คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8091/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อน ส. เป็นโจทก์ฟ้องอธิบดีกรมที่ดินเป็นจำเลยในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 อ้างว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้บุคคลอื่นทับที่ดินที่ ส. เป็นเจ้าของอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท ต่อมาคู่ความสัญญาประนีประนอมยอมความศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับพินัยกรรมของ ง.และง.เป็นผู้รับพินัยกรรมของส. โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิของ ส. กับจำเลยคดีนี้ถูกฟ้องในฐานะที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 เป็นผู้สืบสิทธิของอธิบดีกรมที่ดินเช่นกัน ถือว่าเป็นคู่ความเดียวกัน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าโฉนดที่ดินพิพาทออกทับที่ดินของ ส. อีก อันเป็นเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ ส. เป็นโจทก์ฟ้องขอเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมที่พิพากษาให้ยกฟ้องของ ส.โดยไม่ตัดสิทธิส. ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่นั้นไม่มีผลผูกพันจำเลยคดีนี้ เพราะจำเลยคดีนี้ไม่ได้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายสุข บรรจงทรัพย์ เป็นเจ้าของที่ดิน เนื้อที่ 17 ไร่ 1 งาน69 ตารางวา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรีนางศิริ ตุ้นสกุล ได้ขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ทับที่ดินของนายสุข เป็นเนื้อที่17 ไร่ 1 งาน 69 ตารางวา ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 15865 ได้แบ่งแยกเป็น 36 แปลงคือ โฉนดที่ดินเลขที่ 15865, 15791 ถึง 15808 และ 15809 ถึง 15825 นายสุขได้ทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 17 ไร่เศษดังกล่าวให้แก่นางสงวน บรรจงทรัพย์และนางสงวนทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกซึ่งรวมทั้งที่ดินที่ได้รับจากนายสุขให้แก่โจทก์และทายาท เมื่อนางสงวนถึงแก่กรรมโจทก์ได้รับแต่งตั้งจากศาลชั้นต้นให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางสงวน โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหนังสือขอให้จำเลยในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 15865, 15791ถึง 15808 และ 15809 ถึง 15825 ซึ่งออกทับที่ดินของนายสุข อันเป็นการออกโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยไม่เพิกถอน ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15865, 15791 ถึง 15807 และ 15809 ถึง 15825

จำเลยให้การว่า นางสงวนและโจทก์ไม่ใช่ทายาทของนายสุข บรรจงทรัพย์โจทก์เป็นผู้เขียนพินัยกรรมและเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนางสงวน นายสุขเคยยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดินกับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีเป็นจำเลยรวมกับจำเลยอื่น อ้างว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ทับที่ดินของนายสุข ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ต่อมาคู่ความตกลงกันได้ และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้วเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 40/2516 คดีถึงที่สุด โจทก์เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของนางสงวนซึ่งสืบสิทธิของนายสุข จึงมีความผูกพันตามคดีหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้นด้วยฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ โจทก์มาฟ้องคดีเกิน 10 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้น นายสุข บรรจงทรัพย์ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 อ้างว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีได้ออกโฉนดที่ดินพิพาททับที่ดินที่นายสุขเป็นเจ้าของอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท ต่อมาคู่ความสามารถตกลงกันได้โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมว่า นายอำนวย ตันวัฒนะ จำเลยที่ 1 นางเปี่ยมศรี ตันวัฒนะ จำเลยที่ 2 และ นางศิริ ต้นสกุล จำเลยที่ 3ยอมให้เงินแก่นายสุข เป็นเงิน 60,000 บาท และยอมโอนที่ดินให้นายสุขเป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน คดีถึงที่สุดต่อมานายสุขได้ยื่นฟ้องนายอำนวย ตันวัฒนะ กับพวกเป็นจำเลยขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้นคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1017/2520 ไม่ให้เพิกถอนเพราะนายสุขต้องผูกพันตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ส่วนคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับพินัยกรรมของนางสงวน บรรจงทรัพย์ และนางสงวนเป็นผู้รับพินัยกรรมของนายสุข โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิของนายสุข และผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี จำเลยคดีนี้ก็ถูกโจทก์ฟ้องในฐานะที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528 ถือได้ว่าจำเลยคดีนี้เป็นผู้สืบสิทธิของอธิบดีกรมที่ดินจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้นเช่นกัน เนื่องจากกฎหมายบัญญัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในจังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานครแทนอธิบดีกรมที่ดิน ดังนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยคดีนี้ต่างก็เป็นผู้สืบสิทธิของคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้น จึงถือว่าเป็นคู่ความเดียวกัน และต้องผูกพันตามคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เช่นกัน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินโดยอ้างเหตุว่าโฉนดที่ดินพิพาทออกทับที่ดินของนายสุขอีกอันเป็นเหตุอย่างเดียวกัน ซึ่งคำพิพากษาหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1017/2520 ซึ่งได้พิพากษาให้ยกฟ้องนายสุขโดยไม่ตัดสิทธินายสุขที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่นั้น ไม่มีผลผูกพันจำเลยคดีนี้เพราะจำเลยคดีนี้ไม่ได้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด

พิพากษายืน

Share