คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้ร้องที่ 1 เคยรับจ้างขนแร่ให้แก่บริษัท จ. มาก่อน และไม่เคยถูกจับกุม แต่ก็มิใช่ว่าการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจะไม่เกิดขึ้น การที่ผู้ร้องที่ 1 กำชับให้จำเลยตรวจสอบใบอนุญาตให้ถูกต้องแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องที่ 1 ทราบว่าอาจมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นได้ และการกำชับดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการควบคุมเบื้องต้นซึ่งเป็นเรื่องภายในระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยเท่านั้น ผู้ร้องที่ 1 ยังมีหน้าที่ต้องคอยควบคุมดูแลมิให้จำเลยขนแร่โดยไม่มีใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย การที่ผู้ร้องที่ 1 ปล่อยปละละเลยให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้องที่ 1 นำรถพ่วงของกลางไปบรรทุกแร่ โดยเป็นผู้ตรวจสอบใบอนุญาตขนแร่เองทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่รู้ว่าใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายมีลักษณะอย่างไร ถือได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นอีกด้วย จึงให้ริบรถพ่วงของกลางและยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 เวลากลางวัน จำเลยมีแร่เหล็ก น้ำหนัก 30 เมตริกตัน ซึ่งเกินกว่าสองกิโลกรัมไว้ในครอบครอง และขนแร่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 105, 108, 148, 154 ริบแร่เหล็ก รถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 85 – 7451 นครราชสีมา และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 85 – 7622 นครราชสีมา ของกลาง ซึ่งเป็นยานพาหนะที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศหนังสือพิมพ์รายวันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งคืนรถพ่วงของกลางแก่ผู้ร้องที่ 1
ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางแก่ผู้ร้องที่ 2
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 108 (ที่ถูก มาตรา 105 ด้วย), 148 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีแร่ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับกระทงละ 73,200 บาท รวมเป็นเงิน 146,400 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 73,200 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบแร่เหล็กและรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 85 – 7622 นครราชสีมา ของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก คืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 85 – 7451 นครราชสีมา ให้แก่ผู้ร้องที่ 2 ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1
ผู้ร้องที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบของกลางเฉพาะแร่เหล็ก คืนรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 85 – 7622 นครราชสีมา แก่ผู้ร้องที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถพ่วงหมายเลขทะเบียน 85 – 7622 นครราชสีมา ของกลาง จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้ร้องที่ 1 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 ผู้ร้องที่ 1 มอบหมายให้จำเลยนำรถพ่วงของกลางไปขนแร่เหล็กที่บ้านผาน้อย ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่อนำไปส่งให้บริษัทจงเฉิงไมนิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างนำรถพ่วงของกลางไปชั่งน้ำหนัก เจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจใบอนุญาตขนแร่ แต่จำเลยมีเพียงสำเนาใบอนุญาตขนแร่ ซึ่งมิใช่ใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดี มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องที่ 1 ไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นหรือไม่ ผู้ร้องที่ 1 มีนายวิโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจของผู้ร้องที่ 1 เบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2552 ผู้ร้องที่ 1 ได้รับการติดต่อจากห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามเคกรุ๊ป โดยนายกิตติพงษ์ ให้ผู้ร้องที่ 1 ไปขนแร่ที่จังหวัดเลย ซึ่งผู้ว่าจ้างเคยว่าจ้างผู้ร้องที่ 1 มาก่อน ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2552 ผู้ร้องที่ 1 มอบหมายให้จำเลยนำรถพ่วงของกลางไปบรรทุกแร่ โดยผู้ร้องที่ 1 ได้กำชับจำเลยว่าให้ดูใบอนุญาตขนแร่ให้ครบถ้วนถูกต้อง เห็นว่า แม้ผู้ร้องที่ 1 เคยรับจ้างขนแร่ให้แก่บริษัทจงเฉิงไมนิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด มาก่อน และไม่เคยถูกจับกุม แต่ก็มิใช่ว่าการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจะไม่เกิดขึ้น การที่ผู้ร้องที่ 1 กำชับให้จำเลยตรวจสอบใบอนุญาตขนแร่ให้ถูกต้อง แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องที่ 1 ทราบว่าอาจมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นได้ และการกำชับดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการควบคุมเบื้องต้นซึ่งเป็นเรื่องภายในระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยเท่านั้น ผู้ร้องที่ 1 ยังมีหน้าที่ต้องคอยควบคุมดูแลมิให้จำเลยขนแร่โดยไม่มีใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย และยังได้ความจากนายวิโรจน์ เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า พยานรู้ว่าการขนแร่ต้องมีใบอนุญาตขนย้ายซึ่งต้องเป็นต้นฉบับหรือสำเนาซึ่งมีคำรับรองถูกต้องของเจ้าพนักงานกำกับไว้ทุกครั้ง กับต้องขนย้ายภายในเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนด แต่ไม่ปรากฏว่านายวิโรจน์แจ้งให้จำเลยทราบถึงเรื่องดังกล่าว ทั้งจำเลยเบิกความว่า ในการขนแร่ทุกครั้งจะได้รับสำเนาใบอนุญาตขนแร่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่รู้ว่าใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องมีลักษณะอย่างไร ดังนี้ การที่ผู้ร้องที่ 1 ปล่อยปละละเลยให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้องที่ 1 นำรถพ่วงของกลางไปบรรทุกแร่โดยเป็นผู้ตรวจสอบใบอนุญาตขนแร่เอง ทั้งๆ ที่จำเลยไม่รู้ว่าใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายมีลักษณะอย่างไร ถือได้ว่าผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นอีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้คืนรถพ่วงของกลางแก่ผู้ร้องที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ริบรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 85 – 7622 นครราชสีมา ของกลาง และยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share