คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5289/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำสั่งของอธิบดีกรมบังคับคดีที่ให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าที่ดินที่ผู้ร้องประมูลซื้อมาได้จากการขายทอดตลาด มิใช่คำสั่งศาลที่ให้ขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดล่วงพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ทราบเรื่องที่จะขอให้เพิกถอนตามมาตรา 296 วรรคสาม จึงต้องยกคำร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1822 ถึง 1842 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดโดยติดจำนองเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องประมูลซื้อที่ดินดังกล่าวได้ในราคา 4,830,000 บาท และชำระเงินค่าที่ดินบางส่วนจำนวน 265,650 บาท ค่าที่ดินส่วนที่เหลือขอหักส่วนได้ใช้แทน ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งผู้ร้องให้ชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือโดยไม่ยอมให้ผู้ร้องหักส่วนได้ใช้แทน วันที่ 11 ธันวาคม 2544 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อนุมัติให้ขยายเวลาวางเงิน ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2544 รองอธิบดีกรมบังคับคดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีมีคำสั่งอนุมัติขยายเวลาวางเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดให้ผู้ร้องไปอีก 30 วัน นับแต่วันดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การประกาศขายทอดตลาดที่ดินโดยติดจำนองแต่ไม่ระบุข้อความว่า ผู้ซื้อทรัพย์จากการติดจำนองจะต้องรับภาระจำนองติดไปด้วยโดยต้องไปไถ่ถอนจำนองจากผู้รับจำนอง ย่อมไม่ชอบ ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่น เป็นผู้รับจำนองและเป็นผู้ซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้โดยเข้าใจว่าเมื่อผู้ร้องชำระเงินค่าที่ดินบางส่วนแล้วจำนวนเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือขอหักส่วนได้ใช้แทนได้การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมให้ผู้ร้องหักส่วนได้ใช้แทนและยืนยันให้ผู้ร้องชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือทำให้ผู้ร้องเสียหาย ผู้ร้องทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลเหตุดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2544 ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว
ระหว่างไต่สวนคำร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอเข้าว่าคดีแทนโจทก์ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นผู้ขอให้ขายทอดตลาดที่ดินโดยติดจำนอง ประกาศขายทอดตลาดที่ดินโดยติดจำนองของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบแล้ว เพราะมีการระบุถึงต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระอันผู้ซื้อทรัพย์ได้จะต้องรับผิดซึ่งผู้ร้องย่อมทราบดีอยู่แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีทำรายงานและทำสัญญาซื้อขายให้ผู้ร้องหักส่วนได้ใช้แทนนั้นเป็นการทำโดยผิดหลง จึงไม่มีผล ทั้งผู้ร้องทราบเรื่องที่จะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในวันที่ 11 ธันวาคม 2544 แล้ว แต่มายื่นคำร้องในวันที่ 27 ธันวาคม 2544 จึงล่วงพ้นระยะเวลา 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดเกินกำหนดระยะเวลา 15 วัน ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน หากผู้ร้องประสงค์จะซื้อทรัพย์ดังกล่าวต่อไปให้ขยายเวลาวางเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 2 ซึ่งผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองโดยติดจำนองและผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 4,830,000 บาท แต่ในชั้นวางเงินและทำสัญญาซื้อขาย เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำสัญญาซื้อขายโดยผิดหลงไป คือรับวางเงินบางส่วนและทำสัญญาซื้อขายโดยให้ผู้ซื้อหักส่วนได้ใช้แทนและรับวางเงินเพียงร้อยละ 5.5 เป็นเงินจำนวน 265,650 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตรวจสอบพบว่ากรณีดังกล่าวไม่ถูกต้องเนื่องจากเป็นการขายทอดตลาดโดยการจำนองติดไปด้วยซึ่งไม่อาจให้ผู้ซื้อหักส่วนได้ใช้แทนได้ จึงแจ้งผู้ร้องให้วางเงินให้ครบถ้วน วันที่ 11 ธันวาคม 2544 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ วันที่ 12 ธันวาคม 2544 รองอธิบดีกรมบังคับคดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีมีคำสั่งอนุมัติขยายเวลาวางเงินให้ผู้ร้องอีก 30 วัน ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2544 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่าไม่เห็นด้วยกับเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ยอมให้ผู้ร้องหักส่วนได้ใช้แทน เพราะเป็นความผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ระบุให้ชัดเจนไว้ในประกาศขายทอดตลาดนั้น กรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่าผู้ร้องทราบตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2544 แล้วว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์โดยไม่ถูกต้องเพราะในประกาศขายทอดตลาดแบบติดจำนองนั้นมิได้มีคำเตือนโดยชัดเจนว่าผู้ซื้อทรัพย์นั้นต้องรับภาระจำนองติดไปด้วย มิใช่ผู้ร้องเพิ่งทราบเรื่องในวันที่ 12 ธันวาคม 2544 ดังที่อ้างในคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด เมื่อผู้ร้องทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2544 แต่ปรากฏว่าผู้ร้องเพิ่งมายื่นคำร้องคัดค้านการบังคับคดีต่อศาล โดยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2544 จึงล่วงพ้นกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันทราบการฝ่าฝืนนั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2544 รองอธิบดีกรมบังคับคดีมีคำสั่งขยายระยะเวลาวางเงินอีก 30 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในวันที่ 27 ธันวาคม 2544 เป็นการยื่นคำร้องภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รองอธิบดีกรมบังคับคดีมีคำสั่ง จึงเป็นการยื่นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่า ระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม นั้น เป็นอำนาจของศาลที่จะมีคำสั่งให้ขยาย แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 เมื่อคำสั่งที่ผู้ร้องอ้างนั้นเป็นคำสั่งของรองอธิบดีกรมบังคับคดีเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาวางเงินค่าที่ดิน มิใช่คำสั่งศาลที่ให้ขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดี ผู้ร้องจึงไม่อาจนำมาอ้างเพื่อยื่นคำร้องเกินกำหนดได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ขยายเวลาวางเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ผู้ร้องยื่นฎีกาจึงมิได้ใช้สิทธิวางเงินภายในเวลาที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเพื่อให้โอกาสผู้ร้องที่อาจประสงค์จะซื้อทรัพย์ดังกล่าวต่อไป จึงเห็นสมควรกำหนดเวลาวางเงินค่าที่ดินใหม่”
พิพากษายืน หากผู้ร้องประสงค์จะซื้อทรัพย์ดังกล่าวต่อไป ให้ขยายเวลาวางเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share