คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7997/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานเป็นอั้งยี่เป็นความผิดสำเร็จเมื่อได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นความผิดกรรมหนึ่ง ส่วนความผิดฐานเป็นซ่องโจร เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อผู้กระทำความผิดได้สะสมกำลังพล หรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย หรือการกระทำอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกมีเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ เพื่อก่อการร้าย จึงเป็นความผิดกรรมเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ซึ่งเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง จึงไม่อาจแก้ไขเรียงกระทงลงโทษในส่วนนี้ได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 คงปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 135/1, 135/2, 135/3, 209, 210, 221, 222, 224, 288, 289, 358 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 38, 55, 74, 78 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) (2) วรรคแรก, 135/2 (2), 209 วรรคแรก, 210 วรรคสอง, 224 ประกอบมาตรา 222, 289 (4), 358 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคแรก (ที่ถูก วรรคหนึ่ง) และวรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91) ฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร (ที่ถูก ฐานเป็นซ่องโจร) และฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการ หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการ หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) ให้ลงโทษจำคุกคนละ 10 ปี ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง ฐานร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไปกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันก่อให้เกิดการระเบิดเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ (ที่ถูก ฐานก่อการร้ายด้วย) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) ให้ลงโทษประหารชีวิต ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 52 (1)) คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย จำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วไม่อาจนำโทษจำคุกฐานอื่นมารวมได้อีก จึงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (ที่ถูก มาตรา 91 (3)) ริบของกลางที่เจ้าพนักงานรักษาไว้ ยกเว้นโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่นโมบายเดล 202 พร้อมซิมการ์ดหมายเลข 09 1639 xxxx โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่นซี 1 หมายเลขเครื่อง 35741904762xxxx พร้อมซิมการ์ดหมายเลข 08 4856 xxxx โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย สีม่วง หมายเลขเครื่อง 35414805489xxxx พร้อมซิมการ์ดหมายเลข 08 6290 xxxx และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย สีขาว หมายเลขเครื่อง 35367705205xxxx พร้อมซิมการ์ดหมายเลข 08 2827 xxxx ให้คืนแก่เจ้าของ (ที่ถูก ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก) ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8
โจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย สีม่วง หมายเลขเครื่อง 35671105439xxxx ให้แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน โจทก์ไม่ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เหตุการณ์ลอบวางระเบิด วางเพลิง และยิงระเบิดตามสถานที่ต่าง ๆ พร้อมกันหรือในเวลาไล่เลี่ยกันในวันเกิดเหตุ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของราชการและประชาชนจำนวนมาก อันมีลักษณะเป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายของกลุ่มก่อความไม่สงบ เป้าหมายเพื่อทำลายอำนาจรัฐโดยสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดระแวงในหมู่ประชาชน โดยมีผู้ร่วมก่อเหตุหรือสมาชิกจำนวนมาก มีการสะสมกำลังพลและอาวุธ และเตรียมการวางแผนมาเป็นอย่างดี สอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบว่า กลุ่มที่ก่อเหตุเป็นขบวนการก่อการร้ายของ “ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี” ซึ่งผู้ร่วมขบวนการจะปกปิดวิธีดำเนินการและกระทำกันอย่างลับ ๆ ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะหาพยานหลักฐาน โดยเฉพาะประจักษ์พยาน จำเป็นต้องอาศัยพยานหลักฐานแวดล้อมต่าง ๆ มาประกอบกันเพื่อเชื่อมโยงให้ถึงผู้กระทำความผิด สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น แม้จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมก่อเหตุตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะเหตุลอบวางเพลิงที่ร้านรับซื้อของเก่าเลขที่ 133 ก็ตาม แต่นายนพดล เจ้าของร้านรับซื้อของเก่า พยานโจทก์เบิกความว่า วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ขณะที่พยานอยู่ที่ร้านได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น 3 ครั้ง พยานนึกว่าเป็นเสียงพลุ เวลาผ่านไปประมาณ 10 นาที ก็เกิดไฟดับ ระหว่างนั้นพยานเห็นเปลวไฟปลิวข้ามมาจากถนนเพชรเกษมไปตกอยู่บริเวณเครื่องจักรสำหรับอัดกระดาษ พยานจึงเรียกคนงานในร้านให้ช่วยดับไฟ หลังเกิดเหตุพยานเห็นถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงและผ้าพันไม้ที่คนร้ายใช้จุดไฟ ซึ่งไม่ใช่สิ่งของที่มีอยู่ที่ร้าน พันตำรวจโทกระจ่าง เจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 จังหวัดยะลา พยานโจทก์เบิกความว่า พยานร่วมออกตรวจที่เกิดเหตุคนร้ายลอบวางเพลิงร้านรับซื้อของเก่าเลขที่ 133 วัตถุพยานส่วนแรกที่พบเป็นคบเพลิงสำหรับจุดไฟ 2 อัน อันหนึ่งมีรอยถูกไฟไหม้ ส่วนอีกอันหนึ่งไม่มีรอยไหม้ พบขวดพลาสติกมีคราบน้ำมันเชื้อเพลิง 1 ขวด วัตถุพยานส่วนที่สองเป็นคบเพลิงมีรอยไหม้ 1 อัน วัตถุพยานส่วนที่สามเป็นถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง 3 ใบ ยังมีน้ำมันเชื้อเพลิงบรรจุอยู่สภาพยังไม่แตก และคบเพลิง 1 อัน วัตถุพยานส่วนที่สี่เป็นถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงสภาพยังไม่แตก วัตถุพยานส่วนที่ห้าเป็นคบเพลิงสภาพยังไม่ได้จุดไฟ 1 อัน วัตถุพยานส่วนที่หกเป็นคบเพลิงมีรอยไหม้ วัตถุพยานทั้งหมดพบบริเวณด้านหลังข้างขวาของร้านเช่นเดียวกัน ทรัพย์สินภายในร้านรับซื้อของเก่ามีร่องรอยถูกเพลิงไหม้เล็กน้อยเนื่องจากเจ้าของร้านดับเพลิงได้ทัน พยานตรวจเก็บวัตถุพยานดังกล่าวตามหลักการและบรรจุหีบห่อลงลายมือชื่อกำกับและส่งมอบให้พนักงานสอบสวน และพันตำรวจตรีพิรุฬห์ เจ้าพนักงานผู้ตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ พยานโจทก์เบิกความว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีส่งของกลางซึ่งเก็บมาจากบริเวณที่เกิดเหตุเป็นร้านรับซื้อของเก่า เลขที่ 133 เพื่อให้กลุ่มงานตรวจชีววิทยาและดีเอ็นเอ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ตรวจว่า มีดีเอ็นเอบ้างหรือไม่ ถ้ามีเป็นของใคร พยานทำการตรวจหาดีเอ็นเอแล้ว ปรากฏว่าพบดีเอ็นเอติดอยู่ที่ยางเส้นมัดถุงพลาสติกใสของกลางรายการที่ 7 (จำนวน 1 ซอง) เป็นดีเอ็นเอรูปแบบเดียวกับรูปแบบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 1 ที่เก็บไว้ในฐานข้อมูล ตามหลักวิชาการยืนยันได้ว่าดีเอ็นเอที่ยางเส้นของกลางเป็นดีเอ็นเอของบุคคลเดียวกันกับจำเลยที่ 1 เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน ต่างเบิกความสอดคล้องไล่เรียงเหตุการณ์ตามลำดับ น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริงที่ได้รู้เห็นมา ซึ่งการตรวจพบดีเอ็นเอที่ยางเส้นมัดปากถุงพลาสติกดังกล่าวโดยผลการตรวจเป็นดีเอ็นเอซึ่งตรงกับดีเอ็นเอของจำเลยที่ 1 ย่อมแสดงว่า จำเลยที่ 1 