แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
รถยนต์ของโจทก์ไม่มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุดติดหน้ากระจกรถยนต์ตามระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 พนักงานรักษาความปลอดภัยจะต้องดำเนินการแลกบัตรหรือให้แจ้งชื่อ ที่อยู่ของผู้ขับรถยนต์ที่จะผ่านเข้าออกอาคารชุด คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยบริเวณป้อมยามของทางเข้าออกอาคารชุดเห็นแล้วว่ารถยนต์ของโจทก์ไม่มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุด มิได้เรียกให้หยุดรถเพื่อแลกบัตรหรือให้ผู้ขับรถยนต์แจ้งชื่อ ที่อยู่ตามระเบียบ กลับปล่อยให้รถยนต์ของโจทก์แล่นผ่านออกไปอันเป็นเหตุให้รถยนต์สูญหาย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องของจำเลยที่ 4 เป็นการประมาทเลินเล่อกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของห้องชุดในอาคารชุดเซ็นทรัล ซิตี้ นอธ-เซาท และเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 อ-1867 กรุงเทพมหานคร ขณะเกิดเหตุมีราคา 800,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นผู้จัดการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรักษาความปลอดภัยและรับจ้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยมาดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดจนควบคุมดูแลการนำรถยนต์เข้าจอดในอาคารชุดดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2540 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ถึงเช้าวันที่ 7 เมษายน 2540 มีคนร้ายเข้าไปลักรถยนต์ของโจทก์คันดังกล่าว ซึ่งจอดอยู่ในอาคารชุดดังกล่าวไปโดยคนร้ายได้ขับรถผ่านป้อมยามทางเข้าออกของอาคารซึ่งมีจำเลยที่ 4 ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 กำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ แต่จำเลยที่ 4 เห็นบุคคลภายนอกขับรถยนต์ของโจทก์แล้วมิได้เรียกให้หยุดเพื่อตรวจสอบผู้ขับหรือสอบถามเหตุผลในการเข้าออกจากอาคารชุดดังกล่าวตามหน้าที่ เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถลักรถยนต์ของโจทก์ไปได้ การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดในฐานะผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 60,000 บาท
จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดเซ็นทรัล ซิตี้ นอธ-เซาท เท่านั้น ไม่มีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ผู้ว่าจ้างคือจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 3 เป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งผู้รับจ้างหรือลูกจ้างของผู้รับจ้างกระทำไปนอกจากนี้จำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่เรียกผู้ขับรถยนต์ที่เข้าออกอาคารชุดดังกล่าวให้หยุดเพื่อตรวจสอบ โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๙ อ-1867 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์ของโจทก์ไม่ได้สูญหาย ทั้งมีราคาไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางสุมลรัตน์ภริยาโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 อ-1867 กรุงเทพมหานคร และห้องชุดในอาคารชุดเซ็นทรัล ซิตี้ นอธ-เซาท เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2540 เวลา 20.30 นาฬิกา จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยบริเวณทางรถแล่นผ่านเข้าออกอาคารชุดดังกล่าวเห็นรถยนต์ของโจทก์แล่นออกจากที่จอดรถอาคารชุดดังกล่าว มีคนนั่งมาด้านหน้าข้างคนขับอีก 1 คน แต่เห็นหน้าไม่ชัดเจนและเห็นว่าเป็นรถยนต์ของผู้ที่พักในอาคารชุด จึงมิได้เรียกหยุดตรวจรถยนต์คันดังกล่าวหยุดรับชายอีกสองคนบริเวณสวนหย่อมแล้วแล่นออกไป วันรุ่งขึ้นนายภานุวัฒน์บุตรโจทก์ทราบว่ารถยนต์คันดังกล่าวหายไปจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาประการแรกโดยอ้างข้อตกลงยกเว้นความรับผิดที่ทำขึ้นกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอกภัยเอกสารหมาย ล.1 มาปฏิเสธว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การแต่เพียงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยเฉพาะทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินส่วนตัวของผู้พักอาศัยในอาคาร จำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้ให้การว่า ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะมีข้อตกลงยกเว้นความรับผิดที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย ล.1 ดังนั้นที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อ้างในฎีกาว่า ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เนื่องจากมีข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย ล.1 จึงนอกเหนือจากคำให้การและเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ปัญหาข้อต่อไปว่า รถยนต์ของโจทก์มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุดติดหน้ากระจกรถยนต์หรือไม่ โจทก์มีนายภานุวัฒน์บุตรโจทก์เบิกความว่า โจทก์มีรถยนต์ 2 คัน และนำบัตรติดรถยนต์ไปติดไว้ที่รถยนต์อีกคัน นายภานุวัฒน์ขับรถยนต์ของโจทก์คันที่สูญหายเข้าออกอาคารชุดไม่ต้องแลกบัตร เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยจำนายภานุวัฒน์ได้ว่าพักอาศัยอยู่ในอาคารชุดแม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีนายทวีวัฒน์กรรมการจำเลยที่ 3 และนายนครกรรมการจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความว่ารถยนต์ของโจทก์มีบัตรติดรถยนต์ติดหน้ากระจก แต่เป็นเพียงการคาดคะเนเอาว่ารถยนต์ที่แล่นผ่านเข้าออก หากไม่มีบัตรติดรถยนต์ พนักงานรักษาความปลอดภัยจะลงบันทึกไว้ สำหรับรถยนต์ของโจทก์ไม่มีการบันทึก คำเบิกความของพยานทั้งสองปากมิได้รู้เห็นโดยตรงว่ารถยนต์ของโจทก์มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุดติดหน้ากระจกรถยนต์หรือไม่ ทั้งที่มีจำเลยที่ 4 และนายทองแดงพนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นประจักษ์พยานขณะเกิดเหตุโดยตรงแต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับไม่นำมาเบิกความเป็นพยาน ประกอบกับจำเลยที่ 4 ได้ให้การไว้ว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 20.30 นาฬิกา จำเลยที่ 4 เห็นรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าแล่นมาที่ป้อมยามทางเข้าออกอาคารชุดจำได้ว่าเป็นรถยนต์ของผู้ที่พักอาศัยในอาคารชุด จึงอนุญาตให้ผ่านออกไป การที่จำเลยที่ 4 ให้การดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 4 ไม่เห็นว่ารถยนต์ของโจทก์มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออก เพียงแต่จำได้ว่าเป็นรถยนต์ของผู้ที่พักอาศัยเท่านั้น เป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของนายภานุวัฒน์ทำให้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารถยนต์ของโจทก์ไม่มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุดติดหน้ากระจกรถยนต์ ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 4 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อรถยนต์ของโจทก์ไม่มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุดติดหน้ากระจกรถยนต์ตามระเบียบการผ่านเข้าออกของจำเลยที่ 1 พนักงานรักษาความปลอดภัยจะต้องดำเนินการแลกบัตรหรือให้แจ้งชื่อ ที่อยู่ของผู้ขับรถยนต์ที่จะผ่านเข้าออกอาคารชุดตามคู่มือระเบียบและข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.6 หน้า 83 แต่คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยบริเวณป้อมยามของทางเข้าออกอาคารชุดเห็นแล้วว่ารถยนต์ของโจทก์ไม่มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุด มิได้เรียกให้หยุดรถเพื่อแลกบัตรหรือให้ผู้ขับรถยนต์แจ้งชื่อ ที่อยู่ตามระเบียบดังกล่าว กลับปล่อยให้รถยนต์ที่เป็นของโจทก์แล่นผ่านออกไปอันเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์สูญหาย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องของจำเลยที่ 4 เป็นประมาทเลินเล่อกระทำละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท