คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2347/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยไม่ส่งสำเนาเอกสารที่อ้างเป็นพยานแก่โจทก์ก่อนวันสืบพยาน เป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 90แต่ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมทั้งไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลยพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 87(2) ส่วนภาพถ่ายไม่เป็นพยานเอกสาร จำเลยไม่จำต้องส่งสำเนาให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยาน.
โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยเพื่อให้ศาลปฏิเสธไม่ยอมรับคำร้องดังกล่าว ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งรับหรือปฏิเสธไม่ยอมรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลย คำแถลงดังกล่าวไม่ใช่คำร้องโต้แย้งคำสั่ง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลย ซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว.
การที่จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า ที่พิพาทเป็นทางสาธารณะและเมื่อโจทก์มีชื่อใน น.ส.3 ด้วย จำเลยจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากทางสาธารณประโยชน์และนำประกาศคำสั่งไปปิดประกาศในที่ที่พิพาทและที่อื่น ๆ เพื่อให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางสาธารณประโยชน์ จึงไม่เป็นละเมิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยในฐานะนายอำเภอขุขันธ์ และประธานกรรมการสุขาภิบาลห้วยเหนือ จงใจหรือประมาทเลินเล่อออกคำสั่งอำเภอและคำสั่งสุขาภิบาล กล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกทางสาธารณะให้โจทก์ออกจากทางสาธารณประโยชน์ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในทางสาธารณประโยชน์ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทราบดีว่าที่ดินที่จำเลยอ้างในคำสั่งว่าโจทก์บุกรุกเป็นที่ดินของผู้อื่นและจำเลยยังให้บริวารของจำเลยนำคำสั่งดังกล่าว ไปปิดประกาศในที่ต่าง ๆ หลายแห่งอันเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 200,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำตามหน้าที่จำเลยไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยออกคำสั่งอำเภอขุขันธ์ ที่ 385/2524 และคำสั่งสุขาภิบาลห้วยเหนือที่34/2524 ให้โจทก์และบริวารออกไปจากทางสาธารณะและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กระทำไว้บนทางสาธารณะตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4และจำเลยได้สั่งให้เจ้าหน้าที่นำคำสั่งดังกล่าวไปปิดที่ประตูรั้วที่โจทก์ทำขึ้นปิดทางพิพาท…พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่าจำเลยไม่ส่งสำเนาเอกสารให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลจะรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้หรือไม่ ได้ความว่า จำเลย ไม่ส่งสำเนาเอกสารหมายล.1 ถึง ล.57 และภาพถ่ายหมาย ล.58 ถึง ล.61 ให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90 ศาลล่างทั้งสองรับฟังพยานเอกสารดังกล่าว เห็นว่าจำเลยไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.57 ให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานโจทก์ เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90แต่ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) และคดีนี้ได้ความว่าเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.57 เป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีและโจทก์ก็นำสืบถึงบุคคลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวด้วย เอกสารดังกล่าวไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.57โดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวชอบแล้ว ส่วนภาพถ่ายไม่เป็นพยานเอกสารจำเลยไม่จำต้องส่งสำเนาให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยาน ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาที่ว่า คำแถลงคัดค้านคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยเพื่อให้ศาลปฏิเสธไม่ยอมรับฟังคำร้องดังกล่าวถือว่าเป็นข้อโต้แย้งคำสั่งศาลหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ยื่นคำคัดค้านดังกล่าวต่อศาลก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งรับหรือปฏิเสธไม่ยอมรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลย จึงเป็นคำคัดค้านคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม หาใช่คำร้องโต้แย้งคำสั่งไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อโจทก์ไม่โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาที่ว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 ว่า เดิมที่พิพาทหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 ระบุให้เว้นเป็นทางสัญจรซึ่งมีการสัญจรมาก่อนทำหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 แล้วเป็นระยะทางกว้าง 3 เมตร และตาม น.ส.3 เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมก็ระบุว่า ทางด้านทิศตะวันออกจดตรอกทางเดินดังนี้ ผู้ที่พบเห็นเอกสารดังกล่าวย่อมเชื่อว่าที่พิพาทเป็นทางเดินนอกจากนี้นายทรงศักดิ์เบิกความว่า เมื่อปี พ.ศ. 2509 นายวินิจทองเถาว์ ได้ล้อมรั้วที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 เพื่อให้เอกชนเช่าพยานได้ร้องเรียนต่อกรมธนารักษ์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2512กรมธนารักษ์ตั้งกรรมการสอบสวนตรวจสอบแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของพยาน ให้พยานเว้นที่ดินดังกล่าว 2 เมตร ทางกรมธนารักษ์จะเว้นที่ราชพัสดุ 1 เมตร เพื่อเป็นทางสาธารณะ ได้มีการบันทึกเรื่องราวไว้ เห็นว่า คำเบิกความของนายทรงศักดิ์เกี่ยวกับการขอให้นายทรงศักดิ์เว้นที่ดินของนายทรงศักดิ์ 2 เมตรและมีบันทึกกันไว้นั้นตรงกับข้อต่อสู้ของจำเลย และจำเลยมีบันทึกข้อตกลงของนายทรงศักดิ์ดังกล่าว ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.53 และหนังสือกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบกับข้อตกลงดังกล่าวตามเอกสารหมาย ล.54เป็นพยานเอกสารสนับสนุน ดังนี้จำเลยย่อมเชื่อ โดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นทางสาธารณะ และเมื่อโจทก์มีชื่อใน น.ส.3 เอกสารหมาย จ.1ด้วยจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากทางสาธารณประโยชน์และนำประกาศดังกล่าวไปปิดประกาศในที่ที่พิพาทและที่อื่น ๆ เพื่อให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางสาธารณประโยชน์ จึงไม่เป็นละเมิด…”
พิพากษายืน

Share