คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตต่อธนาคารโจทก์เพื่อส่งสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศ โจทก์เปิดให้ตามคำขอผู้ขายส่งสินค้ามาให้โจทก์ชำระราคาสินค้าให้แก่ผู้ขายไปแล้ว เมื่อสินค้ามาถึงโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบเพื่อให้นำเงินมาชำระหนี้ จำเลยไม่มีเงินพอ และตามข้อตกลงในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต สินค้าตกอยู่ในความยึดถือของโจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยจึงทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้แก่โจทก์เพื่อขอรับเอาเอกสารการส่งสินค้าไปเอาสินค้าออกจากท่าเรือแล้วนำสินค้าไปจำหน่ายและนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ดังนี้การทำสัญญาทรัสต์รีซีทเป็นเพียงวิธีการผ่อนปรนของเจ้าหนี้ให้ลูกหนี้มีโอกาสนำสินค้าที่สั่งซื้อมาด้วยการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตออกจากท่าเรือไปขายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตเท่านั้น สัญญาทรัสต์รีซีทเป็นสัญญาซื้อต่อเนื่องกับสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตมิได้ทำให้หนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตระงับสิ้นไปได้ในตัว
จำเลยได้รับสำเนาสัญญาทรัสต์รีซีทท้ายฟ้องพร้อมด้วยคำแปลถ้าเห็นว่าโจทก์แปลคำว่า “การันตี” ว่า “ค้ำประกัน” ไม่ถูกต้อง จำเลย จะต้องปฏิเสธความถูกต้องแห่งคำแปลนั้น เมื่อตามคำให้การของจำเลย มิได้กล่าวอ้างว่าโจทก์แปลผิด ก็ไม่น่าเชื่อว่าคำแปลที่ถูกต้องจะไม่ใช่”ค้ำประกัน”
เมื่อจำเลยแสดงเจตนาไว้ในสัญญาว่า “ค้ำประกัน” ผู้ค้ำประกันจะมีหน้าที่อย่างใดต่อเจ้าหนี้ย่อมทราบได้จากบทนิยามของคำว่า”ค้ำประกัน” ในมาตรา 680 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นอยู่แล้วแม้จะไม่ได้กล่าวไว้ให้ชัดลงไปว่ายอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ก็ไม่เป็นเหตุให้การค้ำประกันนั้นไร้ผล
ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายให้จำเลยใช้แทนโจทก์เพียง 8,000 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายให้จำเลยใช้แทนโจทก์ถึง 20,000 บาท ดังนี้เมื่อได้พิจารณาถึงจำนวนทุนทรัพย์ ความยากง่ายแห่งการดำเนินคดีตลอดถึงงานที่ทนายโจทก์กระทำไปแล้ว ศาลฎีกาลดค่าทนายโจทก์ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งจำเลยจะต้องใช้แทนลงบ้างได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตต่อธนาคารโจทก์ขอให้โจทก์สั่งสาขาของโจทก์ในต่างประเทศแจ้งว่าจำเลยที่ 1 สั่งสินค้าจากผู้ขายโดยมีข้อตกลงในเรื่องเงินราคาสินค้าว่า เมื่อผู้ขายได้ส่งสินค้าลงเรือแล้ว ให้เรียกเก็บค่าสินค้าจากสาขาของโจทก์ได้โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชดใช้เงินคืนแก่ธนาคารตามประเพณีการขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตของธนาคารพาณิชย์ และจำเลยที่ 1 ตกลงด้วยว่ายอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ผู้ขายสินค้าได้เรียกเก็บค่าสินค้าจากสาขาของโจทก์ไปจนถึงวันชำระหนี้ ตลอดจนยินยอมใช้ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับเครดิตรายนี้ โจทก์รับเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้จำเลยที่ 1 คือเลขที่ 161181/3024 และ 171181/143 ต่อมาผู้ขายได้ส่งสินค้าที่สั่งตามเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวนั้น และโจทก์ได้จ่ายค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว เมื่อสินค้าถูกส่งมาถึงท่าเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินซึ่งโจทก์ได้จ่ายแทนไปนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินพอจะชำระให้ จำเลยที่ 1 จึงขอรับเอกสารการสั่งสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตไปเพื่อขอออกสินค้าจากท่าเรือเสียก่อนโดยทำสัญญาทรัสต์รีซีทให้ไว้แก่โจทก์ 2 ฉบับ ขอรับเอกสารในการสั่งสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ 161181/3024 และเลขที่ 171181/143 สัญญาว่าจะชำระหนี้ค่าสินค้าคืนให้โจทก์ภายในวันที่ 27 สิงหาคม 2517และภายในวันที่ 22 กันยายน 2517 ทรัสต์รีซีทดังกล่าวมีใจความว่า โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 นำสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่สั่งเข้ามาตามรายการสินค้าในสัญญาทรัสต์รีซีทนั้นไปจากท่าเรือ เป็นการรับไปก่อนโดยจำเลยที่ 1 รับว่าสินค้าดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ และสัญญาว่าจะขายสินค้าเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ได้รับหลักฐานไปจากโจทก์เพื่อรับสินค้าในวันทำสัญญาทรัสต์รีซีทแล้ว จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ได้เข้าค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาทรัสต์รีซีทต่อโจทก์ เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทครบกำหนดจำเลยที่ 1 ผิดสัญญามิได้ชำระราคาสินค้าคืนให้โจทก์ โจทก์ได้เรียกเก็บเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 2 ฉบับ เป็นเงิน 1,227,098.76 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามให้ชำระหนี้แล้ว จำเลยทั้งสามจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ร้อยละสิบสองต่อปีจากต้นเงิน 1,029,078.26 บาท นับแต่วันถัดจากวันเรียกเก็บจนถึงวันฟ้องรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,415,546.89 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,415,546.89 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบสองต่อปีในต้นเงิน 1,029,078.26 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจริงแต่หนี้ดังกล่าวได้ระงับลงโดยการแปลงหนี้ใหม่โดยจำเลยที่ 1 เปลี่ยนมาเป็นลูกหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแล้ว โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตหาได้ไม่ เนื่องจากสัญญาทรัสต์รีซีทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ย โจทก์จึงฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่เคยให้สัญญาว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2จะชำระแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันสัญญาทรัสต์รีซีทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ย โจทก์จึงฟ้องเรียกดอกเบี้ยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามตามคำขอเลตเตอร์ออฟเครดิตระงับสิ้นไปแล้ว เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงเลิกสัญญาดังกล่าว และโจทก์คืนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้ยึดไว้เป็นประกันแล้ว จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการที่จะต้องชำระหนี้ตามทรัสต์รีซีท โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,223,715.46 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบสองต่อปีของต้นเงิน 1,029,078.26 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่โจทก์เรียกเก็บจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 20,000 บาท

