คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8072/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกับการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ฯ มาตรา 25 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยที่ 2 ในฐานะนายกแพทยสภาเป็นประธานคณะกรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่ง และเป็นผู้แทนแพทยสภาในกิจการต่าง ๆ ตามมาตรา 22 (1) (ก) (ข) (ค) ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะเลขาธิการแพทยสภาเป็นเลขานุการคณะกรรมการแพทยสภาตามมาตรา 22 (4) (จ) เมื่อคณะกรรมการแพทยสภาซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานและจำเลยที่ 3 เป็นเลขานุการได้ใช้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ทั้งสี่ตามมาตรา 39 วรรคสาม (2) และจำเลยที่ 1 ได้ให้ความเห็นชอบตามมาตรา 25 แล้วจึงต้องออกเป็นคำสั่งแพทยสภาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 วรรคสี่ ดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายในการทำคำสั่งลงโทษว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ทั้งสี่โดยตรง เพียงแต่มาตรา 39 วรรคสี่ ให้ทำเป็นคำสั่งแพทยสภา จำเลยทั้งสามหาใช่บุคคลภายนอกที่ศาลไม่อาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสี่ได้ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งแพทยสภาดังกล่าวได้
การลงมติและการทำคำสั่งลงโทษว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ทั้งสี่เป็นการใช้ดุลพินิจตามข้อเท็จจริงจากการสอบสวนของคณะกรรมการแพทยสภา เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสี่ มติและคำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายอันเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ฯ มาตรา 39 วรรคสี่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ลงโทษว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ทั้งสี่ตามคำสั่งแพทยสภาที่ 28/2543
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่กับให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของแพทยสภาได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกับการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยที่ 2 ในฐานะนายกแพทยสภาเป็นประธานคณะกรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่ง และเป็นผู้แทนแพทยสภาในกิจการต่าง ๆ ตามมาตรา 22 (1) (ก) (ข) (ค) ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะเลขาธิการแพทยสภาเป็นเลขานุการคณะกรรมการแพทยสภาตามมาตรา 22 (4) (จ) เมื่อคณะกรรมการแพทยสภาซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธาน และจำเลยที่ 3 เป็นเลขานุการได้ใช้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ทั้งสี่ตามมาตรา 39 วรรคสาม (2) และจำเลยที่ 1 ได้ให้ความเห็นชอบกับคำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวตามมาตรา 25 แล้วจึงต้องออกเป็นคำสั่งแพทยสภาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 วรรคสี่ ดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายในการทำคำสั่งลงโทษว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ทั้งสี่โดยตรงเพียงแต่มาตรา 39 วรรคสี่ ให้ทำเป็นคำสั่งแพทยสภา จำเลยทั้งสามหาใช่บุคคลภายนอกที่ศาลไม่อาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสี่ได้ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งแพทยสภาดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าไม่อาจบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสี่ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า คำสั่งแพทยสภาให้ลงโทษว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ทั้งสี่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า การลงมติและการทำคำสั่งลงโทษว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ทั้งสี่เป็นการใช้ดุลพินิจตามข้อเท็จจริงจากการสอบสวนของคณะกรรมการแพทยสภา เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสี่ มติและคำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายอันเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 39 วรรคสี่ ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share