แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่านายหน้าในการขายสินค้าที่ได้จ่ายไปจริงนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
ค่าชดเชยความเสียหายเนื่องจากสินค้าที่ขายให้แก่ผู้ซื้อมีคุณภาพต่ำผิดข้อตกลงเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อหากำไร นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
ค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่ง ป.รัษฎากร จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้
เมื่อรายจ่ายค่าซื้อที่ดินเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนอันเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่ง ป.รัษฎากรค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดินจึงไม่มีอำนาจนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
รายจ่ายค่ารับเหมาปูปล็อกประดับพื้นเป็นรายจ่ายเพื่อทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน มิใช่รายจ่ายเพื่อการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม จึงถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งป.รัษฎากร จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้กาว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี เพราะจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การแต่โจทก์มิได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าขาดนัด
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินเฉพาะในส่วนที่เป็นค่านายหน้าและค่าซ่อมรั้ว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ‘โจทก์นำสืบว่า โจทก์เริ่มประกอบกิจการค้าแผนเหล็กเคลือบดีบุกเมื่อ พ.ศ. 2519 และเสียภาษีโดยถูกต้อง ต่อมาปี พ.ศ. 2526 เจ้าพนักงานประเมินได้เรียกตรวจสอบบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2522-2524 ผลการตรวจสอบสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีพ.ศ. 2522 เจ้าพนักงานประเมินไม่ยอมให้นำค่านายหน้า 3 ล้านบาทเศษและค่าดอกเบี้ย 5,000 บาท มาคิดหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ ปีพ.ศ. 2523เจ้าพนักงานประเมินไม่ยอมให้นำค่านายหน้าและค่าขนส่งประมาณ5 ล้านบาทเศษ ค่าดอกเบี้ย 35,000 บาท ค่าซ่อมรั้ว 20,000 บาท และค่าหุ้นที่ลดลงมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิปีพ.ศ. 2524 เจ้าพนักงานประเมินไม่ยอมให้นำค่านายหน้าและค่าขนส่ง 6 ล้านบาทเศษ ค่าดอกเบี้ย 1 แสนบาทเศษ ค่าโอนที่ดินและค่าเสียหาย 2 แสนบาทเศษมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกเว้นเฉพาะค่าดอกเบี้ยและค่าหุ้นที่ลดลงซึ่งโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินถูกต้องแต่ลดเงินเพิ่มให้ร้อยละ 50 โจทก์เห็นว่าการประเมินและการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ เพราะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นั้นโจทก์ได้จ่ายไปจริงกล่าวคือ สำหรับค่านายหน้าในปีพ.ศ. 2521 กองตรวจภาษีอากร กรมสรรพากรยินยอมให้นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับปีพ.ศ.2522 โจทก์จ่ายค่านายหน้าให้แก่บุคคลที่เป็นนายหน้ารวม 33Sคน และหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งสรรพากรแล้วปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 52 ถึง 56 สำหรับปี พ.ศ. 2523 – 2524 ดจทก์ทำสัญญาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพลอยก่อสร้างเป็นนายหน้าปรากฏตามเอกสาร จ.6 ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพลอยก่อสร้างได้ออกใบเสร็จรับเงินให้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.14, จ.17 และตามงบดุลหมาย จ.18 ค่าจ้างในการขนส่งนั้นในปี พ.