คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4130/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เกิดเหตุรถชนแล้วจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถคู่กรณีหลบหนีไปส่อแสดงพิรุธว่าเป็นฝ่ายกระทำผิดจริง และยังต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 78 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แม้ฝ่ายโจทก์จะมิได้นำสืบ น. ซึ่งเป็นพยานคู่กับโจทก์ที่ 1ในคราวเดียวกันก็ดี แต่ศาลย่อมใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักคำพยานดังกล่าวแล้วได้กฎหมายมิได้บัญญัติห้ามมิให้รับฟัง ร้อยตำรวจเอกป.เป็นพนักงานสอบสวนผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุการพบร่องรอยตลอดจนเศษวัสดุต่าง ๆ ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุจึงเป็นประจักษ์พยานไม่ใช่เป็นพยานบอกเล่า สำเนาใบเสร็จรับเงินเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 1 ที่โรงพยาบาลออกให้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามเอกสารดังกล่าวจริง ดังนี้แม้ฝ่ายโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 แต่กรณีเห็นได้ว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ฉะนั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานข้างต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงาน และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคตด้วยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 443 วรรคสอง และมาตรา 444 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้ ผู้ทำละเมิดจึงต้องใช้ค่าขาดรายได้อันเป็นค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์ทำมาหาได้อีกส่วนหนึ่ง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 กล่าวคือ ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์เป็นเงิน 40,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 29,564 บาทค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนเพราะทุพพลภาพเป็นเงิน 60,000 บาท และค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานเป็นเงิน 120,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 249,564 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กลับพิพากษาให้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 209,564 บาท กรณีเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเกิดจากความผิดพลาดหรือผิดหลงในการรวมคำนวณยอดค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยที่แก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ให้ถูกต้องได้ ส.มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการทำงานของคนขับรถของจำเลยที่ 1 หากคนขับไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับส.สามารถเสนอเรื่องให้กรรมการของจำเลยที่ 1 ลงโทษได้นอกจากนี้ด้านข้างของรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุระบุตัวอักษรชื่อย่อของจำเลยที่ 1 อีกทั้งภายหลังเกิดเหตุ ส. พนักงานของจำเลยที่ 1 ยังไปติดต่อขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ถูกกระทำละเมิด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และได้กระทำไปในทางการที่จ้าง จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะเกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 เท่านั้น และมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เพราะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแต่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาของทุนทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ให้แก่จำเลยทั้งสองทั้งหมด

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน สงขลา ฝ-0964 ราคา 58,000 บาท โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นสามีภรรยาและเป็นบิดามารดาของนายนริศรผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายและขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันตามที่จำเลยที่ 1 มอบหมายและสั่งการให้เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0052 ชุมพร เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2534 จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ซึ่งจำเลยที่ 2 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ กล่าวคือ จำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดในลักษณะที่น่าหวาดเสียว แล่นแซงรถยนต์คันหน้าล้ำเข้าไปในทางเดินรถที่แล่นสวนทางมา ขณะเดียวกันผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ โดยมีโจทก์ที่ 1นั่งซ้อนท้ายแล่นสวนทางมาเป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยที่ 2 ขับเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ข้างต้นในทางเดินรถของรถจักรยานยนต์ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสและรถจักรยานยนต์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 673,406 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 397,031 บาท และโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 371,350 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 653,000 บาท 385,000 บาท 360,000 บาท ตามลำดับนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 การขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันของจำเลยที่ 2 หาใช่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ จำเลยทั้งสองดำเนินกิจการขนส่งน้ำมันร่วมกันในฐานะเป็นหุ้นส่วน เหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความประมาทของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 359,564 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 205,000 บาท และโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวตามลำดับนับแต่วันที่ 18 เมษายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคนดังกล่าวจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 209,564 บาท แก่โจทก์ที่ 1กับจำนวนเงิน 145,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และจำนวนเงิน 120,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวตามลำดับนับแต่วันที่ 18 เมษายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้คงมีปัญหาวินิจฉัยคดีของโจทก์ที่ 1 ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะเกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 เท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0052 ชุมพร เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนสงขลา ฝ-0964 เป็นเหตุให้นายนริศร เอียดแก้ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตาย และโจทก์ที่ 1 กับนางสาวประนอมแสงอินทร์ ซึ่งนั่งซ้อนท้ายมาด้วยกันได้รับบาดเจ็บ โดยโจทก์ที่ 1 แขนขวาลีบต้องพิการไปตลอดชีวิต คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นลำดับแรกว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 หรือไม่เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกประเสริฐพยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่และไม่มีส่วนได้เสียกับคู่กรณีฝ่ายใดนับได้ว่าเป็นพยานคนกลาง ถ้อยคำจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ประกอบกับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุที่พนักงานสอบสวนได้ทำไว้นับว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงจุดชนว่าอยู่ในทางเดินรถของฝ่ายใด เพราะในที่เกิดเหตุจะต้องปรากฏร่องรอยต่าง ๆ ตลอดจนเศษวัสดุที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุย่อมใช้เป็นหลักฐานประกอบคดีได้เป็นอย่างดี เว้นแต่จะได้ความว่าพนักงานสอบสวนได้ทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ถูกต้องอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเข้าข้างคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่คดีนี้ไม่ปรากฏพฤติการณ์เช่นที่กล่าวแล้ว นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถคู่กรณีกลับหลบหนีไปส่อแสดงพิรุธว่าเป็นฝ่ายกระทำผิดจริง และยังต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 78 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 อีกด้วย ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า ฝ่ายโจทก์ดำเนินคดีโดยไม่สุจริต เพราะเพิ่งนำนางสาวประนอมซึ่งเป็นพยานคู่กับโจทก์ที่ 1 เข้าเบิกความเป็นพยานภายหลังจากที่โจทก์ที่ 1 เบิกความไปแล้วเป็นเวลานานถึง 1 ปีเศษจึงรับฟังไม่ได้ เห็นว่า แม้ฝ่ายโจทก์จะมิได้นำสืบนางสาวประนอมซึ่งเป็นพยานคู่กับโจทก์ที่ 1 ในคราวเดียวกันก็ดีแต่ศาลย่อมใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักคำพยานดังกล่าวแล้วได้ กฎหมายหาได้บัญญัติห้ามมิให้รับฟังแต่อย่างใดไม่ และกรณีเห็นได้ว่านางสาวประกอบไม่ทราบร่องรอยและเศษวัสดุต่าง ๆ ในที่เกิดเหตุ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าร้อยตำรวจเอกประเสริฐเป็นพยานรับคำบอกเล่ารับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่าร้อยตำรวจเอกประเสริฐเป็นพนักงานสอบสวนผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุการพบร่องรอยตลอดจนเศษวัสดุต่าง ๆ ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ จึงเป็นประจักษ์พยาน หาใช่เป็นพยานบอกเล่าดังที่จำเลยทั้งสองอ้างไม่ พยานหลักบานของฝ่ายโจทก์ดังกล่าวแล้วย่อมมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของ`จำเลยที่ 2 ประเด็นข้อต่อไปมีว่า โจทก์ที่ 1 เสียหายเพียงใด จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่ารักษาพยาบาลจำนวน 29,564 บาทตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ฝ่ายโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสองก่อนระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงต้องห้ามมิให้รับฟังเอกสารข้างต้น นอกจากนี้ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนค่าเสียหายค่าขาดรายได้โจทก์ที่ 1 ได้รับชดเชยในส่วนอื่นแล้ว จึงไม่ควรกำหนดให้อีก เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่ (2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้น ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 88 และ 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญ ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้” เอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 เป็นสำเนาใบเสร็จรับเงินเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 1 ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ออกให้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามเอกสารดังกล่าวจริง ดังนี้ แม้ฝ่ายโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยทั้งสองตามที่กฎหมายบัญญัติกรณีเห็นได้ว่าเป็นพยานหลักบานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในเรื่องค่ารักษาพยาบาลฉะนั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานข้างต้นได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวมา การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว สำหรับค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน และค่าเสียหายค่าขาดรายได้จากการทำมาหาได้นั้น เห็นว่า ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงาน และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคตด้วย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 443 วรรคสอง และมาตรา 444 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้ ผู้ทำละเมิดจึงต้องใช้ค่าขาดรายได้อันเป็นค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์ทำมาหาได้อีกส่วนหนึ่ง หาใช่ได้รับชดเชยส่วนอื่นแล้วดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ อีกทั้งค่าเสียหายทั้งสองจำนวนดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดจำนวนลดลงจากศาลชั้นต้นนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขแต่อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 กล่าวคือ ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์เป็นเงิน 40,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน29,564 บาท ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนเพราะทุพพลภาพเป็นเงิน 60,000 บาท และค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานเป็นเงิน 120,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 249,564 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กลับพิพากษาให้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 209,564 บาท กรณีเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเกิดจากความผิดพลาดหรือผิดหลงของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในการรวมคำนวณยอดค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ซึ่งข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยที่แก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนนี้ให้ถูกต้องได้ประเด็นข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 โดยแบ่งรายได้กันตามหนังสือสัญญาหุ้นส่วนเอกสารหมาย ล.2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างนั้น เห็นว่า คดีได้ความจากคำเบิกความของนายสมพงษ์พยานจำเลยทั้งสองว่า นายสนั่นมีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการทำงานของคนขับรถของจำเลยที่ 1หากคนขับไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับนายสนั่นสามารถเสนอเรื่องให้กรรมการของจำเลยที่ 1 ลงโทษได้ นอกจากนี้ด้านข้างของรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุระบุตัวอักษรย่อว่า ซี เอ หมายถึงชื่อย่อของจำเลยที่ 1 อีกทั้งปรากฏว่าภายหลังเกิดเหตุนายสนั่นพนักงานของจำเลยที่ 1 ยังไปติดต่อขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นางสาวประนอมพฤติการณ์ดังกล่าวแล้วส่อแสดงว่าจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ส่วนที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาหุ้นส่วนกันนั้น กรณีน่าเชื่อว่าเป็นการสมรู้อำพรางต่อบุคคลภายนอกเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิดในฐานะนายจ้างเท่านั้น ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างสัญญาหุ้นส่วนย่อมฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างชอบแล้วอนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เพราะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแต่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาของทุนทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงยังไม่ถูกต้องพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 249,564 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราและระยะเวลาตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้แก่โจทก์ที่ 1 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาจำนวน 2,000 บาทแทนโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และให้ศาลชั้นต้นคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ให้แก่จำเลยทั้งสองทั้งหมด

Share