คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ มีผลเท่ากับเป็นคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ถือว่าเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (3) จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ในเมื่อศาลพิพากษาแล้วได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 วรรคท้าย แต่การอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวอาจมีผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต้องเป็นอันถูกยกไป จึงอยู่ในบังคับที่ผู้อุทธรณ์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ปรากฏว่าในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยยังได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษามาพร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในเวลาต่อมา อันมีผลทำให้จำเลยไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลในการอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งรวมถึงเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องนำมาวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 229 การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่างหากจากอุทธรณ์คำพิพากษา โดยยอมชำระค่าธรรมเนียมศาลในการยื่นอุทธรณ์ไม่อาจแปลว่าจำเลยประสงค์ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเฉพาะในการยื่นฟ้องอุทธรณ์คำพิพากษาอย่างเดียว อันจะมีผลให้จำเลยต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่ง
ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขตามคำร้องของจำเลยข้อแรกที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดๆ และไม่เคยกู้เงินและรับเงินใดๆ จากโจทก์ที่ฟ้องในคดีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะทำคำให้การต่อสู้คดี จึงนับว่าไม่มีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไข ทั้งมิใช่การขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะขอแก้ไขภายหลังวันสืบพยานไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ได้
ส่วนข้อความที่จำเลยขอเพิ่มเติมต่อมาที่ว่าโจทก์จดทะเบียนใหม่โดยยังไม่มีประกาศลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ทำให้กรรมการโจทก์ไม่มีอำนาจกระทำนิติกรรม มีผลให้หนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงสิ้นผลไป ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเกี่ยวกับอำนาจฟ้องและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในส่วนนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้สืบพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้วโดยคู่ความต่างก็ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจนสิ้นกระแสความแล้ว และศาลชั้นต้นได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยอยู่ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยก็ยกขึ้นอ้างเป็นข้ออุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไว้แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นยกคำร้องในส่วนนี้ จึงมิได้ทำให้จำเลยเสียหาย คดีย่อมไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,463,816.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ของต้นเงิน 2,152,488.19 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองตามโฉนดเลขที่ 103040, 103041 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดชำระ และหากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระจนครบ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาในวันนัดสืบพยานจำเลย ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย คำสั่งที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ จึงเป็นคำสั่งที่ผิดหลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ให้เพิกถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งใหม่เป็นให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,152,448.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 29 ตุลาคม 2540) ต้องไม่เกิน 311,367.84 บาท หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 103040, 103041 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นขายทอดตลาดชำระจนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์คำสั่ง คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษา จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางต่อศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นให้ยกคำร้องของจำเลย ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ถือว่าเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228 (3) เมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณา จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ในเมื่อศาลพิพากษาแล้วได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228 วรรคท้าย แต่การอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวอาจมีผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต้องเป็นอันถูกยกไปเช่นนี้ จึงอยู่ในบังคับที่ผู้อุทธรณ์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยยังได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาอีกฉบับหนึ่งมาพร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในเวลาต่อมา อันมีผลทำให้จำเลยไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลในการอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งรวมถึงเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องนำมาวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 157 ประกอบมาตรา 229 ดังนั้น การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่างหากจากอุทธรณ์คำพิพากษา โดยยอมชำระค่าธรรมเนียมศาลในการยื่นอุทธรณ์คำสั่ง 200 บาท ย่อมไม่อาจแปลว่าจำเลยประสงค์ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเฉพาะในการยื่นฟ้องอุทธรณ์คำพิพากษาอย่างเดียว โดยไม่ประสงค์ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในการยื่นฟ้องอุทธรณ์คำสั่งอันมีผลให้จำเลยจะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่งดังความเห็นของศาลอุทธรณ์ เพราะการแปลความเช่นนั้นย่อมทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่ขัดแย้งกับบทกฎหมายดังกล่าว ทั้งๆ ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในการยื่นฟ้องอุทธรณ์คำพิพากษาที่จำเลยได้ยื่นมาพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่งนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาในข้อที่ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2542 แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นให้ยกคำร้องชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยดังกล่าวแยกเป็น 3 ข้อ ข้อแรก จำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมโดยอ้างว่าเป็นการขยายความให้ชัดเจนและถูกต้องยิ่งขึ้น ข้อ 2 และข้อ 3 เป็นคำแถลงถึงประเด็นที่จำเลยขอแก้ไขประเด็นใดที่คงไว้ เห็นว่า ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขตามคำร้องของจำเลยข้อแรกที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดๆ และไม่เคยกู้เงินและรับเงินใดๆ จากโจทก์ที่ฟ้องในคดีนี้ จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ และไม่ต้องรับผิดตามหนี้ใดๆ ที่โจทก์กล่าวอ้าง แม้จำเลยจะอ้างว่าข้อความที่จำเลยขอแก้ไขดังกล่าวเป็นการขยายความให้ชัดเจนและถูกต้องยิ่งขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะทำคำให้การต่อสู้คดี จึงนับว่าไม่มีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไข ทั้งมิใช่การขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะขอแก้ไขภายหลังวันสืบพยานไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การส่วนนี้แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นยกคำร้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อความที่จำเลยขอเพิ่มเติมต่อมาที่ว่าโจทก์จดทะเบียนใหม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2539 โดยยังไม่มีประกาศลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ทำให้นายสุรชัยและนายธีระ กรรมการโจทก์ ไม่มีอำนาจกระทำนิติกรรมที่จะถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอก มีผลให้หนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงสิ้นผลไป ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์โดยยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในส่วนนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสำนวนคดีปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้สืบพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้ว โดยคู่ความต่างก็ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจนสิ้นกระแสความแล้ว และศาลชั้นต้นได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยอยู่ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยก็ยกขึ้นอ้างเป็นข้ออุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไว้แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นยกคำร้องในส่วนนี้ จึงมิได้ทำให้จำเลยเสียหายแต่อย่างใด คดีย่อมไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่อีก ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share