แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายเพียงฝ่ายเดียวรวมสองครั้งต่างกรรมต่างวาระกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้อง ของโจทก์ จำเลยจะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่าผู้เสียหายกับจำเลย ต่างฝ่ายต่าง ทะเลาะตอบโต้ กันไปมาในลักษณะชุลมุน ผู้เสียหาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่อาจร้องทุกข์ต่อพนักงาน สอบสวนได้ การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ เพราะเป็น การโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็น ปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์อีกด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การลงโทษจำคุกระยะสั้น นอกจากจะไม่เกิดผลในการแก้ไข ให้จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีแล้วยังทำให้จำเลยกลายเป็นคน มีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วก็ยากที่จะกลับตัว ประกอบสัมมาชีพโดยสุจริตต่อไปได้ ซึ่งย่อมส่งผลต่อสังคม โดยรวม เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยังเป็นผู้เยาว์ ส่วน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ก็เพิ่งพ้นจากสภาวะการเป็นผู้เยาว์ และจำเลยทั้งห้ากระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งแรก การให้ โอกาสจำเลยทั้งห้าได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษ และคุมประพฤติไว้น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งห้าและสังคม ส่วนรวมมากกว่า ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้า เคยรับโทษจำคุกมาก่อนจึงมีเหตุอันสมควรรอการลงโทษให้แก่ จำเลยทั้งห้า แต่เพื่อให้จำเลยทั้งห้าหลาบ จำ จึงสมควรปรับจำเลยทั้งห้าอีกสถานหนึ่งด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 364, 365, 389
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(1)(2)(3), 389 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 อายุไม่เกินสิบเจ็ดปีลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งเรียงกระทงลงโทษ ฐานบุกรุกและฐานกระทำการอันน่าจะเป็นอันตรายและก่อให้เกิดความเดือด ร้อนรำคาญ จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 กระทงแรกคนละ 6 เดือน กระทงที่สองจำคุกคนละ 20 วัน ส่วนจำเลยที่ 3 กระทงแรกจำคุก 3 เดือน กระทงที่สองจำคุก 10 วัน และจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฐานบุกรุกคนละ 6 เดือน อีกกระทงหนึ่ง (ที่ถูกน่าจะระบุว่าเฉพาะจำเลยที่ 3 จำคุก 3 เดือน) รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 12 เดือน 20 วัน สำหรับจำเลยที่ 3 จำคุก 6 เดือน 10 วัน จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 6 เดือน 10 วัน ส่วนจำเลยที่ 3 จำคุก 3 เดือน 5 วัน
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ประการแรกมีว่า ผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันมีอาวุธบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายในเวลากลางคืนเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2540 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันมีอาวุธบุกรุกเคหสถานของผู้เสียหาย อีกในวันที่ 5 มกราคม 2540 ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 บุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายเพียงฝ่ายเดียวรวมสองครั้งต่างกรรมต่างวาระกัน เมื่อจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 4 จะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่าผู้เสียหายกับจำเลยทั้งห้าต่างฝ่ายต่างทะเลาะกันต่างฝ่ายต่างกระทำความผิดตอบโต้กันไปมาในลักษณะชุลมุนผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่อาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ การสอบสวน ในคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 อีกด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้ามีว่ามีเหตุอันสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งห้าหรือไม่ เห็นว่าการลงโทษจำคุกระยะสั้น นอกจากจะไม่เกิดผลในการแก้ไขให้จำเลยทั้งห้ากลับตัวเป็นพลเมืองดีแล้วยังทำให้จำเลยทั้งห้ากลายเป็นคนมีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วก็ยากที่จะกลับตัวประกอบสัมมาชีพโดยสุจริตต่อไปได้ ซึ่งย่อมส่งผลต่อสังคมโดยรวม อีกทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยังเป็นผู้เยาว์ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ก็เพิ่งพ้นจากสภาวะการเป็นผู้เยาว์และจำเลยทั้งห้ากระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งแรก การให้โอกาสจำเลยทั้งห้าได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษและคุมประพฤติไว้เพื่อให้พนักงานคุมประพฤติคอยสอดส่องดูแลแนะนำ ช่วยเหลือหรือตักเตือนให้จำเลยทั้งห้าได้แก้ไขฟื้นฟูตนเองเพื่อกลับตัวเป็นพลเมืองดี น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งห้าและสังคมส่วนรวมมากกว่าประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าเคยรับโทษจำคุกมาก่อน กรณีจึงมีเหตุอันสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งห้า แต่เพื่อให้จำเลยทั้งห้าหลาบ จำ จึงเห็นสมควรปรับจำเลยทั้งห้าอีกสถานหนึ่งด้วย และคุมประพฤติจำเลยทั้งห้ากับให้จำเลยทั้งห้ากระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งห้าไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งห้าข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยที่ 5 ร่วมกับ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กระทำความผิดเฉพาะในวันที่ 2 มกราคม 2540 เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ส่วนการกระทำความผิด ในวันที่ 5 มกราคม 2540 นั้น จำเลยที่ 5 หาได้ร่วมกระทำความผิดด้วยไม่ ซึ่งการกระทำความผิดในวันที่ 2 มกราคม 2540 นั้น จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกระทำผิดรวมสองกระทงกล่าวคือ ฐานบุกรุกและฐานกระทำการอันน่าจะเป็นอันตรายและก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ จำเลยที่ 5 จึงควรต้องได้รับโทษในการกระทำดังกล่าว จำคุก 6 เดือน กับ 20 วัน ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 3 เดือน 10 วันไม่ใช่ 6 เดือน 10 วัน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปัญหาข้อนี้แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่ก็เป็นการรวมโทษในคำพิพากษาของจำเลยที่ 5 ผิดพลาด ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโทษจำเลยที่ 5ให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 3 เดือน10 วัน และปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 รวม 3 กระทงเป็นเงินคนละ 7,000 บาท และปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 3,500 บาท และปรับจำเลยที่ 5 รวม 2 กระทง เป็นเงิน 4,000 บาท ลดโทษ ให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 คนละ 3,500 บาท ปรับจำเลยที่ 5 เป็นเงิน 2,000 บาท และปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 1,750 บาท โทษจำคุกของจำเลยทั้งห้าให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยทั้งห้าไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๆ สองเดือนต่อครั้งเป็นเวลา 2 ปี และให้จำเลยทั้งห้ากระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยทั้งห้าและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 1