แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อจากโจทก์อยู่ จำเลยที่ 3 ได้คิดบัญชีกับโจทก์แล้วได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้มอบอำนาจให้ทำแทน แต่มีพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เชิดใช้จำเลยที่ 3ออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตลอดมา จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการก็ต้องรับผิดร่วมด้วย ส่วนจำเลยที่ 3แม้จะเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ก็ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการในกิจการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้นด้วย ตามมาตรา 1088
จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อให้โจทก์ด้วยเช็คซึ่งจำเลยที่ 3เป็นผู้สั่งจ่าย แต่เช็คขึ้นเงินไม่ได้ ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้มาคิดบัญชีกับเจ้าหน้าที่ของโจทก์ การที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์แจ้งว่า หากจำเลยที่ 3 ไม่ตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โดยดีจะให้ตำรวจดำเนินคดีกับจำเลยที่ 3 ในข้อหาออกเช็คไม่มีเงินนั้น เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามปกตินิยมเท่านั้น ซึ่งตามมาตรา 127 หาได้จัดว่าเป็นการข่มขู่ไม่ และตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์นั้น ก็มีลักษณะเป็นการยอมความกันในความผิดอันยอมความได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ตกเป็นโมฆะ
เมื่อมีการรับสภาพหนี้แล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่แต่วัน ทำสัญญารับสภาพหนี้ตามมาตรา 172,181
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องใจความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดได้ทำหนังสือมอบอำนาจช่วงแต่งตั้งให้นายวรเทพ กุศลสมบูรณ์ มีอำนาจดำเนินการแทนโจทก์รวมทั้งดำเนินอรรถคดีในศาล จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นสามีภรรยากัน และต่างเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ได้ขายสินค้าเชื่อให้แก่จำเลยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ถึง พ.ศ. 2512 จึงได้หยุดขาย โจทก์ได้รับชำระหนี้จากธนาคารที่ค้ำประกันหนี้จำเลยบ้างแล้ว จำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2513 อยู่ตามใบกำกับสินค้ารวม 24 ฉบับ เป็นเงิน 462,729.80 บาท และหนี้ตามเช็ครวม 11 ฉบับ ซึ่งจำเลยชำระเป็นค่าสินค้าและถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เป็นเงิน 706,560 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,169,289.80 บาท ต่อมาในวันที่ 11 มิถุนายน 2513 จำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ซึ่งกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ยอมให้คิดดอกเบี้ยในยอดเงินที่ค้างตามใบกำกับสินค้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนและโจทก์ยอมหักเงินค่าโฆษณาส่งเสริม ค่าส่วนลด และค่ารับสินค้าคืนเมื่อคิดหักกันแล้ว จำเลยคงเป็นหนี้โจทก์อยู่ 971,157 บาท ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ตามภาพถ่ายเอกสารหมายเลข 7 ท้ายฟ้อง หลังจากทำสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ในวันที่ 15 มีนาคม 2514 โจทก์จึงได้ใช้สิทธิตามสัญญารับสภาพหนี้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 57603 และ 57604 ของจำเลยที่ 3 ให้แก่บุคคลอื่นไป โดยโจทก์คิดราคาตามสัญญารับสภาพหนี้ตารางวาละ 600 บาทให้เป็นเงิน 546,000 บาท เป็นการหักใช้หนี้ จำเลยคงเป็นหนี้โจทก์อยู่อีก 425,157 บาท เมื่อโจทก์ขายที่ดินทั้งสองแปลงไปแล้ว 4 เดือนจำเลยไม่มาตกลงกับโจทก์ในการชำระหนี้ที่ค้างต่อไปตามสัญญารับสภาพหนี้โจทก์ได้ให้ทนายมีหนังสือเตือนไปอีก จำเลยก็เพิกเฉย จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 425,157 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความแทนโจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยได้ชำระหนี้ส่วนใหญ่ให้โจทก์แล้วหนี้ตามฟ้องมากเกินความเป็นจริง โจทก์เอาความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คมาบีบบังคับให้จำเลยที่ 3 จำต้องยอมทำสัญญารับสภาพหนี้โดยไม่สมัครใจ เป็นการเอาผลคดีแพ่งแลกเปลี่ยนกับคดีอาญา สัญญารับสภาพหนี้จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้แทน หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าค้างชำระเมื่อสัญญารับสภาพหนี้ไม่มีผลใช้บังคับ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 425,157 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จำเลยที่ 1เคยติดต่อซื้อสินค้าจากโจทก์และยังเป็นหนี้ค่าสินค้าโจทก์อยู่จริงตามฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.59 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.59ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าการทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เกิดจากการถูกข่มขู่โดยโจทก์เอาคดีอาญาเรื่องออกเช็คโดยไม่มีเงินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คมาบีบบังคับให้จำเลยที่ 3 จำต้องยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1730/2513 ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ความว่าการทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.59นั้น จำเลยที่ 3 ได้ทำด้วยความสมัครใจ โดยปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้นำบัญชีของตนตามเอกสารหมาย จ.60 มาร่วมคิดบัญชีกับเจ้าหน้าที่ของโจทก์ด้วยโดยใช้เวลาคิดบัญชีต่อกันเป็นเวลานานถึง 3 – 4 ชั่วโมง จึงหาใช่เกิดจากการถูกข่มขู่ไม่ การที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์แจ้งกับจำเลยว่า หากจำเลยที่ 3ไม่ตกลงโดยดีจะให้ตำรวจดำเนินคดีกับจำเลยที่ 3 ในข้อหาออกเช็คโดยไม่มีเงินนั้น ก็เห็นว่าเป็นการขู่จะใช้สิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามปกตินิยมเท่านั้นซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 127 หาได้จัดว่าเป็นการข่มขู่ไม่ และตามหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.59 นั้นก็มีลักษระเป็นการยอมความกันในความผิดอันยอมได้ คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยยกขึ้นอ้างอิง รูปคดีไม่ตรงกับคดีนี้
ประเด็นที่สาม ในเมื่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ หนังสือสัญญารับสภาพหนี้จะผูกพันจำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ดูพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 ได้สอดเข้าไปจัดการในกิจการของจำเลยที่ 1 โดยเป็นผู้ติดต่อเรื่องสินค้า สั่งซื้อสินค้าในนามของจำเลยที่ 1และเป็นผู้รับสินค้าที่สั่งซื้อเอง ในการชำระเงินค่าสินค้าแก่โจทก์ จำเลยที่ 3ก็เป็นผู้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินเอง ทั้งจำเลยที่ 3 ก็ได้เคยทำสัญญาตกลงเกี่ยวกับหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 มาแล้วพฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้เชิดให้จำเลยที่ 3 ออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตลอดมา ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 3 ไปทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.59 จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เมื่อจำเลยที่ 1ต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการก็ต้องรับผิดร่วมด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 แม้จะเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่จำเลยที่ 3 ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการในกิจการงานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้นด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1088 ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่สี่ หนี้ตามฟ้องขาดอายุความหรือไม่ ได้พิเคราะห์แล้วโดยที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วว่า หนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.59 มีผลบังคับตามกฎหมาย หาได้ตกเป็นโมฆะไม่ ตามประเด็นที่สอง ฉะนั้น เมื่อมีการรับสภาพหนี้ อายุความย่อมสะดุดหยุดลง และย่อมเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่แต่วันทำสัญญารับสภาพหนี้ คือ วันที่ 11มิถุนายน 2513 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172และ 181 โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2515 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลา 2 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงตกไป
พิพากษายืน