แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางแยกและมีเส้นทึบแบ่งกลางถนน ไว้ซึ่ง เป็นเครื่องหมายห้ามแซง จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ แซง รถยนต์ คันหน้าฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรดังกล่าว และเมื่อรู้ว่าแซง คันหน้าไม่พ้นเพราะผู้ตายขับรถสวนทางมา แทนที่จำเลยที่ 2 จะลดความเร็วลงหรือหยุดรถ เพื่อนำรถยนต์ กลับเข้าช่องทางตน ก่อนกลับเปิดไฟขอทาง เพื่อให้ผู้ตายซึ่ง ขับสวนมาเป็นฝ่ายหลบทั้ง ๆ ที่ ผู้ตายอยู่ในช่องทางที่ถูกต้อง เมื่อรถยนต์ ทั้ง 2 ฝ่ายชนกัน ต้อง ถือ ว่า เกิด จากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 แต่ เพียงฝ่ายเดียว การที่ผู้ตายได้ รับส่วนลดในค่ารักษาพยาบาลเพราะเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านไม่เป็นเหตุให้ความรับผิดของจำเลยลดลงไปด้วยเนื่องจากเป็นสิทธิเฉพาะ ตัว ของผู้ตาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทชนกับรถยนต์ของสามีโจทก์เป็นเหตุให้สามีโจทก์ถึงแก่กรรม และรถยนต์ของสามีโจทก์เสียหายขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากผู้ตายเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย385,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25เมษายน 2527 เวลาประมาณ 14 นาฬิกาเศษ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ได้ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 กลับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 มาตามถนนจรดวิถีถ่อง จำเลยที่ 2 ได้ขับรถแซงรถที่แล่นอยู่ข้างหน้าขึ้นไปชนกับรถยนต์บรรทุกเล็กปิกอัพหมายเลขทะเบียน น-1784 สุโขทัย ที่นายนา สุทธานุกูล ผู้ตายขับรถสวนทางมาในเส้นทางเดินรถของผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บและถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา รถยนต์ของผู้ตายได้รับความเสียหายจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องคดีอาญาและให้การรับสารภาพ ศาลจังหวัดสวรรคโลกได้พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 1 เดือน คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในศาลฎีกาเพียงว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และค่าเสียหายของโจทก์เพียงใด
ปัญหาเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ให้การสู้คดีไว้ 2 ประการ ประการแรกว่า โจทก์ไม่ใช่ภริยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่า โจทก์เป็นภริยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ในข้อนี้ ปัญหาประการแรกนี้จึงยุติ ส่วนประการที่สอง จำเลยที่ 1ให้การว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายละเมิด จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาเดียวกับที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นไว้ในคำพิพากษาว่าเหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 อันจำเลยที่ 1 นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ และศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยไว้แล้ว ปัญหานี้จำเลยที่ 1 ได้ฎีกาต่อมาว่า จำเลยที่ 2 เห็นว่าจะแซงไม่ทันจึงชะลอความเร็วลงเพื่อนำรถเข้าเส้นทาง แต่ปรากฏว่ารถที่จะถูกแซงลดความเร็วลงเพื่อให้จำเลยที่ 2 แซงพ้นไปได้จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจนำรถเข้าเส้นทางได้ คงล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางประมาณ 80 เซนติเมตร จำเลยที่ 2 จึงได้ให้สัญญาณไฟเตือนรถยนต์ผู้ตาย ผู้ตายได้ตอบด้วยสัญญาณไฟ จำเลยที่ 2 เข้าใจผิดว่าผู้ตายจะหลบหลีกไปได้เพราะถนนมีความกว้างพอ แต่ผู้ตายกลับเจตนาพุ่งเข้าชนรถจำเลยที่ 2 เอง ผู้ตายเป็นฝ่ายประมาท จึงไม่มีสิทธิและอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คำกล่าวอ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 2เพียงปากเดียวมาเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนทั้งคดีได้ความจากร้อยตำรวจโทถวัลย์ มั่งคั่ง พนักงานสอบสวนซึ่งตรวจสถานที่เกิดเหตุว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีเส้นทึบแบ่งกลางถนนไว้และเป็นทางแยกเข้าโรงเรียน จำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่าทราบว่าเส้นทึบที่แบ่งกลางถนนนั้นเป็นเครื่องหมายห้ามแซง และมีกฎจราจรห้ามแซงบริเวณทางแยก ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์แซงรถยนต์คันหน้าฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรดังกล่าว จำเลยที่ 2 จะต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นกว่าปกติ เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นรถยนต์ที่ผู้ตายขับแล่นสวนทางมาในขณะที่กำลังแซงรถยนต์คันหน้าและรู้ว่าแซงไม่พ้น จำเลยที่ 2 จะต้องรีบลดความเร็วลงหรือหยุดรถเพื่อนำรถยนต์กลับเข้าช่องทางของตนก่อน การที่จำเลยที่ 2 เปิดไฟขอทางแล้วคาดหมายว่าผู้ตายซึ่งขับรถยนต์สวนทางมาจะเป็นฝ่ายหลบหลีกไปทั้ง ๆที่ผู้ตายเป็นฝ่ายอยู่ในช่องทางที่ถูกต้องนั้น แสดงให้เห็นถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 อย่างชัดแจ้ง นอกจากนี้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 450/2527 ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ว่าขับรถโดยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ โดยขับรถบรรทุกดินแทกระบะหลัง ฯลฯ แซงขึ้นหน้ารถคันอื่นตรงทางแยกที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามแซง ฯลฯ เป็นเหตุให้ชนรถยนต์บรรทุกที่นายนาผู้ตายขับสวนทางมาได้รับความเสียหาย มีคนตายและบาดเจ็บสาหัส ฯลฯ และจำเลยหลบหนีไป จำเลยที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ขับรถโดยประมาทขับชนผู้ตาย โดยผู้ตายไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ปัญหานี้ชอบแล้ว
ปัญหาต่อไป ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าค่าเสียหายของรถยนต์โจทก์ โจทก์สืบไม่ได้ว่าเสียหายเท่าใด ข้อนี้โจทก์นำสืบว่ารถยนต์โจทก์ราคา 50,000 บาท และถูกชนเสียหายจนซ่อมไม่ได้ นายวิรัตน์ จันทร์สุวรรณ เจ้าของอู่พงษ์ไพศาล ซึ่งเป็นอู่รับเคาะพ่นสี ดามรถ เบิกความว่า ถ้าจะซ่อมรถยนต์โจทก์ต้องใช้จ่ายเป็นเงิน 52,000 บาท ร้อยตำรวจโทถวัลย์เบิกความว่า ถ้าจะซ่อมจะต้องใช้เงินประมาณ 40,000-50,000 บาท จำเลยที่ 1 มีพยานคือนายสำราญ ทศเทียน เบิกความว่า ได้ตีราคาค่าซ่อมรถยนต์โจทก์ไว้20,000 บาท แต่พยานได้ตรวจสภาพรถยนต์โจทก์เพียงผิวเผินมิได้ตรวจละเอียด จึงไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ เมื่อพิเคราะห์คำพยานโจทก์ประกอบภาพถ่ายรถยนต์โจทก์หลังจากถูกชนในสำนวน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนและรายการความเสียหาย เอกสารหมาย จ.22 แล้วเห็นว่าการที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายสำหรับรถยนต์โจทก์เป็นเงิน40,000 บาท นั้น ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว สำหรับค่ารักษาพยาบาลผู้ตาย มีปัญหาต่อไปว่าการที่โจทก์ได้รับลดค่ารักษาพยาบาลนั้นเป็นเหตุให้ความรับผิดของจำเลยลดลงหรือไม่ โจทก์มีใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลเอกสารหมาย จ.6 มาแสดง เป็นเงิน 10,055 บาทและโจทก์เบิกความว่า โรงพยาบาลพุทธชินราชคิดค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 20,000 บาทเศษ เนื่องจากผู้ตายเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจึงได้รับการลดค่ารักษาพยาบาลลงครึ่งหนึ่ง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7จำเลยไม่มีพยานมาหักล้างว่าความเป็นจริงมิได้เป็นไปตามที่โจทก์เบิกความ การที่โจทก์รับการได้ลดค่ารักษาพยาบาลเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย ไม่เป็นผลให้ความรับผิดของจำเลยต้องลดลงไปด้วย จำเลยยังต้องมีความรับผิดในค่าเสียหายเรื่องนี้เท่าเดิม ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.