คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3648/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 เป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นกรมตำรวจฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เนื่องจากจำเลยทั้งสองกระทำตามหน้าที่ของผู้แทนของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น และโจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และมีอายุความ 10 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 711,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 711,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 สิงหาคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 304,380 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกราคาเป็ดส่วนที่ชดใช้เกินไปภายในอายุความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้โจทก์รับผิดเพียงเท่าที่จำเลยทั้งสองชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะฎีกาของโจทก์จากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรมในกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2533 ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำรงตำแหน่งสารวัตรใหญ่และสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพรหมพิราม ซึ่งอยู่ในสังกัดของโจทก์ตามลำดับ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยึดเป็ดจำนวน 16,959 ตัว เป็นของกลางในคดีคนร้ายปล้นทรัพย์เอาเป็ดของนายสำเริงไป แต่นายประทุมโต้เถียงกรรมสิทธิ์และตกลงกันไม่ได้ จำเลยทั้งสองจึงแบ่งเป็ดของกลางมอบให้นายประทุมเป็นผู้ดูแลรักษาจำนวน 9,036 ตัว และให้นายสำเริงดูแลรักษาจำนวน 7,923 ตัว โดยมีข้อตกลงว่าถ้าเป็ดเสียหายหรือตายต้องชดใช้ราคาตัวละ 45 บาท ตามบันทึกรับมอบเป็ดของกลางไว้เก็บรักษา ต่อมานายประทุมได้ฟ้องโจทก์และจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันคืนเป็ด จำนวน 15,800 ตัว ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้โจทก์และจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเป็ดจำนวน 15,800 ตัว แก่นายประทุม หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนตัวละ 45 บาท ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 725/2538 โจทก์ได้นำเงินจำนวน 711,000 บาท ไปวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายประทุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 และนายประทุมได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากศาลแล้ว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสอง เนื่องจากจำเลยทั้งสองกระทำตามหน้าที่ของผู้แทนของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นและโจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ส่วนมาตรา 5 ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 นั้น เป็นเรื่องที่หากว่าหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ซึ่งผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองในค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์นำเงินไปวางศาล เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 เพื่อชำระหนี้ให้แก่นายประทุม จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงขาดอายุความตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 9 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ภายหลังวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสองแล้ว อายุความที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 แต่อยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชำระแก่นายประทุมดังกล่าว ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปจึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share