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ท้ายสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 2 ฉบับ มีข้อความภาษาอังกฤษเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งโจทก์แปลไว้ว่า “เราร่วมกันค้ำประกันต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัดว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด จะได้รับชำระเงินตามตั๋วแลกเงินฉบับเดียวหรือทุกฉบับดังกล่าวแล้วข้างต้นในทันทีที่ตั๋วแลกเงินเหล่านั้นถึงกำหนดชำระ และค้ำประกันว่าเงื่อนไขและข้อผูกพันดังที่แจ้งไว้ในสัญญานี้จะได้รับการปฏิบัติโดยถูกต้องครบถ้วนทุกประการ” ถัดลงไปเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่าได้ลงนามไว้ในฐานะผู้รับรองเท่านั้น คือรับรองว่าโจทก์จะได้รับการชำระหนี้และจำเลยที่ 1 จะปฏิบัติตามเงื่อนไขตลอดจนข้อผูกพันต่าง ๆ เท่านั้น เพราะคำว่า”การันตี” ในภาษาอังกฤษแปลว่า “ค้ำประกัน” ก็ได้ หรือจะแปลว่า “รับรอง” ก็ได้ เห็นว่า จำเลยได้รับสำเนาคำฟ้องและสำเนาเอกสารต่าง ๆ ท้ายฟ้องรวมทั้งสำเนาสัญญาทรัสต์รีซีทพร้อมด้วยคำแปลถ้าจำเลยเห็นว่าโจทก์แปลคำว่า “การันตี”ไม่ถูกต้อง จำเลยก็น่าที่จะปฏิเสธความถูกต้องแห่งคำแปลนั้นมาแต่ต้น เมื่อตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้กล่าวอ้างเลยว่าโจทก์แปลผิด จึงไม่น่าเชื่อว่าคำแปลที่ถูกต้องจะไม่ใช่ “ค้ำประกัน” เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 แสดงไว้ในสัญญาว่า”ค้ำประกัน” ผู้ค้ำประกันจะมีหน้าที่อย่างใดต่อเจ้าหนี้นั้นย่อมทราบได้จากบทนิยามคำว่า “ค้ำประกัน” ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 อยู่แล้ว แม้จะไม่ได้กล่าวไว้ให้ชัดลงไปว่า ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ ก็ไม่เป็นเหตุให้การค้ำประกันนั้นไร้ผล

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่าหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตได้ระงับไปแล้วโดยเปลี่ยนมาเป็นหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทมิได้ระบุให้คิดดอกเบี้ยโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย หากโจทก์อ้างว่าจำเลยผิดนัดก็คิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น เห็นว่าการทำสัญญาทรัสต์รีซีทนี้เป็นเพียงวิธีการผ่อนปรนของเจ้าหนี้ให้ลูกหนี้มีโอกาสนำสินค้าที่สั่งซื้อมาด้วยการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตออกจากท่าเรือไปขายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต เท่านั้น สัญญาทรัสต์รีซีทเช่นรายพิพาทนี้เป็นสัญญาซึ่งต่อเนื่องกับสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและมิได้ทำให้หนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตระงับสิ้นไปได้ในตัว เมื่อตามคำขอเปิดเครดิตนั้นจำเลยที่ 1 ตกลงไว้ว่ายอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจนถึงวันที่ชำระหนี้ และสัญญาทรัสต์รีซีทก็กล่าวเท่าถึงและยึดถือเอาข้อสัญญาในการออกเลตเตอร์ออฟเครดิต การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยในอัตราร้อยละสิบสองและสิบสี่ต่อปีนั้น จึงเป็นสิทธิที่จะกระทำได้

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้จำเลยใช้แทนโจทก์เพียง 8,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยใช้แทนโจทก์ถึง 20,000 บาท จึงสูงเกินไปนั้น เมื่อได้พิจารณาถึงจำนวนทุนทรัพย์ ความยากง่ายแห่งการดำเนินคดีตลอดถึงงานที่ทนายโจทก์กระทำไปแล้วเห็นสมควรลดค่าทนายโจทก์ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งจำเลยจะต้องใช้แทนลงให้บ้าง

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะจำนวนค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ซึ่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้แทนโจทก์เป็น 10,000 บาท นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์อีก 10,000 บาทด้วย

Share