แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ฟ้องกำหนดจำนวนทุนทรัพย์มา 100,000 บาท แต่ตามฟ้องปรากฏว่าจำเลยทำสัญญาค้ำประกันคนต่างด้าว 2 ราย ซึ่งเรียกว่าลูกประกันโดยแยกทำสัญญารายละฉบับ มีข้อสัญญาว่าถ้าจำเลยผิดสัญญาแต่ละรายยอมให้ปรับรายละ 50,000 บาท ทุนทรัพย์ในคดีจึงแยกออกตามสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับ คือฉบับละ 50,000 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยผิดสัญญาค้ำประกันและกำหนดค่าปรับรวมกันมา 60,000 บาท ก็ยังถือได้ว่ากำหนดค่าปรับในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับ ไม่เกินฉบับละ 50,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 (อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2524)
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า จำเลยส่งลูกประกันออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ได้เพราะเหตุสุดวิสัย เนื่องจากในระยะเวลาที่เกิดเหตุประเทศไทยไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกัมพูชา ซึ่งลูกประกันมีสัญชาตินั้น ปรากฏว่าหน้าที่ของจำเลยที่ต้องจัดการให้ลูกประกันออกไปเสียจากราชอาณาจักรก็มิได้กำหนดในสัญญาว่าต้องส่งกลับประเทศภูมิลำเนา ดังนั้นเพียงแต่ให้ออกไปนอกราชอาณาจักรก็เป็นการเพียงพอแล้วอีกทั้งเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์สั่งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาก็ล่วงเลยระยะเวลาที่ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาขาดความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว จำเลยจึงสามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ กรณีไม่เป็นเหตุสุดวิสัยดังที่จำเลยอ้าง นอกจากนี้เหตุสุดวิสัยที่จะอ้างเพื่อให้หลุดพ้นไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 นั้นจะต้องเป็นเหตุซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ทำสัญญาด้วย ดังนั้น การที่จำเลยยังคงทำสัญญาค้ำประกันลูกประกันดังกล่าวทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าประเทศไทยและประเทศกัมพูชาไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน และพฤติการณ์ที่จำเลยไม่จัดการให้ลูกประกันออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๘ จำเลยทำสัญญาค้ำประกันคนต่างด้าวสัญชาติเขมร ๒ คน ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๑๙ ว่า จำเลยจะจัดการให้คนต่างด้าวหรือลูกประกันดังกล่าวปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกประการ ถ้าผิดสัญญาจำเลยยอมให้ปรับเป็นเงินคนละ ๕๐,๐๐๐ บาท แต่ต่อมาปรากฏว่าลูกประกันดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนดที่ได้รับอนุญาต จำเลยจึงกระทำผิดสัญญาในการที่ไม่จัดการให้ลูกประกันปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้สั่งให้ลูกประกันดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรภายในวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๙ โจทก์สั่งปรับจำเลยและมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระค่าปรับตามสัญญาแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยไม่เคยทำสัญญากับโจทก์ การที่ลูกประกันทั้งสองเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์นั้น เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถส่งตัวบุคคลทั้งสองออกไปนอกราชอาณาจักรได้ เนื่องจากขณะนั้นประเทศกัมพูชาเกิดสงครามกลางเมืองไม่มีสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย แต่ในที่สุดจำเลยก็ได้ดำเนินการให้สหประชาชาติจัดส่งบุคคลทั้งสองไปประเทศที่สามแล้วเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๘ โจทก์และทางราชการไม่เสียหายและหากเสียหายก็ไม่ถึงจำนวนตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยผิดสัญญาประกัน พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าปรับ ๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกำหนดจำนวนทุนทรัพย์มา ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่ตามฟ้องปรากฏว่าจำเลยทำสัญญาค้ำประกันคนต่างด้าว ๒ รายซึ่งเรียกว่าลูกประกัน แยกทำสัญญาค้ำประกันเป็นสองฉบับสำหรับลูกประกันแต่ละราย รายละฉบับ มีข้อสัญญาว่า ถ้าจำเลยผิดสัญญาแต่ละรายยอมให้ปรับรายละ ๕๐,๐๐๐ บาท ดังนั้น ทุนทรัพย์ในคดีนี้จึงแยกออกตามสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับ คือฉบับละ ๕๐,๐๐๐ บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยผิดสัญญาค้ำประกัน และกำหนดค่าปรับ ๖๐,๐๐๐ บาท แม้จะปรับรวมกันมา ก็ยังถือได้ว่ากำหนดค่าปรับภายในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับ ไม่เกินฉบับละ ๕๐,๐๐๐ บาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖ เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๙๒/๒๕๒๔ คดีระหว่างพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหนองจอก กับพวก โจทก์ นางประทุม อักษรมีหรือตุวินันท์ จำเลย ศาลฎีการับวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่า พฤติการณ์ที่ปรากฏในสำนวน ฟังได้หรือไม่ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ซึ่งการพิจารณาปัญหานี้ ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมา ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยส่งลูกประกันออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ได้เพราะเหตุสุดวิสัย เนื่องจากลูกประกันมีสัญชาติเขมรและในระยะเวลาที่เกิดเหตุประเทศกัมพูชาไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘ บัญญัติว่า “คำว่า เหตุสุดวิสัย หมายความว่าเหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดีจะให้ผลพิบัติก็ดี ไม่มีใครจะอาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะเช่นนั้น” แม้คดีข้อเท็จจริงจะฟังเป็นยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมาว่า ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันระหว่างวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๓๑ตุลาคม ๒๕๑๘ ตามระยะเวลาในเอกสารหมาย จ.๒ แต่หน้าที่ของจำเลยที่ต้องจัดการให้ลูกประกันออกไปเสียจากราชอาณาจักรก็มิได้กำหนดในสัญญาว่าต้องส่งกลับประเทศภูมิลำเนาเพียงแต่ให้ออกไปนอกราชอาณาจักรก็เป็นเพียงพอแล้ว อีกทั้งเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์สั่งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา (เอกสารหมาย จ.๑๐ ฉบับลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๙ และลงวันที่ ๒เมษายน ๒๕๑๙) นั้นล่วงเลยระยะเวลาที่ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาขาดความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว จำเลยจึงสามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ กรณีไม่ใช่เป็นเหตุสุดวิสัยตามบทบัญญัติดังกล่าวที่จำเลยจะนำมาอ้างเป็นเหตุเพื่อจะไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญา และการที่จำเลยจะอ้างว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยโดยเหตุสุดวิสัยเพื่อหลุดพ้นไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๙ นั้น เหตุสุดวิสัยที่อ้างจะต้องเป็นเหตุซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ทำสัญญา แต่ในขณะทำสัญญาจำเลยทราบอยู่แล้วว่าประเทศไทยและประเทศกัมพูชาไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันก็ยังมาทำสัญญาค้ำประกันคนต่างด้าว ๒ รายนี้ ลงวันที่ ๒๑กรกฎาคม ๒๕๑๘ อีกจำเลยจะอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยดังกล่าวเพื่อไม่ต้องรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ พฤติการณ์ที่จำเลยไม่จัดการให้ลูกประกันออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน