คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4839/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดีอาญาต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีนี้คดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ก่อนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับ สิทธิในการฎีกาจึงเป็นไปตามกฎหมายฉบับเดิมก่อนมีการแก้ไข ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 100,000 บาท เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องอันเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะฟ้องคดี ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 290, 371
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ระหว่างพิจารณานางใหม่ มารดาผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนข้อหาพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหายจึงไม่อนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1,238,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคหนึ่ง, 371 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุก 1 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปี 1 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน 20 วัน และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 100,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 568,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันยื่นคำร้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม และข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 (เดิม) จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคหนึ่ง จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และทางนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 วัน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 565,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า ในคดีส่วนอาญาศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคหนึ่ง และฐานพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จำคุก จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุก 1 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปี 1 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน 20 วัน ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 (เดิม) จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคหนึ่ง จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 วัน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะพิพากษาแก้ทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลงอันเป็นการแก้ไขมากก็เป็นเหตุเพียงมิให้ใช้ข้อห้ามฎีกานี้แก่จำเลยอันเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตอนท้ายเท่านั้น แต่กฎหมายดังกล่าวหาได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์หรือโจทก์ร่วมในอันที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วยไม่ คดีจึงต้องห้ามโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
สำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 นั้น ศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์ จึงมีผลเป็นว่า ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยในชั้นอุทธรณ์ไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 หรือไม่ เมื่อโจทก์ร่วมฎีกาในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้องคดี ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาในคดีส่วนแพ่งขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดีอาญาต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีนี้ คดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกาโจทก์ร่วมฎีกา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ก่อนที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับสิทธิในการฎีกาจึงเป็นไปตามกฎหมายฉบับเดิมก่อนมีการแก้ไข ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 100,000 บาท เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน เมื่อจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องอันเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะฟ้องคดี ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share