คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในเรื่องความผิดฐานกรรโชก โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยไม่ใช่ตำรวจแต่อ้างว่าเป็นตำรวจใช้วาจาขู่เข็ญว่าไม่รับสัญญาให้เงินจะมีเรื่องเป็นการขู่เข็ญขืนใจให้มีความกลัวตาม มาตรา 303 ดังนี้เป็นฟ้องที่สมบูรณ์
ข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าจำเลยไม่ใช่ตำรวจแต่อ้างว่าเป็นตำรวจขู่เข็ญผู้เสียหายให้รับสัญญาจะส่งเงินให้ถ้าไม่ให้จะมีเรื่อง และผู้เสียหายได้สัญญาว่าจะส่งเงินให้โดยจำเลยไม่มีอำนาจทำได้ตาม กฎหมาย ดังนี้เป็นข้อเท็จจริงที่เข้าเกณฑ์ความผิดฐานกรรโชก
แม้โจทก์จะแถลงว่าติดใจสืบพยานเพียงเท่านี้ เมื่อจำเลยอ้างตัวเองเบิกความเป็นพยาน โจทก์ก็ชอบที่จะนำคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่โจทก์ไม่ติดใจสืบยื่นเป็นพยานต่อศาลเพื่อพิสูจน์คำให้การของจำเลยได้เมื่อศาลเห็นว่ามีมูลก็มีอำนาจรับไว้วินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรับราชการเป็นนายตรวจสรรพสามิต สมคบกันอ้างว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจใช้วาจาบังคับขู่เข็ญขืนใจนายเจียน้ำหรือเจียงค้ำ ให้รับสัญญาว่ายอมจะส่งเงินให้แก่จำเลย 1,000 บาทถ้าไม่ให้จะมีเรื่อง นายเจียน้ำกลัวจึงยอมรับสัญญาและรุ่งขึ้นก็ได้มอบเงิน 400 บาทให้แก่จำเลย ขอให้ลงโทษตาม กฎหมายอาญา มาตรา 63, 303

จำเลยรับว่าเป็นนายตรวจสรรพสามิตจริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด

ศาลอาญาพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสอง ตาม กฎหมายอาญา มาตรา 303มีกำหนดคนละ 1 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาปัญหาข้อ กฎหมายว่า 1. คำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่เข้าเกณฑ์ความผิดฐานกรรโชก 2. ข้อเท็จจริงที่ศาลฟังก็ไม่เข้าเกณฑ์ความผิดฐานกรรโชก 3. ศาลรับฟังพยานหลักฐานผิดด้วยกระบวนพิจารณา

ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลย ไม่ใช่ตำรวจแต่อ้างว่าเป็นตำรวจ พูดว่าไม่ได้เงินจะมีเรื่องดังนี้แสดงชัดว่าเป็นการขู่เข็ญขืนใจ เมื่อนายเจียน้ำกลัวรับสัญญาว่าจะให้ ตรงตาม มาตรา 303 บัญญัติไว้จึงเข้าเกณฑ์ความผิดฐานกรรโชก

ข้อเท็จจริงที่ฟังว่าจำเลยทั้งสองได้สมคบกันอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ พูดบังคับขู่เข็ญ ขืนใจ นายเจียน้ำให้ส่งเงินให้จำเลยทั้งสอง 1,000 บาทถ้าไม่ให้จะมีเรื่อง นายเจียน้ำกลัวและได้ให้เงินจำเลยตามสัญญา ในวันรุ่งขึ้นโดยจำเลยไม่มีอำนาจที่กระทำได้ตาม กฎหมาย ดังนี้เป็นข้อเท็จจริงที่เข้าเกณฑ์ความผิดฐานกรรโชก

ปัญหาสุดท้ายเห็นว่าแม้โจทก์แถลงว่าติดใจสืบพยานเท่าที่สืบแล้วก็ดี เมื่อจำเลยอ้างตัวเองเบิกความเป็นพยาน โจทก์ชอบที่จะนำคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยยื่นเป็นพยานต่อศาล เพื่อพิสูจน์คำให้การของจำเลยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 120 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อศาลเห็นว่ามีมูลก็มีอำนาจรับไว้วินิจฉัย

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาของจำเลย

Share