลยคงเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานการฝากเงินเข้าบัญชีหลักของโจทก์ร่วมมาแสดงว่าจำเลยได้ดำเนินการตามที่จำเลยอ้างจริงหรือไม่ ทั้งจำเลยยังเบิกความตอบคำถามค้านโจทก์ว่า หลังจากจำเลยปรับแต่งรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีเพื่อขอกู้เงินซื้อบ้านแล้ว จำเลยได้ซื้อบ้าน แต่จำเลยก็ไม่มีหลักฐานการซื้อบ้านมาแสดง ที่จำเลยอ้างว่า ได้แจ้งการปรับแต่งบัญชีดังกล่าวให้กรรมการโจทก์ร่วมทั้งสามคนทราบแล้วก็ดี หรือพนักงานบริษัทโจทก์ร่วมก็กระทำลักษณะเดียวกันกับจำเลยโดยกรรมการโจทก์ร่วมไม่เคยโต้แย้งก็ดี ปรากฏว่าขณะที่นายสมบูรณ์ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ร่วมมาเบิกความต่อศาล จำเลยก็มิได้ถามค้านพยานในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้อธิบายว่าความจริงเป็นเช่นที่จำเลยอ้างหรือไม่อย่างไร เพื่อสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยให้น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ทั้งกรณีไม่น่าเชื่อว่ากรรมการโจทก์ร่วมจะยินยอมให้จำเลยหรือพนักงานคนใดกระทำในเรื่องที่ผิดปกติวิสัยดังที่จำเลยอ้างอีกด้วย ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ก่อนที่จำเลยจะออกจากบริษัทโจทก์ร่วม จำเลยมีหน้าที่ต้องดูแลการโอนเงินระหว่างโจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีบริษัทยูไอเอฟ มารีน เอเยนซี่ จำกัด ซึ่งนายปราชญ์ เป็นกรรมการ แต่บางครั้งได้รับคำสั่งให้โอนเงินเข้าบัญชีนายปราชญ์โดยตรง การโอนเงินดังกล่าวจำเลยจะส่งเอกสารไปให้นายปราชญ์ลงลายมือชื่ออนุมัติ แต่ต่อมาจำเลยทราบว่าไม่มีบันทึกหลักฐานการโอนเงินจากโจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีบริษัทยูไอเอฟ มารีน เอเยนซี่ จำกัด จำนวนเงินที่ไม่มีการลงบันทึกหลักฐานการโอนเงินรวมทั้งสิ้น 497,000 บาท ซึ่งกรรมการโจทก์ร่วมให้จำเลยเขียนบันทึกรับผิดชอบจำนวนเงินดังกล่าว ขณะนั้นมีนายสมบูรณ์ นายกุลบัณฑิต และนายวันชัย ซึ่งเป็นทนายความฟังอยู่ด้วยนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยทราบในภายหลังว่าไม่มีบันทึกหลักฐานการโอนเงินจากโจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีบริษัทยูไอเอฟ มารีน เอเยนซี่ จำกัด แต่จำเลยก็ไม่ได้ถามค้านนายสมบูรณ์เกี่ยวกับข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวหรือนำนายกุลบัณฑิต และนายวันชัย ที่จำเลยอ้างว่ารู้เห็นเหตุการณ์ในขณะที่จำเลยทำบันทึก มาเบิกความสนับสนุนข้ออ้างของจำเลย และที่จำเลยอ้างว่า ก่อนจำเลยทำบันทึก นายสมบูรณ์และนายกุลบัณฑิต ให้จำเลยไปเขียนรายงานเกี่ยวกับเงินส่วนต่างที่ไม่มีการลงบันทึกไว้ว่าเป็นความผิดพลาดจากการทำงานของจำเลย จำเลยจึงได้ทำบันทึกโดยระบุถึงเงินส่วนต่างดังกล่าวตามบันทึก ก็ปรากฏว่าบันทึกดังกล่าวไม่ได้ลงวันที่ ซึ่งแตกต่างจากบันทึก ที่ลงวันที่ทำบันทึกคือวันที่ 12 ธันวาคม 2551 และระบุว่าจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี แสดงว่าขณะนั้นจำเลยยังทำงานอยู่ที่บริษัทโจทก์ร่วม แต่บันทึกเอกสาร ระบุว่าจำเลยเป็นอดีตพนักงานของบริษัทโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยเบิกความว่า