คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทำสัญญาจ้างฉบับแรกตั้งแต่ปี 2533 และมีการต่อสัญญากันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงสัญญาจ้างฉบับสุดท้าย โดยสัญญาจ้างแต่ละฉบับมีกำหนดอายุ 1 ปี แม้ตามสัญญาจ้างดังกล่าวจะกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ก็ตาม แต่การจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยมีการต่ออายุการจ้างเรื่อยมา เห็นได้ว่ามิใช่เป็นการจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการแต่อย่างใด เมื่อจำเลยไม่ต่อสัญญาจ้างกับโจทก์โดยไม่ยอมให้โจทก์ทำงานต่อไป ย่อมถือว่าเป็นการเลิกจ้าง และกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต่อสัญญาจ้างก็มิใช่เหตุที่จำเลยจะอ้างเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ข้อ 46

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2533 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 177 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โดยทำสัญญาจ้างปีต่อปีต่อเนื่องกันจนถึงว้นที่ 10 กันยายน 2546 แล้วจำเลยไม่ต่อสัญญาจ้าง ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งอื่นในอัตราค่าจ้างเดิมและนับอายุงานต่อเนื่อง และจ่ายค่าจ้างระหว่างที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน มิฉะนั้น ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 31,860 บาท และค่าชดเชย 53,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประเภทลูกจ้างเป็นครั้งคราวเฉพาะงานมีกำหนดเวลาจ้าง 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2546 แต่โจทก์เคยถูกลงโทษเนื่องจากส่งสินค้าล่าช้ารวม 2 ครั้ง โดยการภาคทัณฑ์และตัดเงินเดือน ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2546 โจทก์ส่งสินค้าล่าช้าอีก จำเลยจึงงดต่อสัญญาจ้าง และต่อมามีคำสั่งลงโทษโจทก์โดยการลดค่าจ้าง 1 ขั้น โจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบข้อบังคับของจำเลย และไม่รักษาประโยชน์ของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยไม่มีตำแหน่งงานใด ๆ ตามคุณสมบัติของโจทก์ว่าง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 31,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 กันยายน 2546 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานฉบับแรกวันที่ 11 ธันวาคม 2533 และมีการต่อสัญญากันเรื่อยมา สัญญาแต่ละฉบับมีกำหนดอายุ 1 ปี โดยสัญญาฉบับสุดท้ายมีกำหนดตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2546 เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างแรงงานจำเลยไม่ต่อสัญญากับโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานได้ตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดยมีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ เมื่อจำเลยไม่ต่อสัญญาจ้างกับโจทก์จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างและจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาจ้างฉบับแรกตั้งแต่ปี 2533 และมีการต่อสัญญากันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงสัญญาจ้างฉบับสุดท้าย โดยสัญญาจ้างแต่ละฉบับมีกำหนดอายุ 1 ปี แม้ตามสัญญาจ้างดังกล่าวจะกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ก็ตามแต่การจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยมีการต่ออายุการจ้างเรื่อยมา เห็นได้ว่ามิใช่เป็นการจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการแต่อย่างใด เมื่อจำเลยไม่ต่อสัญญาจ้างกับโจทก์โดยไม่ยอมให้โจทก์ทำงานต่อไป ย่อมถือว่าเป็นการเลิกจ้าง และกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต่อสัญญาจ้างก็มิใช่เหตุที่จำเลยจะอ้างเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 46 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share