คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1807/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการมอบอำนาจให้ ส. ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ขออายัดที่ดินหลายโฉนดของโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์เป็นลูกหนี้จำเลย ทั้ง ๆ ที่ศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าโจทก์มิได้เป็นลูกหนี้จำเลย จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน แม้ต่อมากรมที่ดินจะเห็นว่าจำเลยมิได้มีส่วนได้เสียจึงไม่รับอายัด ก็เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และประชาชนแล้ว จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,267,83 การกระทำของนิติบุคคลย่อมแสดงให้ปรากฏโดยการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันกระทำการเพื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3ก็ต้องร่วมรับผิดในการกระทำเช่นนั้นด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137,267, 83, 84, 91 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 267, 83 รวม 2 กระทง จำเลยที่ 2และที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 267, 83 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยทั้งสามโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายสุวรรณ สายสุวรรณ เป็นผู้มีอำนาจไปแจ้งความขออายัดที่ดินของโจทก์รวม 413 โฉนด และมีอำนาจให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 นายสุวรรณได้ไปแจ้งความขออายัดที่ดินดังกล่าวต่อนายอุดมศิลป์สิทธิ์ เมืองถ้ำ เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาบางกะปิ ตามบันทึกข้อความที่จำเลยทั้งสามมอบให้ ปรากฏตามสำเนาบันทึกเอกสารหมาย จ.4 นายอุดมศิลป์สิทธิ์ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครรับคำขอและบันทึกข้อความว่า จำเลยที่ 1รับจำนองที่ดินของโจทก์ ต่อมาได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 2923/2525พิพากษาว่า ให้โจทก์ในคดีนี้ชำระหนี้ตอบแทนจำเลยด้วยการนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทในคดีดังกล่าวมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการที่จำเลยที่ 1 ได้ลดหนี้ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์มิได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการชำระหนี้ตอบแทนจำเลยที่ 1 จึงขออายัดที่ดินให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนนิติกรรมใด ๆ ให้กับผู้ถูกอายัดหรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ตามสำเนาคำขออายัดที่ดิน เอกสารหมาย จ.5, จ.6 และ จ.7 ครั้นวันที่23 ธันวาคม 2525 จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1มีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขออายัดที่ดินรวม 413 โฉนดของโจทก์โดยอ้างว่า หนี้ตามคำพิพากษาฎีกาข้างต้นยังไม่ระงับโจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนจำเลยที่ 1 โดยเปลี่ยนมูลหนี้ใหม่ให้จำเลยที่ 1 บังคับเอากับโจทก์ทั้งสาม ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ปรากฏตามสำเนาหนังสือขออายัดที่ดินเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2525 นายสุวรรณให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครว่าโดยเหตุที่ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 2923/2525 ผู้ถูกอายัดทั้งสามมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตอบแทนด้วยการนำโฉนดที่ดินที่พิพาทในคดีดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน การที่จำเลยที่ 1ได้ลดหนี้ให้แก่ผู้ถูกอายัด ตามหนังสือสัญญาให้ผู้ซื้อกู้เงินไปซื้อที่ดินและบ้านตามโครงการ “ดีสมโชค” ฉบับลงวันที่ 12 กรกฎาคม2516 รวมทั้งสิ้น 100 ไร่เศษ ซึ่งได้แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามรวม 413 โฉนดซึ่งจำเลยที่ 1 ประสงค์ขออายัดไว้ และจำเลยที่ 1ทราบแล้วว่าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอายัดเฉพาะที่ดินไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้าง หากเกิดการเสียหายจำเลยที่ 1 ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.9 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 267 ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ความจริงแล้ว คำพิพากษาฎีกาที่ 2923/2525 ให้มีผลตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงิน 18 ล้านบาทเศษให้โจทก์ ที่จำเลยมาขออายัดที่ดินในคดีนี้เพราะโจทก์ทั้งสามได้ชำระหนี้หมดแล้ว หนี้จำนองระงับไปด้วยการหักกลบลบหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาไม่มีการชำระหนี้ตอบแทนอย่างใดกันอีก ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่สามารถทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินทั้ง 413 โฉนดได้ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงนายอุดมศิลป์สิทธิ์เป็นพยานโจทก์เบิกความว่า การที่จำเลยทั้งสามแจ้งอายัดที่ดินของโจทก์ทำให้โจทก์ไม่สามารถทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของตนได้ กรมที่ดินเห็นว่าจำเลยมิได้มีส่วนได้เสียจึงไม่รับอายัดตามคำแจ้งของจำเลยตามสำนวนบันทึกข้อความ เอกสารหมาย จ.12 โจทก์ที่ 1 กับนายอุดมศิลป์สิทธิ์เบิกความสอดคล้องต้องกัน และนายอุดมศิลป์สิทธิ์เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ เชื่อว่าเบิกความตามจริง พยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า การที่จำเลยทั้งสามแจ้งอายัดที่ดินของโจทก์น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และประชาชน แต่การกระทำของจำเลยจะสุจริตหรือไม่ ต้องฟังประกอบคำพิพากษาฎีกาที่ 2520/2525 ระหว่างบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ กรุงเทพเคหะ จำกัด โจทก์ นายชัยกิจ ดีสมโชคที่ 1 กับพวก จำเลย ซึ่งมีใจความสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขายที่ดินและบ้านครั้งแรกได้ 28 หลัง ผู้ซื้อได้จำนองที่ดินและบ้านแก่โจทก์แล้ว โจทก์ลดหนี้ให้จำเลยเพียงร้อยละห้าสิบของราคาที่ดินและบ้านที่ขาย ต้องลดหนี้ให้จำเลยอีกร้อยละยี่สิบห้าตามข้อตกลงเป็นเงิน 3,409,992 บาทกับรายนางล้วนอีก 350,000 บาท โจทก์ต้องลดหนี้ให้จำเลยร้อยละเจ็ดสิบห้าของราคาที่ดินและบ้าน 21 หลังที่จำเลยปลูกสร้างเสร็จระยะที่สอง เป็นเงิน 5,281,000 บาท กับหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ครบอีก 303,867.60 บาท รวมทั้งหมดเป็นเงิน 9,344,859.60 บาท เมื่อหักจากเงินต้นที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 14,517,364.41 บาทและดอกเบี้ยแล้วจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 3,864,302.84 บาท โจทก์จงใจผิดสัญญาทำให้จำเลยเสียหายและขาดผลกำไรที่จะได้ตามโครงการ ศาลกำหนดค่าเสียหายให้ 22,000,000 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วโจทก์ต้องชำระเงิน 18,135,697.16 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่จำเลย โจทก์ต้องไถ่ถอนจำนองทั้งหมดเพราะจำเลยชำระหนี้หมดแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 แจ้งอายัดที่ดินทั้งหมด 413โฉนดของโจทก์ในคดีนี้ จึงเป็นความเท็จ ทำให้เกิดผลเสียหายต่อโจทก์ กล่าวคือ จำเลยเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินที่ขออายัดที่อาจฟ้องขอให้บังคับจำนองหรือจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 เพราะโจทก์ได้ชำระหนี้แก่จำเลยหมดแล้วและที่โจทก์ไม่ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินและบ้านให้จำเลยตามที่ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยตีความในคำพิพากษาฎีกาที่ 2923/2525ก็ไม่เป็นการทำละเมิดต่อจำเลย จำเลยกระทำโดยเจตนาเพื่อต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนให้ได้เปรียบแก่โจทก์ในเชิงธุรกิจไปขออายัดที่ดินทั้งหมด 413 โฉนดของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานกรุงเทพมหานครย่อมจะมีเจตนาฝ่าฝืนไม่ยอมรับว่าคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวผูกพันจำเลยการกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดย่อมแสดงให้ปรากฏโดยการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำการเพื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ก็ต้องร่วมรับผิดในการกระทำนั้นด้วยกัน เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการในขณะเกิดเหตุคดีนี้มอบอำนาจให้นายสุวรรณไปแจ้งความขออายัดที่ดินทั้งหมด 413 โฉนด ของโจทก์โดยไม่มีหนี้ต่อกันต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ และนายสุวรรณได้ไปแจ้งความต่อนายอุดมศิลป์สิทธิ์ เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ผู้กระทำการตามหน้าที่ ขออายัดที่ดินและให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครตามคำสั่งที่จำเลยที่ 1 มอบหมายทุกประการ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ พยานจำเลยที่อ้างว่าทำตามคำแนะนำของที่ปรึกษากฎหมายและที่ประชุมกรรมการนำมาแก้ตัวว่ากระทำโดยไม่รู้ไม่ได้ ไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจให้นายสุวรรณไปขออายัดที่ดินทั้งหมด413 โฉนดของโจทก์โดยไม่สุจริต เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ ผู้กระทำการตามหน้าที่ อายัดที่ดินทั้งหมด 413 โฉนดของโจทก์อันเป็นข้อความเท็จ ลงในเอกสารรายการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และประชาชน กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ร่วมกันมีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ตามกฎหมายขออายัดที่ดินทั้งหมด 413 โฉนดของโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ อาจทำให้โจทก์หรือประชาชนเสียหายโดยเจตนา จำเลยทั้งสามจึงต้องมีความผิดตามฟ้อง แต่สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 โจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ด้วย คดีจึงยุติเฉพาะจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น ที่จำเลยที่ 2ที่ 3 ขอรอการลงโทษนั้น พิเคราะห์ลักษณะของความผิด ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 อายุมากแล้วและไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษให้”
พิพากษากลับ จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267, 83 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 อีกกระทงหนึ่งลงโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 500 บาท รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 7 เดือน และปรับ 3,500 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่2 ที่ 3 ไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี

Share