ได้สัมผัสหนังยางหรือบริเวณถุงพลาสติกดังกล่าวมาก่อน สอดคล้องกับที่พันตำรวจตรีพิรุฬห์เบิกความอธิบายในส่วนนี้ว่า ดีเอ็นเอที่พบที่ยางเส้นและถุงพลาสติกนั้น จากการตรวจแบ่งแยกในเบื้องต้นพบว่าเป็นดีเอ็นเอโดยการสัมผัส เจือสมกับจำเลยที่ 1 นำสืบว่าได้สัมผัสถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงและทิ้งไว้ที่ร้านรับซื้อของเก่า เมื่อพิจารณารายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุแล้วจะเห็นได้ว่า ในร้านรับซื้อของเก่าที่เกิดเหตุตรวจพบถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงมัดปากถุงด้วยยางเส้นทั้งหมด 4 ถุง อยู่ภายในบริเวณร้าน แต่ละถุงมีลักษณะและขนาดเดียวกัน และอยู่ใกล้กับขวดพลาสติกที่มีคราบน้ำมันเชื้อเพลิงเศษชิ้นส่วนผ้าชุบน้ำมันเชื้อเพลิงและเศษชิ้นส่วนผ้าชุบน้ำมันเชื้อเพลิงพันท่อนไม้ (คบเพลิง) ซึ่งวัสดุที่ตรวจพบดังกล่าวเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับที่นายธีระพงศ์ พยานโจทก์เบิกความว่า มีชาย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์มาจอดบริเวณถนนหน้าบ้านพยาน จากนั้นชายทั้งสองขว้างถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงจุดไฟใส่บ้านพยานและหลบหนีไป พันตำรวจโทนิวัฒน์ พยานโจทก์เบิกความว่า พยานเป็นเจ้าพนักงานตำรวจพิสูจน์หลักฐาน พยานร่วมตรวจที่เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด… เวลา 15.20 นาฬิกา พยานร่วมตรวจที่เกิดเหตุคนร้ายนำถุงบรรจุน้ำมันจุดไฟขว้างใส่บ้านเลขที่ 34/9 พบรอยไหม้ที่พื้นกระเบื้องหน้าบ้านและฝาผนังบ้าน พบเศษผ้าสีชมพูมีกลิ่นน้ำมันและมีรอยไหม้ 3 ชิ้น สันนิษฐานว่าเป็นคนร้ายที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับจุดไฟ … เวลา 16.50 นาฬิกา พยานร่วมตรวจที่เกิดเหตุบริเวณบ้านพักคนงานของโรงกลึงถนนนาเกลือ โดยคนร้ายใช้ถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงจุดไฟขว้างใส่ที่เกิดเหตุ พบผ้าใบหลังคาจอดรถมีรอยไหม้ ฝากระโปรงหน้ารถยนต์ที่จอดอยู่ไหม้เสียหาย พบเศษผ้าสีชมพูรอยไหม้ 2 ชิ้น ไม้มีรอยไหม้ 1 อัน เศษผ้าสีชมพูพันปลายไม้ 1 อัน ที่เศษผ้าสีชมพูมีกลิ่นน้ำมัน สันนิษฐานว่าเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟ และพันตำรวจโทนฤพล พยานโจทก์เบิกความว่า พยานร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจชุดพิสูจน์หลักฐานตรวจที่เกิดเหตุ 6 จุด … จุดที่ 5 คนร้ายลอบวางเพลิงรถจักรยานยนต์ภายในซอยมาเรียมที่เกิดเหตุพบรถจักรยานยนต์ถูกเพลิงไหม้ 1 คัน พบถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงสภาพไหม้ติดอยู่กับรถ 1 ถุง ห่างจากรถไปประมาณ 15 เมตร พบถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพแตกรวม 2 ถุง จะเห็นได้ว่าวัสดุที่คนร้ายใช้ในการก่อเหตุตามสถานที่ต่าง ๆ นั้น ส่วนหนึ่งคือถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงจุดไฟขว้างใส่ที่เกิดเหตุ ซึ่งวัสดุที่ตรวจพบในร้านรับซื้อของเก่าที่เกิดเหตุก็เป็นวัสดุอุปกรณ์แบบเดียวกันกับที่คนร้ายใช้ในการก่อเหตุวางเพลิงในบริเวณอื่นหลายแห่งซึ่งเกิดเหตุขึ้นในวันเดียวกัน การตรวจพบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 1 ที่ยางเส้นมัดปากถุงพลาสติกซึ่งบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง แสดงว่าจำเลยที่ 1 ต้องรู้ถึงวัตถุประสงค์ของการใช้ถุงพลาสติกว่าจะใช้บรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการก่อเหตุให้เกิดเพลิงไหม้บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้เห็นโดยร่วมกับคนร้ายอื่นก่อเหตุวางเพลิงในวันเกิดเหตุในลักษณะแบ่งแยกหน้าที่กันทำ ดังจะเห็นได้จากการที่จำเลยที่ 1 อ้างเหตุว่า ไปซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากร้านค้าเพื่อนำมาเติมรถจักรยานยนต์ของตนซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงหมดและจอดไว้ที่ร้านรับซื้อของเก่าที่เกิดเหตุ และทิ้งถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ที่ร้านรับซื้อของเก่านั้น ซึ่งผิดปกติวิสัยเพราะเมื่อจำเลยที่ 1 เติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่รถจักรยานยนต์แล้ว หากจะทิ้งถุงพลาสติกที่บรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง จำเลยที่ 1 ก็น่าจะทิ้งไว้นอกร้านรับซื้อของเก่าและทิ้งเฉพาะถุงพลาสติกเปล่า ส่วนถุงพลาสติกที่เหลือที่ยังมีน้ำมันเชื้อเพลิงบรรจุอยู่โดยวิสัยจำเลยที่ 1 ก็ต้องนำกลับไป การที่จำเลยที่ 1 ไม่นำถุงพลาสติกที่ยังมีน้ำมันเชื้อเพลิงบรรจุอยู่กลับไปด้วยแต่ทิ้งไว้ถึง 4 ถุง และเป็นการทิ้งไว้ในร้านรับซื้อของเก่าที่เกิดเหตุด้านหลังร้าน ทั้งบริเวณนั้นยังมีคบเพลิง 6 อัน ซึ่งบางอันมีรอยไฟไหม้ บ่งชี้และสนับสนุนพยานหลักฐานของโจทก์ให้มีน้ำหนักรับฟังว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับคนร้ายอื่นในการก่อเหตุวางเพลิงโดยมีลักษณะแบ่งแยกหน้าที่กันทำ ประกอบกับในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 เพียงแต่ให้การปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้อ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ จำเลยที่ 1 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นพิจารณา ข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยที่ 1 นั้นจึงขัดกับพยานหลักฐานที่ปรากฏ นอกจากนี้พันตำรวจโทปรเมษฐ์ พยานโจทก์เบิกความว่า หลังเกิดเหตุเมื่อตรวจพบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุลอบวางเพลิงร้านรับซื้อของเก่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 พยานกับพวกควบคุมตัวจำเลยที่ 1 และยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย ได้จากจำเลยที่ 1 พร้อมกับซิมการ์ด 2 อัน จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2557 จำเลยที่ 1 ใช้ซิมการ์ดหมายเลข 09 8050 xxxx ที่อยู่ในเครื่องโทรศัพท์ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 หมายเลข 09 1639 xxxx ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ใช้ซิมการ์ดหมายเลข 09 0483 xxxx ซึ่งติดอยู่ที่ฝาครอบโทรศัพท์ติดต่อไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 3194 xxxx ซึ่งจดทะเบียนในชื่อของนางสาววาสนา และติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขอื่นอีก 4 หมายเลข ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่เปิดใช้บริการนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ไม่สามารถตรวจสอบผู้เปิดใช้บริการได้ โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 3194 xxxx ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 6290 xxxx ของจำเลยที่ 5 ในช่วงเวลา 19.12 นาฬิกา ถึงเวลา 20.13 นาฬิกา รวมห้าครั้ง ขณะที่จำเลยที่ 5 อยู่ในพื้นที่ตำบลตะลุโบะ ติดต่ออย่างผิดปกติกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 2827 xxxx ของจำเลยที่ 6 ตั้งแต่เวลา 14.36 นาฬิกา ถึงเวลา 20.13 นาฬิกา รวมหกครั้ง ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8081 xxxx ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นหมายเลข 09 0883 xxxx ของนายอาหามะ ตั้งแต่เวลา 16.30 นาฬิกา ถึงเวลา 19.50 นาฬิกา ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8062 xxxx ของผู้ร่วมก่อเหตุคนอื่นช่วงเวลา 19.05 นาฬิกา สองครั้ง และติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 9365 xxxx ช่วงเวลา 20.11 นาฬิกา สองครั้ง โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8062 xxxx ยังติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 3616 xxxx ของนายแวอับดุลเลาะ ช่วงเวลา 19.07 นาฬิกา สองครั้ง ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 3716 xxxx ช่วงเวลา 19.01 นาฬิกา หนึ่งครั้ง ติดต่อกับผู้ร่วมก่อเหตุคนอื่น ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 3194 xxxx ซึ่งจดทะเบียนในชื่อของนางสาววาสนาในช่วงเวลา 11.33 นาฬิกา และติดต่อกับหมายเลขโทรศัพท์ 09 8913 xxxx ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบผู้เปิดใช้บริการหมายเลขดังกล่าวได้เนื่องจากเป็นแบบเติมเงินเปิดใช้บริการนอกพื้นที่ตั้งแต่เวลา 19.08 นาฬิกา ถึง 19.19 นาฬิกา รวมสิบสองครั้ง โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8913 xxxx ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 9313 xxxx ของจำเลยที่ 8 ตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกา ถึง 18.08 นาฬิกา หกครั้ง โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 3616 xxxx ของนายแวอับดุลเลาะติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 3660 xxxx ของจำเลยที่ 4 เวลา 19.10 นาฬิกา หนึ่งครั้ง ขณะจำเลยที่ 4 อยู่ในเขตอำเภอเมืองปัตตานี และติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 9356 xxxx ช่วงเวลา 19.09 นาฬิกา สองครั้ง เมื่อตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 9356 xxxx พบว่ามีการเปลี่ยนไปใช้กับซิมการ์ดหมายเลข 09 6205 xxxx ของจำเลยที่ 3 และโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 3716 xxxx ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 1646 xxxx ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นของผู้ใดช่วงเวลา 19.02 นาฬิกา หนึ่งครั้ง และติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 3646 xxxx ของจำเลยที่ 7 ช่วงเวลา 19.12 นาฬิกา หนึ่งครั้ง ขณะจำเลยที่ 7 อยู่ที่บริเวณมัสยิดกลางปัตตานี ต่อมามีการเปลี่ยนซิมการ์ดหมายเลข 09 3660 xxxx ของจำเลยที่ 4 เป็นซิมการ์ดหมายเลข 08 2268 xxxx เมื่อพยานตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่และซิมการ์ดที่ยึดได้จากจำเลยที่ 4 ดังกล่าวพบว่ามีการติดต่อและบันทึกชื่อจำเลยที่ 3 ว่า หัวจุก บันทึกชื่อนายแวอับดุลเลาะว่า จู บันทึกชื่อจำเลยที่ 7 ว่าฮารามจี 2 เมื่อตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ยึดได้จากจำเลยที่ 8 พบว่า มีการบันทึกชื่อจำเลยที่ 3 ว่า เจ๊ะอัสรี และติดต่อกับจำเลยที่ 6 โดยบันทึกชื่อว่า อะยิ บันทึกหมายเลขและชื่อนายแวอับดุลเลาะว่า ปะจู กูวิง เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองซิมการ์ด 2 อัน ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เปลี่ยนซิมการ์ดในเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกแล้วใส่ซิมการ์ดอีกอันหนึ่งและใช้ติดต่อกับหมายเลขอื่นๆ หลายหมายเลขในช่วงเวลาเกิดเหตุหลายครั้งในลักษณะผิดปกติและเป็นการติดต่อเฉพาะกิจอย่างมีนัย ซึ่งบางหมายเลขไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่าเป็นของบุคคลใด โดยเฉพาะหมายเลข 08 3194 xxxx ซึ่งมีการแอบอ้างเอาหมายเลขโทรศัพท์ของนางสาววาสนาที่ไม่ได้ใช้งานแล้วและพักอาศัยอยู่นอกพื้นที่นำมาใช้ติดต่อกับโทรศัพท์หมายเลขอื่น ๆ อีกหลายหมายเลขหลายครั้งในลักษณะผิดปกติอันต้องสงสัยว่าผู้ใช้หมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวน่าจะเป็นผู้ร่วมก่อความไม่สงบ อันเป็นที่มาในการสืบสวนติดตามจับกุมจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 นำสืบเจือสมในส่วนนี้เช่นกันว่าได้โทรศัพท์ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 3194 xxxx จริงซึ่งหมายเลขดังกล่าวเป็นของนายเตพ่อค้าขายปลา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำนายเตที่อ้างถึงเข้าเบิกความเป็นพยาน นายเตที่จำเลยที่ 1 เบิกความถึงนั้นจะมีตัวตนจริงหรือไม่ก็ไม่อาจยืนยันได้ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง นอกจากนี้ภายหลังจำเลยที่ 1 ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์พิทักษ์สันติตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จำเลยที่ 