คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4527/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกระทำความผิดหลายกรรม ถ้า โจทก์แยกฟ้องจำเลยแต่ละกระทงความผิด และศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีทุกสำนวนรวมกัน ก็จะลงโทษจำเลยได้ไม่เกินกำหนดตาม ป.อ. มาตรา 91 แต่เมื่อโจทก์แยกฟ้องโดยศาลมิได้สั่งให้พิจารณาคดีรวมกัน และศาลลงโทษจำคุกจำเลยทุกกรรมเต็ม ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 ทั้งสองสำนวนแล้ว ดังนี้ จะนับโทษจำเลยต่อกันไม่ได้ เพราะจะทำให้จำเลยต้องรับโทษเกินกำหนดที่ป.อ. มาตรา 91 บัญญัติไว้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการเป็นทหารกองประจำการ สังกัดจังหวัดทหารบกเพชรบุรี เป็นเสมียนฝ่ายการเงิน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2516 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2522 จำเลยร่วมกับพวกที่เป็นพลเรือนปลอมลายมือชื่อนางสมปองเทภาสิต ลงในสมุดรับเงินบำนาญพิเศษทุกเดือน ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิและเป็นเอกสารราชการเพื่อแสดงว่านางสมปองได้รับเงินบำนาญพิเศษแทนนายบุญ บุญญฤทธิ์เจ้าหน้าที่การเงินหลงเชื่อจึงจ่ายเงินให้จำเลยกับพวกไปทุกเดือนการกระทำของจำเลยน่าจะเกิดความเสียหายแก่จังหวัดทหารบกเพชรบุรีนางสมปอง และประชาชน การกระทำของจำเลยเป็นการอาศัยโอกาสที่เป็นเจ้าพนักงาน เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1466/2526 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 157, 161, 162, 264, 265,266, 268 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502มาตรา 13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1466/2526 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ และแถลงยอมรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1466/2526 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 161, 266 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. 2502 มาตรา 13 ให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามมาตรา 266 การกระทำผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกระทงรวม 71 กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษ จำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 20 ปี ตามมาตรา 91(2) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4คำขอให้นับโทษต่อไม่ปรากฏว่ามีคำพิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว ให้ยก
โจทก์ำีกาว่าคดีหมายเลขดำที่ 1466/2526 ของศาลชั้นต้นนั้นศาลมีคำพิพากษาแล้ว ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 1538/2529 โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยผิดตามฟ้อง เรียงกระทงลงโทษความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ฉ้อโกง ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 266 ให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 170 กระทง เป็นจำคุก 510 ปี ฐานฉ้อโกงอีก 1กระทง ให้จำคุก 1 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 340 ปี 8 เดือน แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) บัญญัติว่า เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 20 ปี จึงให้จำคุกจำเลยมีกำหนด20 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 40,497 บาท 12 สตางค์แก่เจ้าของซึ่งศาลจังหวัดเพชรบุรีได้มีคำพิพากษาคดีดังกล่าวในวันที่ 15ธันวาคม 2529 ตรงกับวันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้โจทก์ไม่อาจยื่นคำแถลงให้ศาลอุทธรณ์ทราบได้ ขอให้ศาลฎีกานับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1466/2526หมายเลขแดงที่ 1538/2529 ของศาลชั้นต้นด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหามีว่า จะนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1538/2529 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ จำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า จำเลยถูกดำเนินคดีฐานทุจริตเงินบำนาญพิเศษของผู้อื่นอีก 2 คดีคือของนายคำ แก้วอ่อน และของนางพวง แก้วมรกต ทั้งตามฎีกาของโจทก์ปรากฏว่า จำเลยถูกลงโทษในคดีที่ขอให้นับดทษต่อฐานเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ น่าเชื่อว่าในคดีที่ขอให้นับโทษต่อและคดีนี้เป็นเรื่องทุจริตเงินบำนาญพิเศษจากส่วนราชการเดียวกันเพียงแต่อ้างชื่อผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญพิเศษต่างรายกัน หน่วยราชการซึ่งเป็นผู้เสียหายก็รายเดียวกัน โจทก์อาจฟ้องจำเลยสำหรับการกระทำความผิดในคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษต่อเป็นคดีเดียวกันได้ เพราะโจทก์จำเลยเป็นคนเดียวกันและพยานหลักฐานน่าจะเป็นชุดเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าโจทก์แยกฟ้องจำเลยแต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวนไป และศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีทุกสำนวนรวมกัน ศาลก็จะลงโทษจำเลยได้ไม่เกินกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เมื่อโจทก์แยกฟ้องคดีนี้กับคดีที่ขอให้นับโทษต่อ โดยศาลมิได้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันแล้ว ศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยเต็มตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 ทั้งสองสำนวนแล้ว ศาลก็นับดทษจำเลยต่อกันไม่ได้ เพราะจะทำให้จำเลยต้องรับโทษเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 บัญญัติไว้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502มาตรา 13 มาด้วยนั้นไม่ถูกต้อง เราะพระราชบัญญัตินี้มิได้แก้ไขเพิ่มเติมบทกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลย จึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.

Share