แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทางหลวง แต่ก็มิใช่ตัวทางหลวง ไม่ว่าจะเป็นผิวจราจรหรือทางเท้า ที่ดินของโจทก์จึงมิได้เชื่อมกับถนนกันตังเนื่องจากยังมีที่ดินพิพาทคั่นอยู่ หากโจทก์จะเข้าออกระหว่างที่ดินของโจทก์กับถนนกันตัง โจทก์จะต้องผ่านที่ดินพิพาทเสียก่อนซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำถนนจากที่ดินของโจทก์ต่อเชื่อมกับถนนกันตังโดยผ่านที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินของโจทก์มิได้ติดต่อกับถนนกันตังมาแต่เดิมเนื่องจากมีที่ดินพิพาทคั่นอยู่ และจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของตน โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทกีดขวางทางออกสู่ถนนกันตังหาได้ไม่กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 และมาตรา 1337 ในอันที่โจทก์จะขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างและต้นมะพร้าวออกจากที่ดินพิพาทได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4856 มีอาณาเขตทิศเหนือจดทางสาธารณะ ทิศใต้จดทางหลวงแผ่นดินสายที่ 403 (ตอนตรัง – กันตัง) ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจดที่ดินของบุคคลอื่น เมื่อประมาณปลายปี 2540 โจทก์ประสงค์จะก่อสร้างอาคารลงในที่ดินแปลงนี้แต่จำเลยมาปลูกต้นมะพร้าวขุดบ่อน้ำและก่อสร้างห้องน้ำบนที่ดินทางหลวงดังกล่าวกั้นหน้าที่ดินของโจทก์ โจทก์ไม่สามารถเข้าไปปลูกสร้างอาคาร และไม่สามารถเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ถนนอันเป็นทางสาธารณะได้ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนห้องน้ำ ต้นมะพร้าว ปรับถมบ่อน้ำให้อยู่ในสภาพถนนดังเดิม หากจำเลยไม่กระทำโจทก์จะดำเนินการเองโดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลย ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทห้ามขัดขวางการเข้าออกสู่ที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยปลูกต้นมะพร้าวและสร้างห้องน้ำในที่ดินของจำเลยซึ่งครอบครองต่อจากยายของจำเลยมาเป็นเวลาประมาณ 70 ปีแล้ว มิใช่ทางหลวงอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินสาธารณประโยชน์เพราะรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย โจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4856 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ทิศเหนือจดทางสาธารณะซึ่งเป็นทางหลวงเทศบาล ทิศใต้จดทางหลวงแผ่นดินสายที่ 403 (ตอนตรัง – กันตัง) ซึ่งต่อมาเป็นถนนกันตัง อยู่ในความดูแลของเทศบาลนครตรังมาตั้งแต่ปี 2526 ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตถนนกันตัง คั่นระหว่างด้านทิศใต้ที่ดินของโจทก์กับทางเท้าและถนนกันตัง จำเลยปลูกสร้างห้องน้ำในที่ดินพิพาทและปลูกต้นมะพร้าวในที่ดินพิพาทไว้ 3 ต้น ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.4 ภาพถ่ายหมาย จ.5 และ ล.3 ถึงล.5 โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมาโดยรับการยกให้จากนางสิวขิ้น พาณิชย์กุล มารดา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2538 ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวยังไม่มีการทำประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดมาก่อน ส่วนจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินสาธารณะมาตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะได้รับยกให้ที่ดินจากนางสิวขิ้น คดีมีปัญหาข้อแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอบังคับจำเลยให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างและต้นมะพร้าวออกไปจากที่ดินพิพาทหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตทางหลวง แม้จะเป็นที่ดินสาธารณะที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลนครตรังก็ตามแต่ก็มิใช่ตัวทางหลวง ไม่ว่าจะเป็นผิวจราจรหรือทางเท้า ที่ดินของโจทก์จึงมิได้เชื่อมกับทางหลวงแผ่นดินสายที่ 403 หรือถนนกันตังแต่อย่างใดเนื่องจากยังมีที่ดินพิพาทคั่นอยู่หากโจทก์จะเข้าออกระหว่างที่ดินของโจทก์กับถนนกันตังโจทก์ย่อมจะต้องผ่านที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินสาธารณะเสียก่อนซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำถนนจากที่ดินของโจทก์ต่อเชื่อมกับถนนกันตังโดยผ่านที่ดินพิพาท เห็นได้ว่า เมื่อที่ดินของโจทก์มิได้ติดต่อกับถนนกันตังมาแต่เดิมเนื่องจากมีที่ดินพิพาทคั่นอยู่ และจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของตนเช่นนี้ โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทกีดขวางทางออกสู่ถนนกันตังหาได้ไม่ กรณียังไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และมาตรา 1337 ในอันที่โจทก์จะขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างและต้นมะพร้าวออกจากที่ดินพิพาทได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นเป็นเรื่องของเจ้าของที่ดินที่ติดต่อกับตัวทางสาธารณะโดยตรงข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องเสียนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน