แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เอกสารที่โจทก์อ้างว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืมตามฟ้อง รายการแรกที่เขียนว่า “ย/ม(จากเล่มเก่า)
390,670” ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าเป็นการกู้ยืม ส่วนที่เขียนว่า “ยืม” ก็เขียนอยู่คนละบรรทัดและเขียนในลักษณะเป็นช่องสำหรับลงรายการทุกรายการที่จะมีต่อไป ไม่ใช่ระบุเฉพาะรายการ 390,670 เท่านั้น และในรายการที่ลงต่อ ๆ มา โจทก์ก็เขียนข้อความประกอบในแต่ละรายการว่าเป็นค่าอะไรบ้าง จึงไม่อาจแปลความคำว่า “ยืม” ตอนบนมาขยายความในช่องรายการแรกได้ ซึ่งข้อความ ย/ม(จากเล่มเก่า)
390,670 นั้น เป็นการแสดงว่าตัวเลข 390,670 นี้ นำมาจากสมุดเล่มเก่า ซึ่งรายการในสมุดเล่มเก่าจะมีกี่รายการ แต่ละรายการเป็นเงินอะไรบ้าง โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏ เมื่อจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ จึงถือไม่ได้ว่าเอกสารดังกล่าวในรายการช่องแรกเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามรายการกู้ยืมที่จำเลยแต่ละคนลงลายมือชื่อไว้ ซึ่งเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง จะให้จำเลยคนที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายการร่วมรับผิดด้วยไม่ได้ โจทก์ฎีกาว่ากรณีเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้น ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นแต่เรื่องกู้ยืม หาได้กล่าวถึงความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมสำหรับสามีภริยาไว้ด้วยไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,108,835 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 540,670 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 126,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 23,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ส่วนท้ายของแต่ละรายการของเอกสารหมาย จ. 1 ซึ่งเป็นเอกสารที่โจทก์อ้างว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืมตามฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ตามเอกสารหมาย จ. 1 รายการแรกที่เขียนว่า “ย/ม (จากเล่มเก่า)
390,670” เป็นรายการกู้ยืมตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่มีข้อความที่ระบุว่าเป็นการกู้ยืมแต่อย่างใด ส่วนที่มีเขียนว่า “ยืม” ตามที่โจทก์ฎีกานั้นเป็นการเขียนอยู่คนละบรรทัดและเขียนในลักษณะเป็นช่องสำหรับลงรายการทุกรายการที่จะมีต่อไป ไม่ใช่ระบุเฉพาะรายการ 390,670 เท่านั้น และในรายการที่ลงต่อ ๆ มา โจทก์ก็เขียนข้อความประกอบในแต่ละรายการอีกว่าเป็นค่าอะไรบ้าง ฉะนั้นจึงไม่อาจแปลความคำว่า “ยืม” ที่อยู่ตอนบนมาขยายความในช่องรายการแรกของบรรทัดนี้ได้ ซึ่งข้อความที่เขียนว่า ย/ม (จากเล่มเก่า) เป็นการแสดงว่า ตัวเลข 390,670 นี้ นำมาจากสมุดเล่มเก่า ซึ่งรายการในสมุดเล่มเก่าจะมีกี่รายการ แต่ละรายการเป็นเงินอะไรบ้าง โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏ เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเอกสารหมาย จ. 1 ช่องรายการนี้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่จะฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปมีว่า สำหรับจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดนั้น จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดหรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ. 1 ในแต่ละรายการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดนั้น ได้แยกพิจารณาว่ารายการใดมีลายมือชื่อจำเลยคนใดก็ให้จำเลยคนนั้นรับผิด ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ชอบแล้ว จะให้จำเลยคนที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายการร่วมรับผิดด้วยไม่ได้ ที่โจทก์ฎีกาว่า กรณีเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดนั้น ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์บรรยายแต่เรื่องการกู้ยืม หาได้กล่าวถึงความรับผิดอย่างหนี้ร่วมสำหรับสามีภริยาไว้ไม่ ฎีกาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.