คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “การที่อัยการเขต 8(หมายถึงตัวโจทก์) สั่งกลับคำสั่งของอัยการจังหวัดไม่ให้ฟ้องนายโสภณกิจประสาน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากก่อให้เกิดบรรทัดฐานเช่นนี้ จะทำให้เกิดการทุจริตกันอย่างใหญ่โต…”และว่า จำเลยจะสอบสวนกรมอัยการซึ่งทุกวันนี้เละเทะจนไม่น่าจะปล่อยปละละเลยอีกต่อไปได้ ประเด็นที่จะสอบคืออัยการพิเศษประจำเขต 8สั่งไม่ฟ้องนายโสภณ ไม่รู้ว่าไปสอบสวนเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวนที่ไหนมาสั่งคดีสำคัญ และเรื่องนี้จำเลยจะจัดการสะสางทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ และว่า จำเลยรู้ว่ามีการรับเงินรับทองนั้น เป็นการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์สั่งไม่ฟ้องนายโสภณกิจประสานแม้โจทก์จะอ้างว่ามีอำนาจสั่งไม่ฟ้องนายโสภณ แต่การสั่งไม่ฟ้องมีพฤติการณ์ที่ทำให้น่าสงสัยหลายประการ และจำเลยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับการร้องเรียนจากภริยาและมารดาผู้ตายว่า การที่โจทก์มีคำสั่งดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยเห็นว่าพฤติการณ์ในการสั่งไม่ฟ้องเป็นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นการไม่ชอบประกอบกับเป็นคดีที่มีอิทธิพลซึ่งประชาชนรวมทั้งสื่อมวลชนให้ความสนใจ เมื่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไปสัมภาษณ์ความเห็นของจำเลย จำเลยก็ให้สัมภาษณ์ไปตามความคิดเห็นของตน แม้ถ้อยคำที่ใช้จะรุนแรงอยู่บ้าง แต่ก็เห็นได้ว่าได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของจำเลยในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนและในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงกระทำเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้อง คดีที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องเอง และต้องห้ามฎีกาโดยมาตรา 218,219 และ 220 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาถ้าอธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็รับฎีกาไว้พิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326,328, 332, 91 และสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง มีคำสั่งประทับฟ้องโจทก์ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่าเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2526 นายปรีดี สุจริตกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต และนายแสงชัยหรือโกโหลน ศักดิ์ศรีทวีถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนลอบยิงถึงแก่ความตายที่ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต หลังจากเกิดเหตุแล้วเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 คน คือนายอาหมาด ดวงแก้ว นายตอพาด บุญหลำ และนายกาหริ่ม คำเขี้ย ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นนายอาหมาดกับพวกให้การรับสารภาพว่าได้ใช้อาวุธปืนยิงนายปรีดีและนายแสงชัยจริง โดยมีนายโสภณ กิจประสาน เป็นผู้ใช้ จ้าง วานศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกนายอาหมาดกับพวก คนละตลอดชีวิตศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามเอกสารหมาย ล.20 และ ล.21 คดีถึงที่สุดแล้วพนักงานสอบสวนได้กันนายประทีปหรือฮวด เกิดผล ไว้เป็นพยานและมีความเห็นสั่งฟ้องนายโสภณในข้อหาใช้ จ้าง วาน ผู้อื่นฆ่านายปรีดีและนายแสงชัย ตามเอกสารหมาย ล.22 นายชัชวาลเยี่ยมพิภักดิ์ อัยการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้น มีความเห็นตามความเห็นของพนักงานสอบสวน ตามเอกสารหมาย ล.3 และได้เสนอความเห็นต่อโจทก์ซึ่งเป็นอัยการพิเศษประจำเขต 8 ในขณะนั้น โจทก์มีบันทึกเห็นชอบไม่ฟ้องนายประทีปต่อท้ายความเห็นของอัยการจังหวัดภูเก็ตตามเอกสารหมาย ล.4 ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2527 