ศ. 2523, 2524 โจทก์ได้จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพลอยก่อสร้างเป็นผู้ขนสินค้าส่งให้แก่ลูกค้าเพราะยอดขายสูงขึ้นโดยมีรถบรรทุกเพียงคันเดียวขนส่งไม่ทัน ใบเสร็จค่าขนส่งปี พ.ศ. 2523 รวมอยู่ในเอกสาร จ.9 ถึง จ.14 ปีพ.ศ. 2524 อยู่ในเอกสารหมาย จ.17 แผ่นที่2 ในปีพ.ศ. 2523 โจทก์ซ่อมรั้วเพราะถูกรถเฉี่ยวชนเป็นเงิน25,000 บาท ปรากฏตามภาพถ่าย หมาย จ.19 สำหรับค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดินซึ่งเดิมโจทก์ซื้อมาจะขายต่อมาจะทำเป็นโกดังแต่ก็ไม่ได้สร้าง นอกจากนั้นปรากฏว่าสินค้าที่ส่งมาจากประเทศเกาหลีไม่ตรงตามสัญญาโจทก์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกค้า 180,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.22 จ.23 ต่อมาได้รับชดใช้จากประเทศเกาหลีเมื่อปีพ.ศ. 2525 จึงนำลงบัญชีเป็นรายรับของปี พ.ศ. 2525 สำหรับเรื่องค่าหุ้นลดลงนั้น โจทก์ได้ซื้อหุ้นบริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย จำกัด เมื่อปีพ.ศ. 2520, 2524แต่ปรากฏว่าในวันสิ้นปีพ.ศ. 2523, 2524 หุ้นบริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย จำกัด มีราคาตกลง ปรากฏในงบดุล ตามเอกสารหมาย จ.16 จ.18
จำเลยนำสืบว่า รายจ่ายสำหรับค่านายหน้าในปี พ.ศ. 2522, 2523และ 2524 นั้น ไม่น่าเชื่อว่าจะได้มีการจ่ายเงินค่านายหน้าเพราะลูกค้าโจทก์รายใหญ่ ๆ มีประมาณ 10 บริษัท บริษัทเหล่านี้ชี้แจงว่าการซื้อขายไม่มีนายหน้า เงินค่านายหน้าที่จ่ายให้แก่บุคคล 33 คน ก็จ่ายวันเดียวกันคือวันที่ 28 ธันวาคม 2522ส่วนที่จ่ายให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพลอยก่อสร้างก็ตรวจสอบไม่ได้ แต่จากการตรวจสอบแบบแสดงรายการเสียภาษีของห้างหุ้นส่วนจำกัดพลอยก่อสร้างไม่ปรากฏว่ามีรายได้จากค่านายหน้า สำหรับค่าขนส่งนั้นปรากฏว่าในปีพ.ศ. 2522 ไม่มีรายจ่ายค่าขนส่ง ในปีพ.ศ. 2523, 2524 ปรากฏว่ามีการซื้อรถบรรทุกเพิ่มอีก 1 คัน และมีรายจ่ายค่าซ่อมและค่าน้ำมันยานพาหนะสูงมาก จากการตรวจสอบบริษัทแผนเหล็กวิลาสไทย จำกัด ซึ่งขายแผ่นเหล็กเคลือบดีบุกให้กับโจทก์ ปรากฏว่าาผู้ขายจะนำแผ่นเหล็กส่งให้แก่ลูกค้าของโจทก์โดยตรง มิได้นำมาเก็บที่โกดังของโจทก์ก่อน การซื้อที่ดินหรือการซื้อหุ้นถือเป็นการลงทุนจะนำมาหักเป็นรายจ่ายไม่ได้ ดังนั้นค่าธรรมเนียมในการโอนหรือค่าของหุ้นที่ลดลงจึงนำมาหักเป็นรายจ่ายไม่ได้ สำหรับที่ดินเจ้าพนักงานถือเป็นทรัพย์สินได้หักค่าเสื่อมราคาแล้ว สำหรับค่าซ่อมแซมนั้นปรากฏว่าที่จริงเป็นค่าตกแต่งสำนักงานจึงนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้ ส่วนค่าเสียหายปรากกหลักฐานทางบัญชีเพียงว่าบริษัทเกียรติฟ้าจำกัด ลูกค้าโจทก์ได้รับแผ่นเหล็กวิลาสไว้เท่านั้นไม่ปรากฏมีการชดใช้ค่าเสียหายค่าเสียหายที่ได้จากประเทศเกาหลีก็เป็นคนละปีจึงนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้
พิเคราะห์แล้ว สำหรับเรื่องดอกเบี้ยปรากฏในคำฟ้องข้อ 4.2ว่าโจทก์ไม่ติดใจ นอกจากนั้นปรากฏจากคำเบิกความของนายวรวิทย์สุธีรชัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า สำหรับประเด็นในเรื่องดอกเบี้ยทั้งหมดและค่าหุ้นที่ลดลงนั้นโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์ ดังนั้นประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณเป็นกำไรสุทธิที่เป็นปัญหาจึงมีเฉพาะค่านายหน้า ค่าขนส่ง ค่าเสียหาย ค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินและค่าซ่อมแซมรั้วว่า โจทก์จะนำมาถือเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิได้หรือไม่