แต่กลับระบุว่าจำเลยเป็นอดีตพนักงานโจทก์ร่วมจึงเป็นข้อพิรุธและฟังไม่ได้ว่าเอกสารดังกล่าวจำเลยทำขึ้นก่อน ดังที่จำเลยอ้าง อีกทั้งในวันที่จำเลยไปให้การต่อพนักงานสอบสวน จำเลยก็ไม่นำไปยื่นเป็นหลักฐานและไม่ได้ให้การถึงเอกสารดังกล่าวด้วย เชื่อว่าจำเลยทำบันทึก ขึ้นในภายหลัง เพื่อใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า เงินที่กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมให้จำเลยรับผิดชอบคือเงินที่จำเลยโอนเข้าบัญชีของบริษัทยูไอเอฟ มารีน เอเยนซี่ จำกัด แต่ไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้เพื่อนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อเบี่ยงเบนกลบเกลื่อนความผิดที่ตนเองได้กระทำไว้เท่านั้น ดังนี้ พยานหลักฐานจำเลยที่นำสืบมาจึงมีข้อพิรุธน่าสงสัย ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้มั่นคงว่า จำเลยลักเงินของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างโดยใช้กลอุบายปรับแต่งบัญชีเงินเดือนให้โจทก์ร่วมนำเงินฝากเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเทียมร่วมมิตร บัญชีเลขที่ 733-2-30311-7 ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากของจำเลย เกินกว่าจำนวนเงินเดือนที่จำเลยมีสิทธิได้รับในแต่ละเดือน รวม 12 ครั้ง เป็นเงิน 466,500 บาท และนำเงินฝากเข้าบัญชีเลขที่ 733-2-30289-7 ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากของนายสุลตอน เกินกว่าจำนวนเงินเดือนที่นายสุลตอนมีสิทธิได้รับในแต่ละเดือน รวม 8 ครั้ง เป็นเงิน 96,000 บาท แล้วจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตน รวมเป็นเงิน 562,500 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดรวม 20 กรรม แยกเป็นการกระทำความผิดในส่วนที่จำเลยปรับแต่งบัญชีให้มีการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2550 ถึงเดือนตุลาคม 2551 รวม 12 กรรม และปรับแต่งบัญชีให้มีการโอนเงินเข้าบัญชีของนายสุลตอนในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2551 รวม 8 กรรม แล้วจำเลยเอาเงินทั้งสองส่วนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการกระทำความผิดของจำเลยระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม 2551 ทั้งในส่วนที่โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยและในส่วนที่โอนเงินเข้าบัญชีของนายสุลตอนนั้น จำเลยได้จัดทำบันทึกข้อมูลให้มีการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยและนายสุลตอนในแต่ละเดือนคราวเดียวกัน โดยจำเลยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการลักเงินของโจทก์ร่วมในเดือนนั้น ๆ เท่านั้น การกระทำของจำเลยในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม 2551 จึงเป็นการกระทำความผิดสำเร็จในแต่ละเดือนเพียงกรรมเดียว รวมเป็น 6 กรรม เท่านั้น เมื่อนับรวมกับการกระทำผิดของจำเลยในเดือนพฤศจิกายน 2550 ถึงเดือนเมษายน 2551 และเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม 2551 อีก 8 กรรม ตามฟ้องแล้วรวมเป็น 14 กรรม
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 14 กระทง เป็นจำคุก 112 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 562,500 บาท แก่โจทก์ร่วม