คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11029/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินของโจทก์โดยเพิ่มเติมจำนวนตัวเลขและตัวหนังสือในเช็คเงินสดที่เรือนจำกลางชลบุรีสั่งจ่ายในนามของจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปเบิกถอนเงินมาจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ แต่จำเลยที่ 1 ใช้เช็คขอเบิกเงินสดถึง 15,558,406 บาท เป็นการใช้เช็คเบิกเงินสดที่มากผิดปกติ เช่นนี้ โดยหน้าที่ตามสัญญารับฝากเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม และตามระเบียบภายในของธนาคารจำเลยที่ 2 พนักงานผู้ทำหน้าที่ตรวจรับเช็คและอนุมัติจ่ายเงินควรที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและพิจารณาด้วยความรอบคอบ และควรที่จะสงสัยถึงขนาดที่ควรจะสอบถามเรือนจำกลางชลบุรี ผู้สั่งจ่ายว่าได้ออกเช็คจ่ายเงินจำนวนมากดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 มาเบิกเงินสดไปจริงหรือไม่ การที่พนักงานของจำเลยที่ 2 ไม่ได้สอบถามผู้สั่งจ่าย และยอมจ่ายเงินตามที่ระบุในเช็คดังกล่าวไป ถือได้ว่าเป็นการละเว้นไม่กระทำการที่จะต้องกระทำเป็นการผิดสัญญารับฝากเงินและเป็นละเมิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับราชการตำแหน่งนักทัณฑวิทยา 5 ประจำเรือนจำกลางชลบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าการเงินและบัญชีมีหน้าที่ทำฎีกาวางฎีกาเบิกเงินจากคลังจังหวัด เขียนเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้มีอำนาจสั่งจ่าย ลงนามเบิกถอนเงินตามเช็คจากธนาคาร รับและจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของเรือนจำกลางชลบุรี จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประกอบบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้ทุจริตยักยอกเงินงบประมาณของโจทก์ที่คลังจังหวัดโอนเข้าธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชลบุรี ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของจำเลยที่ 2 ตามที่เรือนจำกลางจังหวัดชลบุรีได้เปิดบัญชีไว้ โดยจำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนตัวเลขและตัวหนังสือในเช็คเงินสดที่เรือนจำกลางชลบุรีสั่งจ่ายในนามของจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปเบิกถอนเงินมาจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ของเรือนจำกลางชลบุรีเป็นค่าเงินเดือนค่าล่วงเวลา และค่าสวัสดิการหลายครั้ง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเพิ่มเติมยอดเงินในเช็คเลขที่ 9169453 ซึ่งเรือนจำกลางชลบุรีสั่งจ่ายเป็นเงินสดในนามของจำเลยที่ 1 จำนวน 270,200 เป็น 1,270,200 บาท เบิกถอนเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชลบุรี เป็นจำนวนเงินที่แก้ไขและยักยอกไป 1,000,000 บาท วันที่ 17 ธันวาคม 2541 จำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเพิ่มเติมยอดเงินในเช็คเลขที่ 9169469 ซึ่งเรือนจำกลางชลบุรีสั่งจ่ายเป็นเงินสดในนามของจำเลยที่ 1 จำนวน 7,350 บาท เป็น 67,350 บาท เบิกถอนเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชลบุรีเป็นเงินที่ยักยอกไป 60,000 บาท วันที่ 5 มกราคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเพิ่มเติมยอดเงินในเช็คเลขที่ 9169485 ซึ่งเรือนจำกลางชลบุรีสั่งจ่ายเป็นเงินสดในนามของจำเลยที่ 1 จำนวน 283,000 บาท เป็น 1,283,000 บาท เบิกถอนเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชลบุรี เป็นจำนวนเงินยักยอกไป 1,000,000 บาท วันที่ 25 มกราคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเพิ่มเติมยอดเงินในเช็คเลขที่ 9169488 ซึ่งเรือนจำกลางชลบุรีสั่งจ่ายเป็นเงินสดในนามของจำเลยที่ 1 จำนวน 75,968.10 บาท เป็น 475,968.10 บาท เบิกถอนเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชลบุรี เป็นจำนวนเงินที่ยักยอกไป 400,000 บาท วันที่ 28 มกราคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเพิ่มเติมยอดเงินในเช็คเลขที่ 9169496 ซึ่งเรือนจำกลางชลบุรีสั่งจ่ายเป็นเงินสดในนามของจำเลยที่ 1 จำนวน 5,440 