คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 ไม่มีบทบัญญัติใดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งถูกกล่าวหาว่าทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการใช้สิทธิทางศาลขอให้ศาลวินิจฉัยได้ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ป. ดำเนินการพิจารณาสอบสวนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีมติว่าร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจนผิดปกติ จึงไม่มีกรณีที่โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาล มติของคณะกรรมการ ป.ป.ป. ดังกล่าวย่อมมีผลแต่เพียงว่าหากโจทก์ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าทรัพย์สินได้มาโดยชอบ ต้องถือว่าโจทก์กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518มาตรา 21 ทวิ และคณะกรรมการ ป.ป.ป. ต้องแจ้งพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 21 ตรี ขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน และเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีต่อไป การได้รับผลกระทบโดยตรงจากมติดังกล่าวจึงเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่โจทก์คาดคะเนเอง กรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับราชการในตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีชื่อย่อว่า”สำนักงาน ป.ป.ป.” จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ป.จำเลยที่ 12 เป็นเลขาธิการ จำเลยที่ 13 ถึงที่ 15 เป็นอนุกรรมการฝ่ายตรวจสอบทรัพย์สิน และจำเลยที่ 16 เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนสังกัดสำนักงาน ป.ป.ป. จำเลยที่ 12 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนโจทก์ว่า อาศัยอำนาจหน้าที่ราชการแสวงหาประโยชน์และมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และส่งคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ป. ซึ่งได้พิจารณาผลการสืบสวนสอบสวนโจทก์แล้วว่า กรณีมีมูลน่าเชื่อว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติ และมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ พร้อมทั้งสั่งแบบแสดงรายการสินทรัพย์และหนี้สินมาให้โจทก์ และสั่งให้โจทก์แสดงสินทรัพย์และหนี้สิน โจทก์ได้มีหนังสือแบบแสดงที่มาของสินทรัพย์และหนี้สินของโจทก์แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 12 ได้มีหนังสือแจ้งมายังโจทก์ว่า สำนักงาน ป.ป.ป. ได้รับเรื่องกล่าวหาว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติและมีพฤติการณ์ทุจริตในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่บุคคลทั่วไป ให้โจทก์ไปรับทราบข้อกล่าวหา หลังจากนั้นจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 13 ถึงที่ 16 ได้สอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาให้โจทก์ทราบ ซึ่งจากการสอบสวนปรากฏว่า โจทก์มีทรัพย์สินมูลค่าไม่ต่ำกว่า 49 ล้านบาท จึงเป็นการร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ป. ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาในการพิจารณาสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐกรณีถูกกล่าวหาร้องเรียนว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2530 เพราะไม่มีรายละเอียดว่าทรัพย์สินของโจทก์รายการใดที่ถือว่าเป็นการร่ำรวยผิดปกติหรือเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติพอที่จะทำให้โจทก์เข้าใจและสามารถชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานมาแสดงแก้ข้อกล่าวหาได้ จึงทำให้โจทก์ไม่เข้าใจข้อกล่าวหาและหลงต่อสู้ ในระหว่างที่โจทก์ถูกพนักงานอัยการ กรมอัยการ ฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาร่วมทุจริตในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่บุคคลทั่วไปนั้น จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 13 ถึงที่ 16 ยังได้เรียกพยานโจทก์และจำเลยในคดีดังกล่าวไปทำการสอบสวนเกี่ยวกับพฤติการณ์การทุจริตในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่บุคคลทั่วไปและนำไปรวมเป็นข้อเท็จจริงเสนอจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 เพื่อให้วินิจฉัยว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบการพิจารณาสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ป. ที่ห้ามมิให้รับหรือยกขึ้นพิจารณาเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างพิจารณาของศาล จำเลยที่ 4และจำเลยที่ 13 ถึงที่ 16 จึงไม่อาจทำการสอบสวนพยานหลักฐานดังกล่าวได้ จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนที่ไม่ชอบและผิดไปจากความจริง ขอให้พิพากษาว่าการสืบสวนสอบสวนของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 13 ถึงที่ 16ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ป. ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาในการพิจารณาสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐกรณีถูกกล่าวหาร้องเรียนว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2530 ให้เพิกถอนมติของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12ที่มีมติว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติและให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้เป็นไปตามมติดังกล่าวพร้อมทั้งดำเนินการให้มีผลเป็นไปตามคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55มีความหมายว่าบุคคลจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งได้ต่อเมื่อมีกรณีที่บุคคลนั้นต้องใช้สิทธิทางศาลหรือมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลนั้นตามกฎหมายแพ่ง ตามฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อที่เกี่ยวด้วยการใช้สิทธิทางศาลนั้น ตามพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 ไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งถูกกล่าวหาว่าทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการใช้สิทธิทางศาลขอให้ศาลวินิจฉัยไม่ว่ากรณีมีการอ้างว่าคณะกรรมการ ป.ป.ป.อนุกรรมการที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. มอบหมายหรือเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ป. ดำเนินการพิจารณาสืบสวนสอบสวนโดยมิชอบ หรือกรณีมีการอ้างว่าคณะกรรมการ ป.ป.ป. วินิจฉัยไม่ชอบก็ตาม ในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ และคณะกรรมการ ป.ป.ป. ดำเนินการพิจารณาสอบสวนแล้ว และมีมติว่าร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ จึงไม่มีกรณีที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิทางศาล
ส่วนในข้อที่ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่คณะกรรมการป.ป.ป. วินิจฉัยว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติย่อมมีผลเพียงว่า หากโจทก์ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาโดยชอบ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 มาตรา 21 ทวิ ต้องถือว่าโจทก์กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ คณะกรรมการป.ป.ป. จะต้องแจ้งพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการตามมาตรา21 ตรี คือ ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน แล้วเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งหรือดำเนินการให้มีการสั่งลงโทษโจทก์ ซึ่งจะมีการดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ย่อมอยู่ที่การพิจารณาของพนักงานอัยการหรือนายกรัฐมนตรีแล้วแต่กรณีอีกชั้นหนึ่ง การได้รับผลกระทบโดยตรงจากมติคณะกรรมการ ป.ป.ป. ที่วินิจฉัยว่า โจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ จึงเป็นเรื่องเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งโจทก์คาดคะเนเอาเอง กรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง เมื่อไม่มีกรณีที่โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ดังวินิจฉัยมา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ดังกล่าว
พิพากษายืน

Share