1 ได้ให้ถ้อยคำต่อร้อยตำรวจโทอำนาจ เจ้าพนักงานตำรวจสังกัดศูนย์พิทักษ์สันติว่า เมื่อปี 2543 จำเลยที่ 1 ตกลงสาบานตน (หรือซุมเปาะห์) เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบตามคำชักชวนของนายมะซอเร ตรงกับที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนในเวลาต่อมา โดยยืนยันในข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งในขณะถูกซักถามและให้การชั้นสอบสวนนั้น จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ร่วมก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดปัตตานีแต่อย่างใด แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีอิสระในการให้ถ้อยคำและให้การโดยแท้ ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าที่จำเลยที่ 1 ให้การว่าได้สาบานตนเข้าร่วมกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้นจะเกิดขึ้นจากการขู่เข็ญหรือใช้กำลังบังคับแต่อย่างใด จึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยชอบ แม้เป็นพยานบอกเล่า แต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) เมื่อนำมารับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นที่โจทก์นำสืบข้างต้นแล้วสนับสนุนให้เชื่อว่า จำเลยที่ 1 เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและได้ร่วมก่อเหตุในคดีนี้ ดังนี้ เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าร่วมก่อเหตุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย สีม่วง หมายเลขเครื่อง 35671105439xxxx ของจำเลยที่ 1 ที่ใช้ติดต่อกับโทรศัพท์หมายเลขต่าง ๆ ในวันเกิดเหตุ โดยเฉพาะหมายเลขโทรศัพท์ 08 3194 xxxx ซึ่งน่าจะเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ร่วมก่อความไม่สงบ จึงเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ให้ริบเสียตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ส่วนกรณีจำเลยที่ 2 นั้น ดาบตำรวจชูชาติ พยานโจทก์เบิกความว่า เจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดได้เก็บวัตถุพยานจากบริเวณที่เกิดเหตุถนนบานา – แหลมนก เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อซัมซุง รุ่นฮีโร่ สีดำ 1 เครื่องและสีบรอนซ์ 1 เครื่อง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่คนร้ายใช้สำหรับประกอบระเบิด 2 ลูก ของกลางดังกล่าวยังมีสภาพสมบูรณ์ พยานตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวที่บริษัทเทเลวิช จำกัด สาขาปัตตานี แล้วปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวส่งโทรศัพท์ของกลางไปที่ร้านเอสอาร์โฟน ถนนเจริญประดิษฐ์ อำเภอเมืองปัตตานี พยานจึงไปตรวจสอบที่ร้านดังกล่าว เมื่อตรวจรายการบันทึกการขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของร้านปรากฏว่าพนักงานได้ขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อซัมซุง รุ่นฮีโร่ สีดำ ให้ลูกค้าไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 และเมื่อตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดของร้านพบว่า เวลา 9 นาฬิกา จำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไป ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบรับว่าเป็นผู้ซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไปตามวันเวลาดังกล่าวจริง แต่นำสืบต่อสู้ว่า เหตุที่ไปซื้อเพราะถูกกลุ่มชายวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งทำร้ายร่างกายบังคับให้ไปซื้อมาให้ จำเลยที่ 2 จึงยอมทำตาม เห็นว่า หากจำเลยที่ 2 ถูกกลุ่มวัยรุ่นทำร้ายและบังคับให้ไปซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่มาให้จริงแล้ว จำเลยที่ 2 น่าจะเข้าแจ้งความดำเนินคดีแก่กลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวหรือแจ้งเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบโดยทันที เพื่อเป็นหลักฐานในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องหากมีการนำโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นไปใช้ในการก่อเหตุร้ายใด ๆ ขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นคนร้ายมักก่อเหตุลอบวางระเบิดโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์ในการจุดระเบิดซึ่งในคดีนี้พันตำรวจเอกจันที พยานโจทก์เบิกความว่า พยานร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ 2 จุด … จุดที่ 2 เหตุคนร้ายลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าริมถนนยะรัง – ปัตตานี พบเสาไฟฟ้า 3 ต้น ล้มพาดถนนเนื่องจากถูกแรงระเบิด จากการตรวจที่เกิดเหตุพบภาชนะบรรจุวัตถุระเบิด เศษสะเก็ดระเบิด เทปพันสายไฟ และชิ้นส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับจุดระเบิด โดยคนร้ายนำวัตถุระเบิดไปวางไว้ที่โคนเสาไฟฟ้าต้นละลูก พันตำรวจตรีไพบูลย์ พยานโจทก์เบิกความว่าพยานเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด คดีนี้มีการเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ระเบิดและไม่ระเบิดรวม 45 ลูก สามารถเก็บกู้ได้ 9 ลูก … เหตุคนร้ายลอบวางระเบิดสถานีบริการน้ำมันมี 5 จุด เกิดระเบิด 4 จุด ไม่ระเบิด 1 จุด เมื่อตรวจสอบวัตถุระเบิด คนร้ายจุดระเบิดด้วยการตั้งเวลา ใช้อุปกรณ์หน่วงเวลา 4 จุด ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ตั้งเวลา 1 จุด เหตุคนร้ายลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูง 7 จุด ใช้วัตถุระเบิดรวม 20 ลูก เกิดระเบิด 15 ลูก เก็บกู้ได้ 5 ลูก ทุกลูกใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อซัมซุง รุ่นฮีโร่ เป็นตัวตั้งเวลาจุดระเบิด เหตุคนร้ายลอบวางระเบิดลานจอดรถสะพานปลา คนร้ายใช้วัตถุระเบิด 10 ลูก เกิดระเบิด 9 ลูก เก็บกู้ได้ 1 ลูก ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อซัมซุง รุ่นฮีโร่ เป็นตัวตั้งเวลาจุดระเบิด เหตุคนร้ายลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูงริมถนนบานา – แหลมนก มีวัตถุระเบิด 3 ลูก ระเบิดแล้ว 1 ลูก ยังไม่ระเบิดโดยแขวนไว้อีก 2 ลูก พยานเก็บกู้ไว้ได้ คนร้ายใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อซัมซุง รุ่นฮีโร่ สีดำและสีขาวเป็นตัวจุดระเบิด และพันตำรวจโทนิวัฒน์ พยานโจทก์เบิกความว่า พยานร่วมตรวจที่เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด…เวลา 17.20 นาฬิกา พยานร่วมตรวจที่เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าริมถนนรามโกมุท หมู่ที่ 10 พบว่าคนร้ายวางระเบิดเสาไฟฟ้า 3 ต้น พบชิ้นส่วนโลหะภาชนะบรรจุระเบิด ชุดวงจรจุดระเบิด ชิ้นส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ … จะเห็นได้ว่า จากจุดที่เกิดเหตุต่าง ๆ ที่พยานโจทก์เบิกความมานั้นพยานโจทก์ตรวจพบว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่กลุ่มคนร้ายใช้เป็นตัวจุดระเบิดให้กับวัตถุระเบิดที่นำไปติดตั้งหรือวางไว้ตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ตรวจพบในที่เกิดเหตุที่มีการวางระเบิดนั้นเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อซัมซุง รุ่นฮีโร่ สีดำ ซึ่งเหมือนกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ไปซื้อมาจากร้านและมอบให้ผู้อื่น การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า กลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวไม่ยอมไปซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยตนเอง แต่กลับบังคับให้จำเลยที่ 2 ไปซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่มามอบให้นั้น จำเลยที่ 2 เป็นคนในพื้นที่โดยมีภูมิลำเนาที่จังหวัดปัตตานีย่อมรู้เห็นเหตุก่อความไม่สงบในพื้นที่ดีจึงต้องคาดหมายได้ว่ากลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวน่าจะเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่และต้องการนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปใช้ในการก่อเหตุ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดว่าจำเลยที่ 