แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ก่อให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดด้วยการใช้ จ้าง วานให้จำเลยที่ 2 และ ที่ 3 ร่วมกันฆ่าผู้ตายแต่ในการพิจารณาศาลชั้นต้นพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้อง แม้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาจะรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ จ้าง วานให้ผู้อื่นซึ่งมิใช่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปฆ่าผู้ตาย ก็เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับ ข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลชั้นต้นต้องพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดและลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 288, 84 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 215 ประกอบด้วยมาตรา 192 วรรคสอง แม้ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นและพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังในการพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องในข้อสาระสำคัญ อันเป็นเหตุให้ต้องพิพากษายกฟ้องแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีกต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83, 84 และ 33 ริบของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 230/2539 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 278/2539 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 84 จำคุกตลอดชีวิต คำรับในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 พ้นโทษในคดีที่โจทก์ขอให้ นับโทษต่อแล้ว จึงให้ยกคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อ ริบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
คดีนี้โจทก์ฟ้องยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ก่อให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดด้วยการใช้ จ้าง วานให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันฆ่าผู้ตาย แต่ในการพิจารณาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้อง แต่พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้ จ้าง วาน ให้มีการฆ่าผู้ตายจริง จึงพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 84 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาจะรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้จ้าง วานให้ผู้อื่นไปฆ่าผู้ตายก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายระบุชัดว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ จ้าง วาน ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันฆ่าผู้ตาย จึงเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ จ้าง วานให้มีการฆ่าผู้ตายตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ซึ่งศาลชั้นต้นต้องพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดและลงโทษจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 215 ประกอบด้วยมาตรา 192 วรรคสอง ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะได้วินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้ผู้ใดฆ่าผู้ตาย โจทก์คงมีแต่บันทึกคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ กับคำเบิกความของนายสุรพล พรมมาอินทร์ ที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ไปขอให้หาคนมาฆ่าผู้ตายก่อนเกิดเหตุซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่าเท่านั้น ในการสอบปากคำจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะเชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะกันจำเลยที่ 1 ไว้เป็นพยานและไม่จับจำเลยที่ 1 มาดำเนินคดี ดังนี้ ย่อมมีเหตุให้สงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจโดยไม่มีผู้ใดหลอกลวงหรือให้คำมั่นสัญญาใด ๆ หรือไม่ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังมี ข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังในการพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวใน คำฟ้องในข้อสาระสำคัญ อันเป็นเหตุให้ต้องพิพากษายกฟ้องดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษา ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.