คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8856/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเดิมจำเลยที่ 1 เคยฟ้องขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ผู้ร้องลงลายมือชื่อไว้โดยยังไม่กรอกข้อความ ต่อมาจำเลยทั้งกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้ตนเอง โดยผู้ร้องไม่ยินยอมศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 มิได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจและฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เมื่อผู้ร้องอ้างว่าทรัพย์เป็นของผู้ร้องอีกและจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นคู่ความในคดีเดิม ดังนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมย่อมผูกพันผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความกันมาแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องอีกหาได้ไม่ ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 32,317,074.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินที่เป็นประกันรวมทั้งที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 1128 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยทั้งสองเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนแก่ผู้ร้อง
โจทก์ให้การขอให้ยกคำร้องขอ
จำเลยที่ 1 โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ
จำเลยที่ 2 คัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ จำเลยที่ 1 โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ในประเด็นที่ว่าคดีนี้เป็นเพียงซ้ำกับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2547 หรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง (ที่ถูกยกคำร้องขอของผู้ร้อง) ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีอำนาจร้องขัดทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า คดีเดิมจำเลยที่ 1 เคยฟ้องขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ผู้ร้องลงลายมือชื่อไว้โดยยังไม่กรอกข้อความ ต่อมาจำเลยที่ 1 กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้ตนเองโดยผู้ร้องไม่ยินยอม ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 มิได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ผู้ร้องลงลายมือชื่อและฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ร้องโอนที่ดินชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และให้ขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2547 เมื่อผู้ร้องในคดีนี้อ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องอีกและจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นคู่ความในคดีเดิม ดังนั้น คำพิพาทษาศาลฎีกาในคดีเดิมย่อมผูกพันผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความกันมาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ที่ผู้ร้องอ้างในฎีกาว่าแม้จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่คดีดังกล่าวก็นานมาแล้ว และหลังจากจำเลยที่ 1 ชนะคดี จำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ผู้ร้องเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยตลอดนั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวล้วนไม่อาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสียซึ่งความมีผลผูกพันของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ ผู้ร้องจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องอีกหาได้ไม่ ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share