คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1474/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า ‘นายวิวัฒน์ฯ (โจทก์) มีความประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับนายโสภณฯ (จำเลย) ในทางคดีอาญา จึงมอบอำนาจให้ผู้แจ้งมาแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป แต่ในชั้นนี้ขอรับเช็คคืนไปก่อน’ นั้น แสดงให้เห็นว่าขณะที่แจ้งความผู้แจ้งยังมิได้มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าคำแจ้งความดังกล่าวเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณา

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน2521 เวลากลางวัน จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขายศเสหมายเลข 976816 ลงวันที่ 12 กันยายน 2521 จำนวนเงิน 35,000 บาทเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาสวนมะลิ หมายเลข 2026888กับหมายเลข 2026889 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2521 จำนวนเงิน 9,000 บาทและ 25,000 บาท ตามลำดับ มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ วันที่ 7 พฤศจิกายน2521 เวลากลางวันโจทก์นำเช็คทั้งสามฉบับไปเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารมหานครจำกัด สาขายานนาวาเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค ธนาคารตามเช็คทั้งสามฉบับปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าบัญชีปิดแล้ว ทั้งนี้โดยจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้โดยเจตนาทุจริต

สำนวนหลังโจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า เมื่อประมาณวันที่ 15 สิงหาคม2521 เวลากลางวัน จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขายศเสหมายเลข 135064 ลงวันที่ 6 มกราคม 2522 จำนวนเงิน 104,000 บาทมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2522 เวลากลางวัน โจทก์นำไปเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารมหานคร จำกัด สาขายานนาวาเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าบัญชีปิดแล้ว ทั้งนี้โดยจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้โดยเจตนาทุจริต

ทั้งสองสำนวนเหตุเกิดที่แขวงเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและแขวงยานนาวา เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้องทั้งสองสำนวน

จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้เรียงกระทงลงโทษสำนวนแรกให้จำคุกสองกระทงกระทงละ 4 เดือน รวม 8 เดือนสำนวนหลังจำคุก 11 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 7 เดือน

จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวนโดยนายชัยวัฒน์ ดุลยปวีณ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เฉพาะเช็คพิพาท 3 ฉบับตามฟ้อง โจทก์สำนวนแรกเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายศรีสวัสดิ์ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า “นายวิวัฒน์ฯ (โจทก์)มีความประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับนายโสภณฯ(จำเลย) ในทางคดีอาญา จึงมอบอำนาจให้ผู้แจ้งมาแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป แต่ในชั้นนี้ขอรับเช็คคืนไปก่อน” นั้นเห็นว่าการที่นายศรีสวัสดิ์ไปแจ้งความแล้วก็ขอรับเช็คพิพาทคืนไปทันทีโดยมิได้มอบเช็คพิพาทให้พนักงานสอบสวนเอาไว้ใช้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับจำเลย และต่อมาโจทก์ก็มาฟ้องคดีเองโดยไม่ปรากฏว่าได้เอาเช็คพิพาทไปมอบให้พนักงานสอบสวนอีกเลยนั้น แสดงให้เห็นว่าขณะที่แจ้งความผู้แจ้งยังมิได้มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยแต่อย่างใด ทั้งพนักงานสอบสวนก็ได้บันทึกไว้ด้วยว่าเป็นการแจ้งไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าคำแจ้งความดังกล่าวเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยกระทำความผิดในวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนั้นแล้ว คดีเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์เสียหายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดและเพิ่งมาฟ้องจำเลยในวันที่ 26 กุมภาพันธ์2522 คดีจึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6)

สำหรับเช็คตามฟ้องโจทก์สำนวนหลัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบัญชีของจำเลยถูกปิดแล้ว การที่จำเลยมาออกเช็คสั่งจ่ายเงินตามเช็คพิพาทอีกจำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนแรก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share