แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เดิมบิดาโจทก์จำเลยเช่าที่ดินจากกรมการศาสนามาแล้วปลูกบ้านพิพาทมานานประมาณ50 ปี โดยโจทก์จำเลยอยู่กับบิดามารดาในบ้านนี้ ต่อมาบิดาตาย โจทก์จำเลยจึงไปขอแบ่งเช่าที่ดินที่ตั้งบ้านพิพาทจากกรมการศาสนาเนื้อที่คนละ 9 ตารางวา ปรากฏว่าบ้านพิพาทบางส่วนล้ำเข้าไปในเขตที่ดินที่โจทก์เช่ามา แม้โจทก์จะมีสิทธิอยู่อาศัยในบ้านพิพาทแต่ขณะฟ้องโจทก์มิได้ครอบครองบ้านพิพาทหรือครอบครองที่ดินส่วนที่ปลูกบ้านพิพาท การที่โจทก์เสียค่าเช่าที่ดินเต็มตามจำนวนเนื้อที่ดินที่เช่าแก่กรมการศาสนาหาได้หมายความว่ากรมการศาสนาผู้ให้เช่าได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินส่วนที่บ้านพิพาทปลูกรุกล้ำอยู่นั้นให้แก่โจทก์แล้วไม่ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้ที่ดินเต็มเนื้อที่ที่เช่ามาเป็นเรื่องโจทก์ในฐานะผู้เช่าถูกรอนสิทธิในทรัพย์สินที่เช่า ชอบที่โจทก์จะฟ้องร้องบังคับให้ผู้ให้เช่าส่งมอบที่ดินส่วนที่บ้านพิพาทปลูกรุกล้ำอยู่นั้นให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 549 การที่จำเลยไม่ยอมรื้อบ้านพิพาทส่วนที่รุกล้ำให้โจทก์ถือไม่ได้ว่าโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2902/2528).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินของกรมการศาสนาเพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยตลอดมาจำเลยได้เช่าที่ดินติดต่อกับที่เช่าของโจทก์ทางทิศตะวันออกซึ่งมีบ้านเลขที่ 1624 ที่จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ครอบครองปลูกอยู่ แต่อาคารโรงเรือนได้สร้างรุกล้ำเข้ามาในเขตที่เช่าของโจทก์กว้างประมาณ 3.50 เมตร และยาวประมาณ 5 เมตร ทั้งนี้โจทก์คงอยู่ร่วมกับจำเลยในบ้านนี้ตลอดมา ต่อมาโจทก์ไม่อาจอยู่ร่วมกับจำเลยได้ จึงย้ายไปปลูกเพิงพักในเขตที่เช่าของโจทก์แต่ได้รับความเดือดร้อนจึงบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำออกไป จำเลยเพิกเฉย โจทก์ได้รับความเสียหาย หากปลูกสร้างโรงเรือนทำการค้าในที่พิพาทจะมีรายได้ซึ่งโจทก์ขอคิดวันละ 100 บาท ขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายอาคาร สิ่งปลูกสร้างซึ่งปลูกรุกล้ำเข้ามาในเขตที่เช่าของโจทก์กว้างประมาณ 3.50 เมตร ยาวประมาณ 5 เมตร และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนขนย้ายออกไป
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ครอบครองบ้านเลขที่ 1624 ซึ่งรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่เช่าของโจทก์ก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่า จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ถูกรอนสิทธิเพราะผู้ใหญ่เช่าไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้โจทก์ได้ จำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินส่วนที่โจทก์มีสิทธิจำนวน 3.07 เมตร โดยให้จำเลยเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์วันละ50 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างซึ่งรุกล้ำที่ดินของโจทก์ออกไปให้เรียบร้อย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังยุติว่าโจทก์จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เดิมบิดาโจทก์จำเลยเช่าที่ดินจากกรมการศาสนาแล้วปลูกบ้านเลขที่ 1624 ซึ่งเป็นบ้านพิพาทมานานประมาณ 50 ปีแล้ว โดยโจทก์จำเลยอยู่กับบิดามารดาในบ้านนี้เมื่อปี 2520 บิดาตายโจทก์จำเลยจึงไปขอแบ่งเช่าที่ดินที่ตั้งบ้านพิพาทจากกรมการศาสนาเนื้อที่คนละ 9 ตารางวา โดยกรมการศาสนาทำสัญญาเช่าให้จำเลยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2521 และทำสัญญาเช่าให้โจทก์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2521 ปรากฏว่าบ้านพิพาทบางส่วนล้ำเข้าไปในเขตที่ดินที่โจทก์เช่ามา เห็นว่าขณะฟ้องโจทก์มิได้ครอบครองบ้านพิพาทหรือครอบครองที่ดินส่วนที่ปลูกบ้านพิพาทแต่ประการใด แม้โจทก์จะมีสิทธิอยู่อาศัยในบ้านพิพาทตามบันทึกของจำเลยที่ให้ไว้ต่อเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2525 ก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงและตามฎีกาของโจทก์ โจทก์ก็มิได้เข้าไปครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในบ้านพิพาทหรือในที่ดินส่วนที่บ้านพิพาทปลูกรุกล้ำเขตที่ดินที่โจทก์เช่ามา ที่โจทก์เสียค่าเช่าที่ดินเต็มตามจำนวนเนื้อที่ดินที่เช่าแก่กรมการศาสนา หาได้หมายความว่ากรมการศาสนาผู้ให้เช่าได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินส่วนที่บ้านพิพาทปลูกรุกล้ำอยู่นั้นให้แก่โจทก์แล้วไม่ ที่โจทก์ได้รับความเสียหายก็เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ใช้ที่ดินเต็มเนื้อที่ที่เช่ามา จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้เช่าถูกรอนสิทธิในทรัพย์ที่เช่าชอบที่โจทก์จะฟ้องร้องบังคับให้กรมการศาสนาผู้ให้เช่าช่วงส่งมอบที่ดินส่วนที่บ้านพิพาทปลูกรุกล้ำอยู่นั้นให้โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 549 การที่จำเลยไม่ยอมรื้อถอนบ้านพิพาทส่วนที่รุกล้ำให้โจทก์ ถือไม่ได้ว่าโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เทียบกับคำพิพากษาฎีกาที่ 2902/2528 ระหว่าง นายบุญเลิศ เลี่ยมละออ โจทก์การเคหะแห่งชาติ โจทก์ร่วม นายเฉลิม เลี่ยมละออ จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน.