แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเคยฟ้องขับไล่โจทก์ให้รื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินของจำเลย และให้โจทก์ส่งมอบที่พิพาทคืน โจทก์ให้การต่อสู้คดีแล้วได้มีการท้ากันและโจทก์แพ้คดีตามคำท้า โจทก์มาฟ้องใหม่ว่าที่ดินซึ่งโจทก์ปลูกบ้านอยู่นอกเขตที่ดินของจำเลย ไม่ใช่ของจำเลย ดังนี้ คดีก่อนที่จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์มีประเด็นอยู่ว่าที่ดินที่จำเลยฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยหรือไม่ และที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็มีประเด็นที่จะให้ศาลวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือไม่ แม้ในคดีก่อนศาลจะมิได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยตรงเพราะคู่ความตกลงท้ากัน แต่เมื่อศาลได้วินิจฉัยตามคำท้าของคู่ความแล้ว ก็ต้องถือว่าศาลได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ที่พิพาทด้วย ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าคู่ความในคดีก่อนและคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันและคดีก่อนถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำคดีมาฟ้องใหม่อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เนื่องจากคำบังคับของศาลจังหวัดสมุทรปราการคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 357/2517 ระหว่างจำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ และโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย ให้ขับไล่โจทก์ในคดีนี้และบริวารกับให้รื้อถอนขนย้ายบ้านเลขที่ 837/1 ( 834/1 ) ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2480 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ และให้ส่งมอบที่ดินคืนจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามคำบังคับดังกล่าวได้ เพราะที่ดินที่โจทก์ปลูกบ้านหลังดังกล่าวอยู่นั้นเป็นที่ดินนอกเขตโฉนดเลขที่ 2480 ของจำเลย โจทก์ไม่สามารถเอาที่ดินนอกเขตโฉนดไปคืนจำเลยได้ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินที่โจทก์ปลูกบ้านนั้นอยู่นอกเขตโฉนดเลขที่ 2480 ไม่ใช่ของจำเลย
ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นฟ้องซ้ำ จึงสั่งไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าในคดีก่อนที่จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์คดีนี้มีประเด็นอยู่ว่า ที่ดินตามโฉนดที่จำเลยฟ้อง (คือโฉนดที่ 2480 ที่โจทก์อ้างในคดีนี้ ) เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยหรือไม่ และที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็มีประเด็นที่จะให้ศาลวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือไม่ ซึ่งโจทก์เองก็บรรยายไว้ในฟ้องเป็นทำนองรับว่าประเด็นข้อนี้มีอยู่แล้วในคดีก่อน เป็นแต่ศาลยังมิได้วินิจฉัย คงวินิจฉัยเพียงประเด็นตามคำท้าประเด็นเดียว ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าแม้ในคดีก่อนศาลจะมิได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยตรง เพราะคู่ความตกลงท้ากัน แต่เมื่อศาลได้วินิจฉัยตามคำท้าของคู่ความแล้ว ก็ต้องถือว่าศาลได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทด้วย มิฉะนั้นผู้ที่แพ้คดีตามคำท้าก็จะนำคดีมาฟ้องร้องใหม่อีกโดยอ้างว่าศาลยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นนั้น ๆ ซึ่งมิใช่ความประสงค์ของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าคู่ความในคดีก่อนและคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน และคดีก่อนศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำคดีมาฟ้องใหม่
พิพากษายืน