บาท เป็น 605,440 บาท เบิกถอนเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชลบุรี เป็นจำนวนเงินยักยอกไป 600,000 บาท วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเพิ่มเติมยอดเงินในเช็คเลขที่ 1622706 ซึ่งเรือนจำกลางชลบุรีสั่งจ่ายเป็นเงินสดในนามของจำเลยที่ 1 จำนวน 3,333.45 บาท เป็น 1,003,333.45 บาท เบิกถอนเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชลบุรี เป็นจำนวนเงินที่ยักยอกไป 1,000,000 บาท วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเพิ่มเติมยอดเงินในเช็คเลขที่ 1622713 ซึ่งเรือนจำกลางชลบุรีสั่งจ่ายเป็นเงินสดในนามของจำเลยที่ 1 จำนวน 58,743 บาท เป็น 558,743 บาท เบิกถอนเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชลบุรี เป็นจำนวนเงินที่ยักยอกไป 500,000 บาท วันที่ 8 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเพิ่มเติมยอดเงินเงินในเช็คเลขที่ 1622722 ซึ่งเรือนจำกลางชลบุรีสั่งจ่ายเป็นเงินสดในนามของจำเลยที่ 1 จำนวน 237,600 บาท 1,237,600 บาท เบิกถอนเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชลบุรี เป็นจำนวนเงินที่ยักยอกไป 1,000,000 บาท และวันที่19 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเพิ่มเติมยอดเงินในเช็คเลขที่ 1622725 ซึ่งเรือนจำกลางชลบุรีสั่งจ่ายเป็นเงินสดในนามของจำเลยที่ 1 จำนวน 58,406 บาท เป็น 15,558,406 บาท เบิกถอนเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชลบุรี แล้วจำเลยที่ 1 ได้ขาดหนีราชการไปโดยเบียดบังยักยอกเงิน 15,558,406 บาท ไปด้วย รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 แก้ไขยอดเงินในเช็คและยักยอกเอาไปจำนวน 21,118,406 บาท เงินจำนวนดังกล่าวเรือนจำกลางชลบุรีได้รับคืนมาแล้วทั้งสิ้น 16,969,937.40 บาท จึงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเอาไปจำนวน 4,148,468.60 บาท การที่จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเอาเงินของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ของตนหรือของผู้อื่นเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ทุจริตแก้ไขเพิ่มเติมยอดเงินในเช็คเบิกถอนเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชลบุรี และเจ้าหน้าที่ประจำของธนาคารจำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินตามเช็คที่แก้ไขเพิ่มเติมให้จำเลยที่ 1 ไปเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างหรือตามวัตถุประสงค์ของตัวการจำเลยที่ 2 โดยมิได้ใช้ความระมัดระวังป้องกันรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินของเรือนจำกลางชลบุรีซึ่งเป็นลูกค้า จากการไม่ระมัดระวังในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ธนาคาร จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างหรือตัวการของเจ้าหน้าที่ธนาคารดังกล่าว และในฐานะคู่สัญญาผู้รับฝากเงิน จะต้องรับผิดจ่ายเงินตามเช็คที่มีการแก้ไขจำนวนเงินในเช็คและถือได้ว่าการสั่งจ่ายเงินส่วนที่เกินไปกว่าการลงนามสั่งจ่ายจำนวนเงินดังกล่าว เรือนจำกลางชลบุรีผู้สั่งจ่ายไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 4,148,468.60 บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2542 ซึ่งจำเลยที่ 1 ขาดหนีราชการไปจนถึงวันฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงิน 4,545,698.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,148,468.60 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ล่วงรู้ถึงการกระทำทุจริตของจำเลยที่ 1 ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนเงินในเช็คทั้งเก้าฉบับดังกล่าว ทุกครั้งที่จำเลยที่ 1 นำเช็คของเรือนจำกลางชลบุรีที่สั่งจ่ายเป็นเงินสดในนามของจำเลยที่ 1 มาขึ้นเงินกับธนาคารจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รวมทั้งพนักงานก็ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ความรู้ความสามารถในการตรวจสอบเช็คทุกฉบับ จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 4,148,468.