แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ลักษณะ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำเลยแก่โจทก์ลูกจ้างของจำเลยซึ่งครบเกษียณอายุ ไม่อาจแปลปรับเข้าด้วยกันกับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และ ข้อ 47 ต้องนับว่าเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างดังที่ระบุไว้ในบทนิยามคำว่า “ค่าชดเชย” แม้ข้อบังคับจะกำหนดให้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชย ก็หามีผลแต่อย่างใดไม่
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า กรณีแห่งคดีนี้จะถือได้หรือไม่ว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แล้วโดยรวมอยู่ในจำนวนเงินซึ่งเรียกว่า “เงินบำเหน็จ” ศาลฎีกาได้พิจารณาข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2521 ซึงให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2519 แล้วข้อ 11 ของข้อบังคับดังกล่าวนี้ วรรคแรกมีความว่า “การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ ให้ถือเป็นการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน” วรรคสองมีความว่า “ในกรณีเงินบำเหน็จที่จ่ายตามข้อบังคับนี้มีจำนวนน้อยกว่าเงินชดเชยที่ผู้ปฏิบัติงานหรือทายาทมีสิทธิจะได้ตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานให้ธนาคารจ่ายเพิ่มให้จนครบจำนวนเท่ากับเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน” แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงบทนิยามของคำว่า “เงินบำเหน็จ”ในข้อ 1 ผู้ที่จะได้รับเงินบำเหน็จในข้อ 7 และผู้ที่ไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จในข้อ 9 และข้อ 10 แล้ว จะเห็นได้ว่า ลักษณะ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จนี้ไม่อาจแปลปรับเข้าด้วยกันกับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และข้อ 47 ต้องนับว่าเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างดังที่ระบุไว้ในบทนิยามคำว่า “ค่าชดเชย” เมื่อการจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยนั้นไม่ประกอบด้วยลักษณะและหลักเกณฑ์ของการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเสียแล้ว แม้จำเลยจะกำหนดไว้ในข้อบังคับว่าให้ถือเป็นการจ่ายค่าชดเชยดังความในวรรคแรกของข้อ 11 นั้นก็หามีผลแต่อย่างใดไม่ ส่วนข้อความในวรรคสองนั้นระบุแต่กรณีที่เงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชย คือ ค่าชดเชยมีจำนวนสูงกว่าเงินบำเหน็จเพียงกรณีเดียวปล่อยให้กรณีที่ไม่มีสิทธิได้เงินบำเหน็จ หรือจำนวนเงินบำเหน็จสูงกว่าค่าชดเชยให้เป็นปัญหา จำเลยมีทางแปลข้อบังคับข้อ 11 นี้ว่า การจ่ายเงินตามข้อบังคับนี้ถือเอาเงินบำเหน็จเป็นหลัก ส่วนค่าชดเชยนั้นเป็นแต่เงินประเภทซึ่งนำมาอิงกับเงินบำเหน็จ ดังนั้น ในกรณีที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจำเลยก็จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้โดยอ้างว่าข้อบังคับไม่ได้กำหนดให้จ่าย ในกรณีที่จำนวนเงินบำเหน็จที่พึงได้รับสูงกว่าจำนวนค่าชดเชยดังกรณีแห่งคดีนี้ จำเลยก็จะจ่ายแต่เงินบำเหน็จและถือได้ว่าได้จ่ายค่าชดเชยรวมไปด้วยแล้วโดยอาศัยข้อความในวรรคแรก ส่วนกรณีตามความในวรรคสองคือจำนวนค่าชดเชยสูงกว่าจำนวนเงินบำเหน็จซึ่งจำเลยจะต้องจ่ายเงินให้เท่ากับจำนวนค่าชดเชยนั้น ก็ถือได้ว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้เป็นจำนวนเท่ากับผลต่างของค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จเท่านั้น ใช่ว่าจะได้จ่ายค่าชดเชยครบถ้วนตามกฎหมายก็หาไม่ หลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับว่าด้วยเงินบำเหน็จของจำเลยนั้นไม่อาจถือได้ว่าจะต้องมีการจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายบังคับเสมอไป เงินที่จำเลยได้จ่ายให้โจทก์ไปแล้วโดยเรียกชื่อว่าเงินบำเหน็จนั้นไม่อาจถือได้ว่าจ่ายค่าชดเชยรวมไปด้วยแล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่ยกฟ้องโจทก์
พิพากษากลับ เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นเงิน54,480 บาท”