นายโสภณได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีกรมอัยการ ตามเอกสารหมาย จ.1 อธิบดีกรมอัยการได้มีคำสั่งให้โจทก์ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วรายงานให้ทราบ โจทก์ได้เรียกสำนวนการสอบสวนจากอัยการจังหวัดภูเก็ตมาพิจารณาและมีความเห็นควรสอบสวนเพิ่มเติมจึงมีหนังสือแจ้งผู้บังคับการกองปราบปรามให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติมต่อมาโจทก์ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องนายโสภณ อัยการจังหวัดภูเก็ตได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งไม่ฟ้องนายโสภณให้นายมานิตวัลยะเพชรผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้นนายมานิตมีความเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจสั่งคดี วันที่ 16 สิงหาคม 2528 วันที่ 28กันยายน 2528 และวันที่ 1 ตุลาคม 2528 จำเลยซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์มีคำสั่งไม่ฟ้องนายโสภณ และหนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด ไทยรัฐ เดลินิวส์ ได้ลงข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ตามฟ้องของโจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ และเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่นั้น เห็นว่าข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 นั้นเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์สั่งไม่ฟ้องนายโสภณ กิจประสาน แม้โจทก์จะอ้างและนำสืบว่าโจทก์มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องนายโสภณก็ตาม แต่การที่โจทก์สั่งไม่ฟ้องนายโสภณนั้นมีพฤติการณ์ที่ทำให้น่าสงสัยหลายประการ กล่าวคือประการแรก หนังสือร้องขอความเป็นธรรมของนายโสภณ ตามเอกสารหมาย จ.1 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2527 ถึงกรมอัยการในวันเดียวกันนั้นเอง และตามเอกสารหมาย ล.31 แผ่นที่ 7 ปรากฏว่าอธิบดีกรมอัยการได้แถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการการปกครองของสภาผู้แทนราษฎรว่าหนังสือร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าวได้ส่งมาทางไปรษณีย์ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องเร็วผิดปกติ ประการที่สอง หนังสือของโจทก์ที่สั่งให้ผู้บังคับการกองปราบปรามสอบสวนเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.7ประเด็นที่โจทก์กำหนดให้สอบสวนเพิ่มเติมนั้นล้วนเป็นประโยชน์แก่นายโสภณทั้งสิ้น ประการที่สาม พนักงานสอบสวนที่ผู้บังคับการกองปราบตั้งขึ้นมาคือ พันตำรวจเอกผาด ดวงฤทธิ์ และพันตำรวจโทประกฤติ โกมลฐิติ ให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติมนั้นจะเป็นพนักงานสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่หลักฐานยังไม่ชัดเจน ยังมีข้อสงสัยอยู่ประการสุดท้าย เดิมอัยการจังหวัดภูเก็ตเห็นควรสั่งฟ้องนายโสภณส่วนนายประทีปหรือฮวด เกิดผล เห็นควรสั่งไม่ฟ้องเพราะได้กันไว้เป็นพยาน โจทก์เห็นชอบด้วยตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 แต่ต่อมาโจทก์กลับสั่งไม่ฟ้องนายโสภณ จากพฤติการณ์ของโจทก์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขต 8 สังกัดกรมอัยการ และเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงมหาดไทย ที่ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องนายโสภณในข้อหาฐานใช้ จ้าง วาน ฆ่านายปรีดี สุจริตกุล กับพวก จำเลยซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับการร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากภริยาและมารดาของนายปรีดีผู้ตายว่า การที่โจทก์มีคำสั่งดังกล่าวนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของโจทก์ในการสั่งไม่ฟ้องนายโสภณเป็นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นการไม่ชอบประกอบกับคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีอิทธิพลซึ่งประชาชนรวมทั้งสื่อมวลชนให้ความสนใจ เมื่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไปสัมภาษณ์ความเห็นของจำเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ จำเลยก็ให้สัมภาษณ์ไปตามความคิดเห็นของตน แม้ถ้อยคำที่ใช้จะรุนแรงอยู่บ้าง แต่ก็เห็นได้ว่าได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของจำเลยในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงกระทำเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้องที่โจทก์ฎีกาว่า เกี่ยวกับหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมของนายโสภณที่ส่งไปกรมอัยการ จะส่งไปทางไปรษณีย์หรือมอบให้ผู้ใดไปยื่น และการที่อธิบดีกรมอัยการจะได้แถลงต่อคณะกรรมาธิการการปกครองของสภาผู้แทนราษฎรว่าอย่างไรนั้น ไม่น่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับคดีที่โจทก์ฟ้องนี้แต่อย่างใดนั้น เห็นว่า การที่นายโสภณได้มีหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีกรมอัยการนั้นย่อมเกี่ยวเนื่องกับคดีนี้โดยตรง เพราะหนังสือร้องเรียนดังกล่าวที่มีไปถึงกรมอัยการ ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2527 ซึ่งอธิบดีกรมอัยการก็ยอมรับต่อคณะกรรมาธิการการปกครองของสภาผู้แทนราษฎรว่า หนังสือฉบับนี้ได้ส่งมาทางไปรษณีย์จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่หนังสือดังกล่าวได้มาถึงกรมอัยการ เวลา 11 นาฬิกา ของวันเดียวกันนอกจากนี้เมื่ออธิบดีกรมอัยการได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วก็ได้รีบมีคำสั่งส่งเรื่องให้โจทก์ดำเนินการในวันเดียวกันนั้นทันทีโจทก์ก็ได้สั่งให้อัยการจังหวัดภูเก็ตส่งสำนวนการสอบสวนมาให้พิจารณาแล้วแจ้งให้ผู้บังคับการกองปราบปรามกรมตำรวจทำการสอบสวนเพิ่มเติมผู้บังคับการกองปราบปรามได้สั่งให้พนักงานสอบสวนชุดใหม่ไปสอบสวนเมื่อสอบสวนเสร็จได้ส่งสำนวนให้โจทก์ โจทก์ก็ทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายโสภณและรายงานต่ออธิบดีกรมอัยการ ตามเอกสารหมาย จ.2ทั้ง ๆ ที่การดำเนินการดังกล่าวมีขั้นตอนต่าง ๆ เป็นอันมากแต่ก็ได้ดำเนินการไปอย่างรวดเร็วเป็นที่ส่อพิรุธอย่างมาก โจทก์ฎีกาต่อไปว่า พนักงานสอบสวนที่โจทก์ให้กองปราบปรามสอบสวนเพิ่มเติมนั้นเป็นพนักงานสอบสวนที่ทำการสอบสวนมาแต่แรกแล้วมาทำการสอบสวนเพิ่มเติมหาใช่สั่งให้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ตั้งพนักงานสอบสวนขึ้นมาใหม่แต่อย่างใดไม่ เห็นว่า พนักงานสอบสวนที่ผู้บังคับการกองปราบปรามตั้งขึ้นมาคือ พันตำรวจเอกผาด ดวงฤทธิ์ และพันตำรวจโทประกฤติโกมลฐิติ ให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติมนั้น จะเป็นพนักงานสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ยังมีข้อสงสัยอยู่ซึ่งเรื่องนี้อธิบดีกรมตำรวจได้มีหนังสือชี้แจงต่อเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามเอกสารหมาย ล.29 ว่า ตามระเบียบของกรมตำรวจว่าด้วยอำนาจการสอบสวน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2527 ข้อ 218 (3.1.1)กำหนดว่า กองปราบปรามมีอำนาจทำการสอบสวนความผิดอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร แต่จะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งหรืออนุญาตจากอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้รักษาราชการแทนหรือผู้ปฏิบัติราชการแทน ฯลฯ กรมตำรวจได้มีบันทึกสั่งการลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2526 คำสั่งกรมตำรวจที่ 1264/2526 ลงวันที่27 กันยายน 2526 ที่ 844/2527 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2527 และที่572/2528 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2528 ตามลำดับ แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนไว้ทำการสอบสวนเป็นการเฉพาะแล้ว แต่การสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามคือ พันตำรวจเอกผาด ดวงฤทธิ์และพันตำรวจโทประกฤติ โกมลฐิติ กรมตำรวจได้ตรวจสอบรายละเอียดเรื่องนี้แล้วไม่ปรากฏหลักฐาน การสั่งการทางกรมตำรวจแต่ประการใดจึงไม่สามารถที่จะมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ โจทก์ฎีกาอีกว่าการที่อัยการจังหวัดภูเก็ตเสนอรายงานไปยังโจทก์ซึ่งเป็นอัยการพิเศษประจำเขต 8 แจ้งว่าได้สั่งฟ้องนายโสภณและสั่งไม่ฟ้องนายประทีปหรือฮวด เกิดผล โจทก์ไม่ทำความเห็นแย้งในการสั่งฟ้องนายโสภณเพราะคดีนี้อัยการจังหวัดภูเก็ตเสนอโจทก์ในกรณีที่มีความเห็นไม่ฟ้องนายประทีปหรือฮวดเท่านั้น ส่วนนายโสภณ อัยการจังหวัดภูเก็ตสั่งฟ้องไว้แล้วไม่ได้เสนอโจทก์ในการที่สั่งฟ้อง และตามระเบียบคำสั่งของกรมอัยการ อัยการจังหวัดไม่ต้องเสนอความเห็นที่สั่งฟ้องไปยังอัยการพิเศษประจำเขต 8 นั้น เห็นว่าโจทก์เองเบิกความว่า คดีที่อัยการจังหวัดสั่งฟ้องก่อนยื่นฟ้องต่อศาลอัยการพิเศษประจำเขต 8 มีอำนาจทำความเห็นแย้งคือสั่งไม่ฟ้องได้การที่อัยการจังหวัดเสนอรายงานมายังโจทก์ซึ่งเป็นอัยการพิเศษประจำเขต 8 แล้วว่ามีความเห็นสั่งฟ้องนายโสภณและสั่งไม่ฟ้องนายประทีป โจทก์ก็มิได้ทำความเห็นแย้งแต่ประการใดในการสั่งฟ้องนายโสภณ ก็เท่ากับโจทก์เห็นด้วยกับคำสั่งของอัยการจังหวัดที่สั่งฟ้องนายโสภณ ดังนั้นพฤติการณ์ที่โจทก์ให้กองปราบปรามทำการสอบสวนพยานหลักฐานใหม่ และทำความเห็นใหม่เป็นสั่งไม่ฟ้องนายโสภณในข้อหาใช้จ้างวานฆ่านายปรีดีกับพวก จึงเป็นที่น่าสงสัยดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้บันทึกในคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์ที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ให้กรมอัยการพิจารณาดำเนินการซึ่งต่อมาได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเช่นเดียวกับกรณีนายโสภณและรายงานให้จำเลยทราบแล้วตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11 จำเลยย่อมทราบดีว่าอัยการพิเศษประจำเขตมีอำนาจสั่งคดีภายในเขตได้แต่ยังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ว่า อัยการพิเศษประจำเขตไม่มีอำนาจกลับคำสั่งของอัยการจังหวัด แสดงว่าจำเลยมีเจตนาที่จะใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า ในเรื่องขั้นตอนและอำนาจหน้าที่ของอัยการพิเศษประจำเขตมีอยู่เพียงใดจำเลยอาจไม่ทราบได้ การที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ตามข้อความดังกล่าวเนื่องจากกรณีที่ญาติของนายปรีดีได้มาร้องขอความเป็นธรรมโดยตรงต่อจำเลยถึงพฤติการณ์ที่โจทก์มีคำสั่งไม่ฟ้องนายโสภณ จึงถือไม่ได้ว่าการกล่าวของจำเลยดังกล่าวมีเจตนาที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนที่จำเลยยื่นคำแก้ฎีกาว่าคดีนี้มิใช่เป็นคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย หากเป็นกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ดำเนินคดีด้วยตนเอง ดังนั้นโจทก์ชอบที่จะให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงลายมือชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ว่าจะเป็นคดีที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องด้วยตนเองก็ตาม ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 218,219 และ 220 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าอธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 เกี่ยวกับคดีนี้ อธิบดีกรมอัยการได้มีหนังสือลงลายมือชื่อรับรองว่า รูปคดีมีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย ดังนั้น ศาลฎีกามีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว โดยไม่จำต้องให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงลายมือชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่จำเลยโต้แย้งที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ต้องกันมานั้นชอบด้วยรูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share