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยเมื่อเกิดคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 มิถุนายน 2543) ให้ไม่เกิน 397,230.07 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ฎีกาโจทก์ในข้อเท็จจริงที่ขอให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 60,000 บาท สำหรับเช็คเลขที่ 9169469 สั่งจ่ายเงินเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2541 นั้น จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท และไม่ปรากฏเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่จะรับฎีกาโจทก์ไว้ได้ ฎีกาโจทก์ส่วนนี้จึงต้องห้ามฎีกา ที่ศาลชั้นต้นรับไว้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับเช็คฉบับอื่นๆ ที่ล้วนมีทุนทรัพย์ที่พิพาทเกินสองแสนบาท เพราะเหตุผิดสัญญาหรือละเมิดหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฎีกาให้จำเลยที่ 2 รับผิดโดยอ้างเหตุว่าพนักงานของจำเลยที่ 2 ผู้ตรวจรับเช็คประมาทเลินเล่อ ไม่ทำตามระเบียบภายในของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.31 ข้อ 2.1.7.7.ข. ที่ให้พนักงานผู้ตรวจรับเช็ค หากพบว่าการเขียนจำนวนเงินทั้งตัวอักษรและตัวเลขเบียดเสียดกันเกินไปหรือเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวนมากผิดปกติ ก็ให้เพิ่มความระมัดระวังและพิจารณาด้วยความรอบคอบ หากยังมีข้อสงสัยให้สอบถามผู้สั่งจ่าย เห็นว่า สำหรับข้ออ้างของโจทก์ส่วนที่ว่าตัวอักษรและตัวเลขแสดงจำนวนเงินในเช็คทุกฉบับดังกล่าวมีขนาดช่องไฟที่เบียดเสียดชิดกันสามารถสังเกตและตรวจสอบด้วยความรอบคอบเพียงเล็กน้อยก็จะพบเห็นข้อพิรุธได้ การที่พนักงานผู้ตรวจเช็คไม่สอบถามผู้สั่งจ่ายกลับจ่ายเงินตามเช็คให้จำเลยที่ 1 ไป จึงเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาและเป็นละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 นำสืบรับตรงกันก็คือ จำเลยที่ 1 ผู้เขียนรายการในเช็คทุกฉบับเป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินของเรือนจำกลางชลบุรี ในการเบิกเงินตามเช็คจำเลยที่ 1 มาเบิกเงินสดด้วยตนเองในลักษณะที่จะนำเอาเงินสดไปเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยงานคือเรือนจำกลางชลบุรี จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่มาก่อนเกิดเหตุหลายปี จนเป็นที่รู้จักของพนักงานในธนาคารของจำเลยที่ 2 เช่นนี้โดยพฤติการณ์ เมื่อจำเลยที่ 1 นำเช็คดังกล่าวมาขอเบิกเงินสดที่ธนาคารของจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปตามที่เคยปฏิบัติมาก่อนหน้านั้นแล้วเป็นปกติ พนักงานของจำเลยที่ 2 ผู้มีหน้าที่รับตรวจเช็คไม่มีเหตุใดๆ ที่จะต้องระแวงสงสัยในตัวจำเลยที่ 1 ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะกระทำผิดโดยการเขียนจำนวนเงินทั้งตัวอักษรและตัวเลขลงในเช็ค จำเลยที่ 1 ย่อมเตรียมการเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้เกิดพิรุธจนอาจถูกตรวจจับได้ เช่น ต้องเว้นระยะห่างในการเขียนตัวอักษรและตัวเลขในขณะเขียนรายการจำนวนเงินที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบและลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คให้มากพอที่จะสามารถเขียนตัวอักษรและตัวเลขเพิ่มเติมได้โดยไม่เบียดเสียด หรือการเขียนตัวอักษรและตัวเลขให้มีน้ำหนักและลักษณะการเขียนที่เหมือนกันซึ่งเมื่อศาลฎีกาตรวจดูเช็คดังกล่าวทุกฉบับแล้ว เห็นว่า รายการจำนวนเงินในเช็คทุกฉบับ ทั้งที่เป็นตัวอักษรและเป็นตัวเลขไม่เบียดเสียดเป็นพิรุธถึงขนาดที่จะทำให้พนักงานของจำเลยที่ 2 ที่รู้จักจำเลยที่ 1 และทำธุรกรรมเช่นนี้กับจำเลยที่ 1 มานานแล้ว จะต้องระแวงสงสัยจนถึงกับต้องถามผู้สั่งจ่ายคือผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 การที่พนักงานของจำเลยที่ 2 จ่ายเงินตามเช็คให้จำเลยที่ 1 จึงไม่ถือการกระทำที่ผิดสัญญาหรือละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาโจทก์ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
