คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4944/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยใช้โทรศัพท์ซึ่งมีสายไฟสองสายต่อพ่วงเข้ากับโทรศัพท์ในตู้โทรศัพท์สาธารณะของผู้เสียหายแล้วโทรศัพท์ออกไป หลังจากนั้นศาลจึงนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยความหมายของคำว่า “โทรศัพท์” ตามที่สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 7 ให้ความหมายไว้ว่า โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปในลวดไปเข้าเครื่องรับปลายทาง ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งแล้ววินิจฉัยว่าการที่จำเลยลอบใช้สัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ การวินิจฉัยของศาลจึงเป็นการสืบค้นจากหนังสืออ้างอิงที่วิญญูชนทั่วไปก็สามารถทราบได้เมื่อเปิดดูจากหนังสือดังกล่าว โดยอาศัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปที่ศาลสามารถวินิจฉัยได้เอง กรณีมิใช่เป็นการรับฟังและวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะหมายเลข 249835 ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานบริการโทรศัพท์จังหวัดอุดรธานีไป คิดเป็นเงิน 106 บาท โดยจำเลยใช้โทรศัพท์ชนิดกดหมายเลขในตัวซึ่งมีสายไฟสองสายต่อพ่วงออกไป หนีบต่อเข้ากับขั้วกันฟ้าโทรศัพท์ที่ข้างตู้โทรศัพท์ดังกล่าวแล้วโทรศัพท์ออกโดยไม่ต้องหยอดเหรียญ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 และริบของกลาง กับให้จำเลยใช้เงินจำนวน 106 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (ที่ถูก มาตรา 335 (1) วรรคหนึ่ง) ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน ริบโทรศัพท์ สายโทรศัพท์พร้อมที่หนีบโทรศัพท์จำนวน 1 ชุด ของกลาง และให้จำเลยใช้เงินจำนวน 106 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง จำเลยใช้โทรศัพท์ชนิดกดหมายเลขในตัวซึ่งมีสายไฟสองสายต่อพ่วงที่ปลายสายอีกข้างหนึ่งมีที่หนีบใช้ต่อกับขั้วกันฟ้าโทรศัพท์ที่ข้างตู้โทรศัพท์สาธารณะ ทำให้จำเลยสามารถต่อโทรศัพท์ได้โดยไม่ต้องหยอดเหรียญชำระค่าโทรศัพท์ จำเลยใช้วิธีการดังกล่าวต่อโทรศัพท์ออกไป ทำให้โทรศัพท์สาธารณะเครื่องดังกล่าวมีการโทรออก แต่จำนวนเงินที่บันทึกไว้ในโทรศัพท์ขาดจำนวนไป 106 บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังและวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวนหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้าไปในเส้นลวดไปเข้าเครื่องรับปลายทางที่ทำหน้าที่เปลี่ยนกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูด เมื่อจำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะที่เกิดเหตุไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็วินิจฉัยทำนองเดียวกัน ซึ่งข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานี้โจทก์มิได้นำสืบแต่เป็นกรณีที่ศาลวินิจฉัยไปตามที่รับรู้เอง ซึ่งมิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปนั้น เห็นว่า ก่อนที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยใช้โทรศัพท์ซึ่งมีสายไฟสองสายต่อพ่วงเข้ากับโทรศัพท์ในตู้โทรศัพท์สาธารณะแล้วโทรศัพท์ออกไปทำให้จำนวนเงินที่บันทึกไว้ในเครื่องโทรศัพท์สาธารณะนั้นขาดจำนวนไป 106 บาท หลังจากนั้นศาลจึงนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยความหมายของคำว่า “โทรศัพท์” ตามที่สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 7 หน้าที่ 250 ให้ความหมายไว้ว่า โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปในลวดไปเข้าเครื่องรับปลายทาง ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แล้ววินิจฉัยว่าการที่จำเลยลอบใช้สัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายเป็นการเอาไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ การวินิจฉัยของศาลจึงเป็นการสืบค้นจากหนังสืออ้างอิงที่วิญญูชนทั่วไปก็สามารถทราบได้เมื่อเปิดดูจากหนังสือดังกล่าวโดยอาศัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปที่ศาลสามารถวินิจฉัยได้เอง กรณีหาเป็นการรับฟังและวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวนดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 2,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงปรับ 1,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษทุก 4 เดือน ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.

Share