ปัญหาเรื่องค่านายหน้าสำหรับปี พ.ศ. 2522 จำนวน 3,615,1322.61บาทซึ่งจำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ได้จ่ายค่านายหน้าดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย และค่านายหน้าสำหรับปีพ.ศ. 2523 จำนวน2,011,886.05 บาท กับค่านายหน้าสำหรับปีพ.ศ. 2524 จำนวน2,427,957.58 บาท ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่าได้จ่ายไปจริงนั้นปรากฏจากคำเบิกความของนายสมชัย อภิวัฒนาพรพยานโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร 5 ว่าได้เคยตรวจสอบภาษีอากร 5 ว่าได้เคยตรวจสอบบัญชีของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชี ปีพ.ศ. 2518-2521 และได้ยินยอมให้โจทก์นำค่านายหน้ามาคิดหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้แสดงว่าจำเลยยอมรับว่ากิจการค้าของโจทก์มีค่านายหน้า นอกจานั้นยังปรากฏจากคำเบิกความของนายพยม รวมเจริญ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 6พยานจำเลยว่า ค่านายหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งสรรพากรแล้วถือเป็นหลักฐานในการจ่ายค่านายหน้าได้ ซึ่งในข้อเท็จจริงสำหรับค่านายหน้า ปีพ.ศ. 2522 ซึ่งโจทก์ได้หักภาษีไว้ ณที่จ่ายและนำส่งสรรพากรถูกต้องแล้วจึงต้องถือว่าค่านายหน้าสำหรับปีพ.ศ. 2522 เป็นค่าใช้จ่ายที่นำมาคำนวณกำไรสุทธิได้ดังที่ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยไว้ ส่วนค่านายหน้าปีพ.ศ.2523 และ 2524 นั้น เห็นว่า เมื่อเป็นที่ยอมรับว่ากิจการของโจทก์เป็นกิจการค้าที่จะต้องมีหรืออาศัยนายหน้าแล้ว จะอ้างได้อย่างไรว่ากิจการของโจทก์ในปีต่อมาคือปีพ.ศ. 2523และ 2528 ไม่จำเป็นจะต้องมีค่านายหน้า เพราะเป็นกิจการที่มีสัญญาเป็นการผูกขาด นอกจากนั้นฝ่ายโจทก์ยังได้อ้างสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญาค่าบำเหน็จนายหน้าปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6และสำเนาภาพถ่ายใบเสร็จรับเงินค่านายหน้าจากห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพลอยก่อสร้างมาเป็นหลักฐาน ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 ถึงจ.14 และตามสัญญาดังกล่าวค่านายหน้าที่คิดให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพลอยก่อสร้างก็เพียงร้อยละ 1 ซึ่งน้อยกว่าที่เสียค่านายหน้าให้แก่บุคคลธรรมดาในปีพ.ศ. 2522 ในอัตราร้อยละ 3 เสียอีก หากจะพิเคราะห์ถึงเหตุผลแล้วปรากฏจากคำเบิกความของนายประพนธ์ ลิ้มธรรมมหิทร เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร5 พยานจำเลยว่า กิจการของโจทก์ค้าขายเป็น 100 ล้านบาท การเสียค่านายหน้าในการขายสินค้าเพียงร้อยละ 1 นับว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ผิดปกติวิสัย ส่วนในข้อที่จำเลยอ้างว่า ค่านายหน้าสำหรับปีพ.ศ. 2522 ลงจ่ายในวันที่ 30 ธันวาคม 2522 ในวันเดียวกันทั้งหมดนั้นก็ปรากฏจากคำให้การของนายประพนธ์พยานจำเลยเองว่าค่านายหน้านั้นตามหลักบัญชีอาจจะมาหักในวันสิ้นเดือนหรือวันสิ้นปีก็ได้ส่วนในข้อที่ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพลอยก่อสร้างมิได้นำค่านายหน้าที่ได้รับไปลงบัญชีและเสียภาษีเงินได้นั้นเห็นว่า เป็นเรื่องของห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพลอยก่อสร้าง มิใช่เป็นหน้าที่ของโจทก์จึงมิใช่เหตุผลที่จะนำมาเป็นข้ออ้างว่า มิได้มีการจ่ายค่านายหน้าให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพลอยก่อสร้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้เสียค่านายหน้าไปจริงในรอบระยะเวลาบัญชี ปีพ.ศ. 2522, 2523 และ 2524 จึงชอบที่จะนำมาคิดหักคำนวณเป็นกำไรสุทธิได้ อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาในเรื่องค่าขนส่ง สำหรับปีพ.