แต่สำหรับฎีกาของโจทก์ส่วนที่ว่า เช็คหมาย จ. 17 สั่งจ่ายเงินจำนวนมากถึง 15,558,408 บาท พนักงานของจำเลยที่ 2 จ่ายเงินตามเช็คไปโดยไม่ระมัดระวังไม่รอบคอบ และไม่สอบถามผู้สั่งจ่ายจึงเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาและเป็นละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เช็คเบิกเงินสดที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าการใช้เช็คเอกสารหมาย จ.17 ขอเบิกเงินสดจำนวนถึง 15,558,406 บาท เป็นการใช้เช็คเบิกเงินสดที่มากผิดปกติ เช่นนี้โดยหน้าที่ตามสัญญารับฝากเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสาม และตามระเบียบภายในของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวแล้วพนักงานผู้ทำหน้าที่ตรวจรับเช็คและอนุมัติจ่ายเงินควรที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และพิจารณาด้วยความรอบคอบและควรที่จะสงสัยถึงขนาดที่ควรจะสอบถามเรือนจำกลางชลบุรีผู้สั่งจ่ายว่าได้ออกเช็คจ่ายเงินจำนวนมากดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 มาเบิกเงินสดไปจริงหรือไม่ การที่พนักงานของจำเลยที่ 2 ไม่ได้สอบถามผู้สั่งจ่าย และยอมจ่ายเงินตามที่ระบุในเช็คดังกล่าวไป ถือได้ว่าเป็นการละเว้นไม่กระทำการที่จะต้องกระทำ เป็นการผิดสัญญารับฝากเงินและเป็นละเมิดด้วยในตัวเอง เมื่อจำเลยที่ 2 ยอมจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากของเรือนจำกลางชลบุรี ผู้สั่งจ่ายไปจำนวน 15,558,406 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งผู้สั่งจ่าย 58,406 บาท จำเลยที่ 2 จึงจ่ายเงินเกินไปจำนวน 15,500,000 บาท เมื่อปรากฏว่าต่อมาจำเลยที่ 2 ได้รับโอนเงินจำนวน 15,000,000 บาท กลับคืนเข้าบัญชีของผู้สั่งจ่ายแล้ว จึงยังคงเหลือเงินที่ผู้สั่งจ่ายเสียหายตามเช็คฉบับนี้อยู่เพียง 500,000 บาท แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงยังปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปด้วยว่า ก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนโจทก์แล้ว โดยโอนเงินเข้าบัญชีเรือนจำกลางชลบุรีจำนวน 1,742,924.41 บาท และชำระเป็นเงินสดจำนวน 227,012,99 บาท จึงรวมเป็นเงินที่ชำระทั้งสิ้น 1,969,937.40 บาท เงินที่ชำระดังกล่าวโจทก์ไม่ได้ระบุว่าเป็นการชำระค่าเสียหายตามเช็คฉบับไหนเป็นจำนวนเงินเท่าใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเป็นสมควรให้ถือว่าเป็นการชำระความเสียหายตามเช็คทุกฉบับตามส่วนกล่าวคือเมื่อหักเงินจำนวน 15,000,000 บาท ที่ผู้สั่งจ่ายได้รับคืนกลับเข้าบัญชีเงินฝาก ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการส่งเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.17 แล้วยังคงเหลือยอดเงินค่าเสียหายจำนวน 6,118,406 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนให้อีกรวม 1,969,937.40 บาท เช่นนี้เมื่อคิดคำนวณแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระความเสียหายที่มีอยู่จำนวน 500,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.17 แล้ว เป็นเงิน 160,984.53 บาท จึงยังคงเหลือความเสียหายตามเช็คเอกสารหมาย จ.17 ที่จำเลยที่ 2 มีส่วนต้องรับผิดอยู่เป็นเงินจำนวน 339,015.47 บาท ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีเหตุที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดได้ โจทก์ก็เห็นว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้สั่งจ่ายเช็ค ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์เอง ปรากฏตามหนังสือทวงถามของโจทก์ให้ผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ครับผิดร้อยละ 60 ของความเสียหาย เอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำร้อง ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2549 ของนายนิกรผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ ดังนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดในค่าเสียหายร้อยละ 40 ของค่าเสียหายจำนวน 339,015,47 บาท ตามเช็คหมาย จ.17 ซึ่งคิดคำนวณได้เป็นเงิน 135,606.19 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 135,606.19 บาท แก่โจทก์ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในส่วนของจำเลยที่ 2 กับโจทก์เห็นสมควรให้ตกเป็นพับ

Share