แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อฟังว่าจำเลยกระทำความผิด จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลย อันเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครอง จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ กับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 10 เดือน ริบของกลาง กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 กันยายน 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และยกคำร้องของผู้ร้อง ริบของกลาง
โจทก์และผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายพีระพัฒน์ ผู้เสียหาย 1 นัด กระสุนปืนถูกแขนขวา หน้าอกขวาได้รับบาดเจ็บหลายแผล เจ้าพนักงานตำรวจพบแว่นกระดาษหมอนรองกระสุนปืนทรงกลมในที่เกิดเหตุจึงยึดเป็นของกลาง พันตำรวจโทอิศราพงษ์ พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วน่าเชื่อว่า จำเลยเป็นคนลอบยิงผู้เสียหายจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับ ศาลชั้นต้นอนุมัติออกหมายจับ ต่อมาจำเลยเข้ามอบตัวพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่า พยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้จำเลยทราบ จำเลยให้การปฏิเสธ ในชั้นสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน จำเลยให้การปฏิเสธ
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ที่ขนำและหน้าบ้านมีหลอดไฟย่อมมีแสงสว่างมองเห็นบริเวณโดยรอบได้ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายถูกยิง ผู้เสียหายอยู่ตรงหมายเลข 2 ห่างจากจุดที่ผู้เสียหายมองเห็นจำเลยยืนถืออาวุธปืนตรงหมายเลข 3 เป็นระยะเพียง 13 เมตร เชื่อว่าที่เกิดเหตุมีแสงสว่างพอมองเห็นกันได้ในระยะ 13 เมตร โดยเฉพาะคนที่เคยเห็นหน้าและรู้จักกันมาก่อน แม้จะเห็นหน้ากันเพียงแวบเดียวก็จำได้แล้วว่าเป็นใคร ซึ่งได้ความจากผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายกับจำเลยเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก เช่นนี้ แม้ในที่เกิดเหตุมีแสงสว่างไม่มากนัก แต่ก็เชื่อว่าผู้เสียหายมองเห็นจำเลยและจำได้ว่าเป็นจำเลยไม่ผิดตัว นอกจากนี้ยังได้ความจากพยานโจทก์ปากนายจักรีและนายชินภัทรเบิกความทำนองเดียวกันว่า หลังจากผู้เสียหายออกจากขนำไปไม่ถึง 1 นาที ก็ได้ยินเสียงปืนดัง 1 นัด และได้ยินเสียงผู้เสียหายร้องว่า ช่วยด้วยถูกยิง พยานทั้งสองวิ่งไปดูที่หน้าบ้าน เห็นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจอดอยู่แต่ไม่พบผู้เสียหายจึงร้องเรียก ผู้เสียหายตอบรับอยู่หลังบ้านจึงไปช่วยยกผู้เสียหายเข้าบ้าน ผู้เสียหายบอกว่าถูกไอ้น้อยยิงซึ่งหมายถึงจำเลย จากนั้นจึงนำผู้เสียหายส่งโรงพยาบาล เห็นว่า เหตุการณ์ที่ผู้เสียหายถูกยิงเพิ่งเกิดขึ้นและผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บแต่ยังมีสติอยู่ได้กล่าวกับพยานทั้งสองในขณะนั้นว่าจำเลยเป็นคนยิง น่าจะกล่าวตามความจริงที่เกิดขึ้น คงไม่มีเวลาคิดบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ร้ายจำเลย หลังเกิดเหตุผู้เสียหายและพยานทั้งสองได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน ได้สาระสำคัญตรงกับที่เบิกความต่อศาล จะแตกต่างกันบ้างก็เพียงรายละเอียด ไม่ถึงกับเป็นพิรุธ ส่วนมูลเหตุที่จำเลยลอบยิงผู้เสียหายก็ได้ความจากผู้เสียหายว่า เมื่อประมาณต้นปี 2548 จำเลยมีเรื่องชกต่อยกับนายพิเชษฐ์ในงานศพ ผู้เสียหายห้ามปรามในฐานะเป็นเพื่อนกัน แต่จำเลยกลับเข้าใจว่า ผู้เสียหายเข้าข้างนายพิเชษฐ์และโกรธเคืองผู้เสียหาย ต่อมาผู้เสียหายกับมารดาเคยไปบ้านป้าจำเลยเพื่อปรับความเข้าใจกันแต่ไม่พบจำเลย หลังจากนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรจนกระทั่งมาเกิดเหตุคดีนี้ พยานโจทก์ปากนายจักรีกับนายชินภัทรเบิกความว่า ทราบเรื่องที่ผู้เสียหายกับจำเลยมีเรื่องบาดหมางกัน น่าเชื่อว่ากรณีดังกล่าวเป็นเหตุจูงใจให้จำเลยลอบยิงผู้เสียหาย ในทางกลับกันผู้เสียหายและพยานทั้งสองต่างก็เป็นเพื่อนกับจำเลยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงน่าสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย ในคืนเกิดเหตุพันตำรวจโทอิศราพงศ์ ดาบตำรวจสหชัยกับพวกได้ออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุปรากฏตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุและถ่ายรูปที่เกิดเหตุในคืนเกิดเหตุ ต่อมาได้ทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุได้ความจากดาบตำรวจสหชัย พยานโจทก์ว่า ในคืนที่ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุได้ตามไปที่บ้านจำเลยแต่ไม่พบ เห็นว่า ในคืนเกิดเหตุจำเลยไม่อยู่ที่บ้านกลับเป็นข้อพิรุธ หากจำเลยมิได้ก่อเหตุลอบยิงผู้เสียหายจริงก็ควรอยู่ที่บ้านเพราะเพิ่งแยกตัวจากขนำบ้านนายจักรีไม่นานและยังได้ความต่อไปว่า ภายหลังดาบตำรวจสหชัยสืบทราบจากนายเขต ผู้ใหญ่บ้านว่าจำเลยไปอยู่ที่อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ดาบตำรวจสหชัยได้ไปติดตามแต่ไม่พบ แสดงให้เห็นว่าหลังจากจำเลยลอบยิงผู้เสียหายแล้วได้หลบหนีไปอยู่อำเภอบางขัน ส่วนที่จำเลยนำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ว่า ในวันเกิดเหตุคดีนี้จำเลยได้ไปรับจ้างกรีดยางพารากับนางละมุล ซึ่งเป็นป้าจำเลย ระหว่างนั้นพักที่บ้านนางละมุลตลอด โดยมีนางละมุลเบิกความสนับสนุนคำของจำเลยนั้น ไม่น่าเชื่อเพราะนางละมุลอาจเบิกความช่วยเหลือจำเลยซึ่งเป็นหลานก็ได้ ทั้งน่าเชื่อว่า หลังจากจำเลยก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายแล้วจึงหลบหนีไปรับจ้างกรีดยางพารากับนางละมุลมากกว่า ข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองยาวยิงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า จึงเป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท มีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 18 กันยายน 2550 คดีของโจทก์ในความผิดดังกล่าว จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน เมื่อฟังว่าจำเลยกระทำความผิด จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว อันเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้นนับว่าเหมาะสมแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครอง จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 10 เดือน ริบของกลาง กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ข้อหาอื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสามศาลให้เป็นพับ