ศ. 2523 จำนวน3,017,979.09 บาท และสำหรับปีพ.ศ. 2524 จำนวน 3,465,847.52บาท นั้นพิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าในรอบปีพ.ศ. 2522 โจทก์มิได้เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งเลยทั้งนี้เพราะโจทก์มีรถยนต์บรรทุกสำหรับใช้ในการขนส่ง 1 คัน และในปีพ.ศ. 2522 ค่าใช้จ่ายสำหรับรถยนต์บรรทุดดังกล่าววึ่งได้แก่ค่าน้ำมันและค่าซ่อมคิดเป็นเงินเพียง 17,932 บาท แต่ในปีพ.ศ. 2523 ปรากฏว่าค่ใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์บรรทุกสูงขึ้นกว่า 10 เท่าตัวเป็นจำนวนเงิน 189,047 บาท และในปีพ.ศ. 2524 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์บรรทุกของโจทก์สูงกว่า 30 เท่าตัวคิดเป็นเงินถึง318,411.38 บาท กับมีการซื้อรถยนต์บรรทุกเพิ่มอีก:1 คันแสดงว่ามีการใช้รถยนต์บรรทุกของโจทก์ในการส่งของมากขึ้น10 ถึง 30 เท่าตัว นอกจากนั้นยังปรากฏจากคำให้การของนายประเสริฐ อภิรัตน์เกษม ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทร่วมวัฒนาอุตสาหกรรมจำกัด ต่อเจ้าพนักงานประเมินว่า บริษัทร่วมวัฒนาอุตสาหกรรม จำกัดเป็นลูกค้าผู้สั่งซื้อแผ่นเหล็กเคลือบดีบุกจากโจทก์ เพราะจะซื้อโดยตรงจากบริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตไม่ได้ จะต้องซื้อผ่านจากโจทก์ แต่รถยนต์บรรทุกที่นำแผ่นเหล็กเคลือบดีบุกไปส่งนั้นเป็นรถของบริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย จำกัด โดยตรง ซึ่งนับว่าสมต่อเหตุผลเพราะเมื่อโจทก์จะต้องสั่งซื้อแผ่นเหล็กเคลือบดีบุกจากบริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย จำกัดให้แก่ลูกค้าอีกต่อหนึ่งโดยเหตุผลก็น่าจะให้บริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย จำกัดส่งสินค้าให้กับบริษัทที่เป็นลูกค้าของโจทก์โดยตรง ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้นำมาส่งที่โกดังโจทก์ก่อนแล้วโจทก์จึงว่าจ้างห้างหุ้นส่วนศรีพลอยก่อสร้างขนส่งอีกทอดหนึ่ง และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อได้ตรวจดูหนังสือสัญญาระหว่างโจทก์ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพลอยก่อสร้างตามเอกสรหมาย จ.6 แล้วก็ไม่ปรากฏว่าได้มีข้อตกลงในเรื่องการขนส่งแผ่นเหล็กเคลือบดีบุกแต่ประการใดมีแต่ใบเสนอราคาค่าขนส่งของ ร.ส.พ. ของห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพลอยก่อสร้าง ตามเอกสารหมาย จ.27 ดังนั้น ข้อเท็จจริงฟังจึงไม่ได้ว่าได้มีการว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพลอยก่สอร้างให้เป็นผู้ขนส่งแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก ค่าใช้จ่ายในการขนส่งจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ต้องห้ามมิให้นำมาคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9)อุทธรณ์โจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับรายจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้แก่บริษัทเกียรติฟ้าจำกัด สำหรับปีพ.ศ. 2524 เป็นเงิน 184,808 บาทนั้น นอกจากคำเบิกความของนายวรวิทย์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า ในรอบระยะเวลาบัญชี ปีพ.