2 แจ้งเหตุหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือดำเนินการใด ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ก็เพียงให้การปฏิเสธ แต่ก็ไม่เคยให้การถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้จำเลยที่ 2 มีนางสาวปีนะห์ตาและ เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า ตามวันเวลาดังกล่าวเห็นจำเลยที่ 2 เข้าไปซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ร้านเอสอาร์โฟนโดยมีท่าทีรีบร้อน แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายของจำเลยที่ 2 กับพวกขณะซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้วก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีลักษณะท่าทางผิดปกติเหมือนถูกบังคับให้จำต้องมาซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่อย่างใด พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบจึงไม่สมแก่เหตุผล ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ไปซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อซัมซุง รุ่นฮีโร่ สีดำ ด้วยตนเอง และในเวลาต่อมาปรากฏว่ามีการนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมียี่ห้อรุ่นและสีตรงกับที่จำเลยที่ 2 ซื้อไปใช้เป็นส่วนประกอบวัตถุระเบิดเพื่อลอบวางระเบิดตามจุดต่างๆ รวมทั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงริมถนนสายบานา – แหลมนก แสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับพวกในการลอบวางระเบิด โดยการซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่และนำไปมอบให้แก่พวกของตนเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบกับวัตถุระเบิดโดยใช้เป็นตัวจุดระเบิดแล้วลักลอบนำไปวางไว้ตามจุดต่างๆ ในลักษณะแบ่งแยกหน้าที่กันทำ ซึ่งในวันเกิดเหตุมีการลอบวางระเบิดและลอบวางเพลิงตามสถานที่ต่างๆ ในอำเภอเมืองปัตตานีและอำเภอหนองจิก รวม 29 จุด ในเวลาไล่เลี่ยกัน อันมีลักษณะเป็นการสมคบวางแผนล่วงหน้ามาเป็นอย่างดี ตามพฤติการณ์จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและเข้าร่วมก่อเหตุในคดีนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 9 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ฐานเป็นซ่องโจร และฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการ หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย เป็นการกระทำกรรมเดียวกันนั้น เห็นว่า ความผิดฐานเป็นอั้งยี่เป็นความผิดสำเร็จเมื่อได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นความผิดกรรมหนึ่ง ส่วนความผิดฐานเป็นซ่องโจร เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อผู้กระทำความผิดได้สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย หรือการกระทำอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกมีเจตนาเดียวในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ เพื่อการก่อการร้าย จึงเป็นความผิดกรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ซึ่งเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้องจึงไม่อาจแก้ไขให้เรียงกระทงลงโทษในส่วนนี้ได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 คงปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นสำหรับความผิดฐานเป็นอั้งยี่ เป็นความผิดกรรมหนึ่งซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการ หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ซึ่งเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง สำหรับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย สีม่วง หมายเลขเครื่อง 35671105439xxxx นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share