คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7892/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ขอให้ลดโทษและโจทก์อุทธรณ์เพียงข้อกฎหมายว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานนั้นสูงเกินไป ก็มีอำนาจกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี อันเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษแก่จำเลยตามความผิดของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกอุทธรณ์ซึ่งจะเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 ประกอบด้วยมาตรา 215 แต่อย่างใด
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 75 และมาตรา 76 แห่ง ป.อ. และให้ใช้ข้อความใหม่แทน สำหรับคดีนี้ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ การลดมาตราส่วนโทษตาม ป.อ. มาตรา 76 (เดิม) กำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดสำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้ แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะบังคับตาม ป.อ. มาตรา 75 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นสมควรพิจารณาลงโทษก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับว่าศาลจะต้องลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลย มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควร การลดมาตราส่วนโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 57, 75, 76, 76/1, 92, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบยาแก้ไอที่ใช้ผสมน้ำพืชกระท่อมเสพ 10 ถุง ขวดยาแก้ไอ 5 ขวด ขวานที่ใช้ตัดฟืนสำหรับใช้ต้มพืชกระท่อม 2 ด้าม เงินสดที่ได้จากการจำหน่ายน้ำต้มพืชกระท่อมในวันเกิดเหตุ 2,359 บาท ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 57, 75 วรรคสอง, 76/1 วรรคสาม, 92 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษ
ให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 สำหรับความผิดฐานร่วมกับพวกผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ฐานร่วมกับพวกมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกับพวกจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) นั้น เมื่อปรากฏว่าพืชกระท่อมที่โจทก์อ้างมาเป็นจำนวนเดียวกันทั้งหมด ประกอบกับลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยตั้งแต่ร่วมกับพวกผลิตน้ำต้มพืชกระท่อมจนกระทั่งร่วมกับพวกจำหน่ายน้ำต้มพืชกระท่อมให้แก่ผู้มีชื่อนั้น เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเชื่อมโยงในวาระเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกับพวกจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 1 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน 15 วัน และปรับ 5,000 บาท อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 จึงให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ภายในเวลาดังกล่าว โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลย ดังนี้
1. ให้จำเลยมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง ทุกครั้งที่มารายงานตัวให้แพทย์ตรวจปัสสาวะจำเลยด้วย หากพบสารเสพติดให้โทษให้รายงานศาล
2. ให้จำเลยประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะ
3. ห้ามจำเลยคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี ห้ามจำเลยเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนหรือในสถานเริงรมย์ทุกแห่ง และห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด
4. ให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 40 ชั่วโมง
หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนราธิวาส มีกำหนด 40 ชั่วโมง ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 107 ริบของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานร่วมกับพวกผลิตพืชกระท่อม จำคุก 15 วัน และปรับ 5,000 บาท ฐานร่วมกับพวกมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 15 วัน และปรับ 5,000 บาท ฐานร่วมกับพวกจำหน่ายพืชกระท่อม จำคุก 15 วัน และปรับ 5,000 บาท ฐานเสพพืชกระท่อม จำคุก 15 วัน รวมจำคุก 60 วัน และปรับ 15,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 30 วัน และปรับ 7,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมมีกำหนด 30 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่าตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมาย โจทก์เพียงแต่อุทธรณ์ขอให้วินิจฉัยว่า ความผิดฐานร่วมกับพวกผลิตพืชกระท่อม ฐานร่วมกับพวกมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกับพวกจำหน่ายพืชกระท่อม เป็นความผิดหลายกรรม ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงมีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษาว่า การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมหรือไม่ แล้ววางโทษเฉพาะความผิดฐานที่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดโทษไว้เท่านั้น และไม่มีอำนาจแก้ไขโทษในความผิดฐานร่วมกับพวกจำหน่ายพืชกระท่อมที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดโทษไว้แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แก้ไขโทษในความผิดฐานดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะอุทธรณ์ขอให้วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม แล้วกำหนดโทษแก่จำเลยในความผิดฐานร่วมกับพวกผลิตพืชกระท่อม จำคุก 15 วัน และปรับ 5,000 บาท ฐานร่วมกับพวกมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 15 วัน และปรับ 5,000 บาท และแก้ไขโทษในความผิดฐานร่วมกับพวกจำหน่ายพืชกระท่อม เป็นจำคุก 15 วัน และปรับ 5,000 บาท นั้น แสดงว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า โทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดสำหรับความผิดฐานร่วมกับพวกจำหน่ายพืชกระท่อมนั้นสูงเกินไปไม่เหมาะสม และกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี อันเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษแก่จำเลยตามความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง และโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แก้ไขนั้นก็เป็นโทษที่เบากว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หาได้ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ประกอบด้วยมาตรา 215 หรือมาตรา 212 ไม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 75 และมาตรา 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ข้อความใหม่แทนสำหรับคดีนี้ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ การลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 (เดิม) กำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดสำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้ แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นสมควรพิจารณาลงโทษก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับว่าศาลจะต้องลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลย มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควร การลดมาตราส่วนโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 (ที่แก้ไขใหม่) โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share