คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1139/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยจำหน่ายอากรแสตมป์ปลอมให้แก่โจทก์ พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจ พบจึงแจ้งให้โจทก์ชำระเงินค่าอากรแสตมป์ปลอมและปรับอีก6 เท่าของค่าอากรแสตมป์ปลอม โจทก์ชำระค่าอากรแสตมป์และค่าปรับแล้วชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อเดือนธันวาคม 2521 ถึงเดือนสิงหาคม 2526ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาชุมพรของโจทก์ซื้ออากรแสตมป์จากจำเลยเป็นเงินประมาณ 60,000 บาท เพื่อใช้ในกิจการธนาคารโจทก์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าเป็นอากรแสตมป์ปลอม โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียเงินซื้ออากรแสตมป์ส่วนที่ปลอม และถูกพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ปรับ 6 เท่าของเงินค่าอากรแสตมป์ที่จะต้องใช้ปิดขอให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมจำนวน234,308 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งของต้นเงิน 221,830บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า พนักงานของโจทก์จะซื้ออากรแสตมป์จากจำเลยหรือไม่จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง พนักงานของโจทก์เป็นผู้เอาอากรแสตมป์ไปจากร้านของจำเลยเอง จำเลยยอมรับว่าจำเลยถูกฟ้องคดีอาญาในข้อหามีปลอมจำหน่ายอากรแสตมป์ปลอม จำเลยให้การรับสารภาพเพราะไม่ต้องการให้มีข้อยุ่งยาก ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมากเกินไปเสียหายจริงไม่เกิน 6,660 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน 221,830บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่ 15กันยายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่7 มิถุนายน 2527) ต้องไม่เกิน 12,475 บาท ตามขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าสำนักงานสรรพากรจังหวัดชุมพรได้รับหนังสือแจ้งจากจังหวัดสุพรรณบุรี ว่าสัญญาซื้อขายซึ่งทำที่จังหวัดชุมพรปิดอากรแสตมป์ปลอม ขอให้ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ตามบริษัทว่ามีการใช้อากรแสตมป์ปลอมหรือไม่ นางสาวสุกุมา อริยประยูร นักวิชาการสรรพากร 4สำนักงานสรรพากรจังหวัดชุมพรกับพวกได้ไปตรวจสอบที่ธนาคารโจทก์สาขาชุมพร เมื่อเดือนสิงหาคม 2526 พบอากรแสตมป์ชนิดดวงละ 20 บาทปลอมปิดอยู่ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้จำนวน 1,593 ดวงสอบถามแล้วทราบว่าโจทก์ซื้อมาจากร้านซุ่มทองของจำเลย ได้ให้โจทก์ชำระค่าอากรแสตมป์ปลอมและเงินเพิ่มอากรตามกฎหมายโจทก์ชำระเงินดังกล่าวไปแล้วได้ติดต่อทวงถามให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวจำเลยไม่ยอมชำระ โจทก์เป็นผู้จ่ายค่าอากรแสตมป์ในการทำสัญญาต่าง ๆ กับลูกค้าของธนาคารมีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่า พนักงานของโจทก์ได้ซื้ออากรแสตมป์ปลอมดังกล่าวจากจำเลยหรือไม่ ได้ความจากนางสาวพินิจษร ไหลสกุล ผู้ช่วยผู้จัดการด้านสินเชื่อของโจทก์ว่าการทำสัญญาเงินกู้หรือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจะต้องปิดอากรแสตมป์ทุกครั้ง และทราบว่าได้ซื้อมาจากร้านของจำเลยซึ่งอยู่ห่างจากธนาคารโจทก์ประมาณ 200 เมตร เมื่อพนักงานของโจทก์ซื้ออากรแสตมป์มาแล้วจะต้องลงบัญชีเบ็ดเตล็ดไว้ นางพวงเพ็ญ ใจสมคม พนักงานของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ทำสัญญายืนยันว่าได้สั่งซื้ออากรแสตมป์จากร้านของจำเลย โดยสั่งซื้อทางโทรศัพท์แล้วทางร้านจะนำมาส่งให้รับอากรแสตมป์แล้วจึงให้เงิน แต่จำเลยไม่ได้ออกใบรับเงินไม่เคยสั่งซื้อจากที่อื่น ภายหลังงดซื้อจากจำเลยเพราะเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบพบอากรแสตมป์ดวงละ 20 บาท ที่ใช้ปิดสัญญาต่าง ๆ เป็นอากรแสตมป์ปลอมจำนวน 1,593 ดวงเป็นเงิน 31,860 บาท ส่วนที่เหลือยังไม่ได้ใช้จำนวน 54 ดวงเป็นเงิน 1,080 บาท เจ้าหน้าที่สรรพากรได้ยึดไป ร้อยตำรวจเอกธันวา สงวนศิลป์ รองสารวัตรแผนกยานพาหนะกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร ได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าเคยสั่งซื้ออากรแสตมป์ดวงละ 20 บาท จากร้านจำเลยโดยทางโทรศัพท์จำนวน 300 ดวง จำเลยให้ลูกจ้างมาให้พยานที่ที่ทำงาน พยานได้จ่ายเงินค่าอากรแสตมป์ แต่จำเลยไม่ได้ออกใบรับเงินให้ ต่อมาเจ้าหน้าที่สรรพากรได้มาตรวจสอบอากรแสตมป์ พยานนำอากรแสตมป์ที่ซื้อจากร้านจำเลยมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูแล้วบอกว่าเป็นอากรแสตมป์ปลอม พยานแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรว่าได้ซื้ออากรแสตมป์ดังกล่าวมาจากร้านจำเลย ดังนี้ จะเห็นได้ว่า ร้อยตำรวจเอกธันวามิได้เกี่ยวข้องกับโจทก์และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยได้ยืนยันต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรทันทีว่าได้ซื้ออากรแสตมป์ดังกล่าวมาจากร้านจำเลย คำเบิกความของร้อยตำรวจเอกธันวาจึงสอดคล้องกับคำเบิกความของนางสาวพินิจษรและนางพวงเพ็ญ พนักงานของโจทก์ว่าได้ซื้ออากรแสตมป์ปลอมมาจากร้านจำเลย นอกจากนี้นายประสิทธิ์ เภาโบรมย์ ผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาปากน้ำชุมพร ซึ่งเป็นเพื่อนกับจำเลยมานานและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยเบิกความว่า ได้ซื้ออากรแสตมป์จากร้านจำเลยและเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจแล้วว่าเป็นอากรแสตมป์ปลอมเช่นกัน นายดำรงศักดิ์ แพน้อย ทนายความของห้างหุ้นส่วนจำกัดสมบัติมอเตอร์เซลล์เบิกความว่า ได้ซื้ออากรแสตมป์จากร้านจำเลย เมื่อเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบอากรแสตมป์ดังกล่าวแล้วว่าปลอมภายหลังห้างหุ้นส่วนจำกัดสมบัติมอเตอร์เซลล์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา จำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ ดังนี้ จะเห็นได้ว่าพยานโจทก์ต่างยืนยันว่าได้ซื้ออากรแสตมป์จากร้านจำเลย ต่อมาเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบอากรแสตมป์ดังกล่าวแล้วว่าเป็นอากรแสตมป์ปลอม ทั้งจำเลยถูกดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับอากรแสตมป์ปลอม จำเลยได้ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยได้จำหน่ายอากรแสตมป์ให้โจทก์จริง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยนั้น เห็นว่าโจทก์มีนางสาวพินิจษรพนักงานของโจทก์ยืนยันว่าสรรพากรจังหวัดได้แจ้งให้โจทก์ไปชำระค่าอากรแสตมป์ปลอมดวงละ 20 บาท จำนวน 1,593 ดวง เป็นเงิน 31,690 บาท เมื่อโจทก์ได้ชำระให้แล้วทราบว่าโจทก์จะต้องถูกปรับอีก 6 เท่า ของค่าอากรแสตมป์ปลอม โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งแล้วแต่ไม่เป็นผล โจทก์ต้องชำระค่าปรับให้สรรพากรจังหวัดอีกเป็นเงิน 190,140 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 ซึ่งจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างเอกสารดังกล่าวพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยจริง…”
พิพากษายืน.

Share