ศ. 2524 โจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่บริษัทเกียรติฟ้า จำกัดแล้ว โจทก์ยังได้อ้างสำเนาเอกสารอีก 2 ฉบับ คือ เอกสารหมาย จ.22 และ จ.23 มาเป็นหลักฐานด้วยสำหรับเอกสารหมาย จ.22 เป็นหนังสือนำส่งเช็คธนาคารกรุงเทพหมายเลข 1372524 จำนวนเงิน 184,808 บาท เพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทเกียรติฟ้า จำกัด ส่วนเอกสารหมาย จ.23 เป็นใบแจ้งนำเข้าบัญชีของธนาคารกรุงเทพ ว่าไ้ดนำเงินจากธนาคารในประเทศเกาหลีจำนวน S86,113.36 บาทเข้าบัญชีของโจทก์แล้ว โจทก์มิได้มีแค่เพียงเอกสารที่มีข้อความว่า บริษัทเกียรติฟ้า จำกัดได้รับแผ่นเหล็กวิลาสที่ฝากไว้อย่างที่จำเลยอ้างเท่านั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่บริษัทเกียรติฟ้าจำกัด เป็นเงิน 184,808 บาท เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อหากำไรโจทก์จึงนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิได้ อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินสำหรับปีพ.ศ. 2524 เป็นเงิน259,245.52 บาทนั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายวรวิทย์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า โจทก์ซื้อที่ดินมาเพื่อจะขายและต่อมาจะนำมาเป็นที่ก่อสร้างโกดัง แต่ก็มิได้ก่อสร้างขณะนี้ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ การจ่ายเงินซื้อที่ดินดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน จึงต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา65 ตรี (5) เมื่อการจ่ายเงินซื้อที่ดินเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามมิให้นำมาคำนวณกำไรสุทธิแล้ว ค่าธรรมเนียมในการโอนจึงไม่อาจนำมาหักเพื่อคำนวณกำไรสุทธิได้อุทธรณ์โจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนรายจ่ายค่าซ่อมแซมรั้วในปีพ.ศ. 2523 เป็นเงิน 25,100บาท นั้นเจ้าพนักงานประเมินไม่ยอมให้นำมาหักเป้นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิเนื่องจากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินพบว่าเงินจำนวน 25,100 บาท นั้น โจทก์จ่ายเป็นค่ารับเหมาปูบล็อกประดับพื้นหาใช่เป็นค่าซ่อมแซมรั้วไม่ ปรากฏว่าในชั้นศาลโจทก์ก็มิได้นำสืบหรือแสดงหลักฐานให้เห็นว่าการจ่ายเงิน 25,100 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรั้ว โจทก์คงมีแต่คำเบิกความของนายวรวิทย์ ผู้รับมอบอำนาจว่ารั้วถูกรถเฉี่ยวชนต้องเสียค่าซ่อม 25,100 บาท กับอ้างภาพถ่ายกำแพงรั้วมาแสดงเท่านั้น จึงไม่อาจจะรับฟังว่าการจ่ายเงิน25,100 บาท เป็นการจ่ายเพื่อซ่อมแซมรั้ว ข้อเท็จจริงน่าเชื่อเงินจำนวน 25,100 บาท เป็นรายจ่ายค่ารับเหมาปูบล็อกประดับพื้นจากที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบการจ่ายเงินดังกล่าวจึงมีสัญญาเป็นรายจ่ายเพื่อทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินมิใช่รายจ่ายเพื่อการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม จึงเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามมิให้นำมาคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 (ตรี) (5)แห่งประมวลรัษฎากร อุทธรณ์จำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถินการประเมินตามแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มที่ 1160/2/00344 และที่1160/2/00345 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2526 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 107ข./2529/1 และเลขที่ 107ค/2529/1 เฉพาะในส่วนที่เป็นค่านายหน้าในรอบระยะเวลาบัญชี 2523 และ 2524 ด้วยกับในส่วนที่จ่ายเป็นค่าทดแทนความเสียหายให้แก่บริษัทเกียรติฟ้าจำกัด ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2524 โดยให้นำมาคิดเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิได้ และให้ยกคำขอสำหรับรายจ่ายค่าซ่อมแซมรั้วในรอบระยะเวลาบัญชี ปีพ.ศ. 2523 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ของทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ’.