แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานได้กำหนดว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างกระทำการกรณีใดกรณีหนึ่งตามข้อ 47(1)-(6) แต่กรณีของ บ.ลูกจ้างของจำเลยป่วยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานได้ตาม ปกตินั้น เป็นเหตุเกิดตามสภาพร่างกายโดยธรรมชาติ ถือไม่ได้ว่า บ.กระทำการเข้าข้อยกเว้นข้อหนึ่งข้อใดตามประกาศข้อ 47 ดังกล่าวดังนี้เมื่อจำเลยเลิกจ้าง บ. ด้วยเหตุป่วยดังกล่าว บ. จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2526 จำเลยจ้างนายบุญเพ็งพิณพงษ์ บุตรของโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานรับจ่าย ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 2,780 บาทค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท รวมเป็นเงิน 3,180 บาท ต่อมาวันที่ 22สิงหาคม 2531 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างนายบุญเพ็งอ้างว่านายบุญเพ็งหย่อนสมรรถภาพเนื่องจากลาป่วยเกินข้อบังคับว่าด้วยการลา พ.ศ. 2526ของจำเลย โดยนายบุญเพ็งไม่มีความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 และไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2531 นายบุญเพ็งถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้จัดการมรดกของนายบุญเพ็งจึงนำคดีนี้มาฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 19,080 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า นายบุญเพ็งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้รับค่าจ้างและค่าครองชีพตามฟ้อง จำเลยไม่ได้เลิกจ้างนายบุญเพ็ง แต่ได้มีคำสั่งให้ออกจากงานเพราะนายบุญเพ็งป่วยจนไม่อยู่ในสภาพที่จะทำงานให้จำเลยได้ต่อไป ทั้งนายบุญเพ็งลาป่วยจนครบ 90 วันตามข้อบังคับของจำเลย และจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 16,620 บาท ซึ่งมีจำนวนมากกว่าค่าชดเชย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้องซ้ำอีก ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่านายบุญเพ็งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญเพ็ง นายบุญเพ็งเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยเข้าทำงานเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2526 ได้รับเงินเดือนสุดท้ายรวมกับค่าครองชีพแล้วเป็นเงิน 3,180 บาท จำเลยมีคำสั่งที่46/2531 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2531 ให้นายบุญเพ็งออกจากงานเพราะนายบุญเพ็งป่วยด้วยโรคกระดูกส้นเท้าแตก มีอาการบาดทะยัก เป็นผลให้มีอาการของสมองฝ่อจนไม่อยู่ในสภาพที่จะทำงานให้จำเลยได้ต่อไป และนายบุญเพ็งลาป่วยจนครบ 90 วัน ตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบุญเพ็งจำนวน 16,620 บาท จำเลยมีข้อบังคับองค์การแก้วว่าด้วยการลา พ.ศ. 2526 เอกสารท้ายคำให้การ และมีข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ตามเอกสารหมาย ล.1 หากจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามฟ้อง ค่าชดเชยจะเป็นเงินจำนวน 19,080บาท แล้วโจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยมีคำสั่งให้นายบุญเพ็งออกจากงานเพราะเหตุเจ็บป่วยจนไม่อยู่ในสภาพที่จะทำงานต่อไปได้ตามคำสั่งที่ 46/2531 ลงวันที่ 22 สิงหาคม2531 เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 วรรคสองเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้โจทก์มิใช่ค่าชดเชย จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยของนายบุญเพ็ง จำนวน 19,080 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2531 (วันเลิกจ้าง)จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วจำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยให้นายบุญเพ็งออกจากงานเพราะนายบุญเพ็งป่วยด้วยโรคกระดูกส้นเท้าแตก มีอาการบาดทะยักซึ่งทำให้มีอาการสมองฝ่อ ไม่อาจทำงานให้จำเลยต่อไปได้ นายบุญเพ็งจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ได้กำหนดว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน
(4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(5) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
กรณีที่นายบุญเพ็งป่วยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานได้ตามปกตินั้น เป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพร่างกายโดยธรรมชาติ แม้นายบุญเพ็งจะลาป่วยจนครบ 90 วัน แล้วยังไม่สามารถมาทำงานได้ตามปกติ ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการลา พ.ศ. 2526 ข้อ 9ก็กำหนดเพียงให้สิทธิผู้บังคับบัญชารายงานขออนุมัติเลิกจ้างหรือให้ออกได้เท่านั้น ถือไม่ได้ว่านายบุญเพ็งกระทำการเข้าข้อยกเว้นข้อหนึ่งข้อใดตามประกาศดังกล่าว ข้อ 47 เมื่อจำเลยเลิกจ้างนายบุญเพ็งจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.