แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และ ก. อยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2496 ภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2501 จำเลยที่ 1 และ ก. หามาได้ร่วมกันจึงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 และ ก. เป็นเจ้าของรวมกัน ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2517 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับ ก. โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้มีการทำสัญญาก่อนสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 กับ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1463 (1) (เดิม) และเป็นสินบริคณห์ ตามมาตรา 1462 (เดิม) ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตามมาตรา 1468 (เดิม) ต่อมาเมื่อ ก. ถึงแก่ความตายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 จึงส่งผลให้อำนาจในการจัดการสินบริคณห์ของจำเลยที่ 1 หมดไป และต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ตามมาตรา 1625 (เดิม) นั่นคือ ต้องคืนสินเดิมแก่คู่สมรสทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 1513 (1) ส่งผลให้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกของ ก. ทั้งนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า ก. ได้ทำพินัยกรรมเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งของ ก. ย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทของ ก. เมื่อที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ก. และมีปัญหาในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกส่วนนี้ในระหว่างทายาทของ ก. คดีนี้จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องมรดก ไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1336 มาใช้บังคับตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกได้
จำเลยที่ 1 กับ ก. ต้องการยกที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งหกรับรู้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาลจังหวัดพัทยาแล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 1 และ ก. โดยบุตรทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งหกรับรู้และไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นกรณีการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด” จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่เพียงแปลงเดียวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 หลังจากการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วเป็นเวลาเกือบสิบสองปี คดีของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาทั้งก่อนและภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย โดยไม่ปรากฏว่าภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นของ ก. ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยแต่อย่างใด ทั้งยังได้ความว่า โจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ก. ถึงแก่ความตายจนมีการฟ้องคดีนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นมรดกของ ก. จึงมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่นหากแต่เป็นการครอบครองเพื่อตน ดังนั้น หากทายาทของ ก. ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องให้มีการแบ่งมรดกของ ก. ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทอื่นของ ก. ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหกในคดีนี้ได้ฟ้องแบ่งมรดกในส่วนของ ก. ภายใน 1 ปี แม้ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนให้ที่พิพาททั้งแปลงรวมถึงส่วนที่เป็นมรดกของ ก. แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเป็นเรื่องการแบ่งปันมรดกของ ก. ให้แก่ทายาทอยู่นั่นเอง การที่โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในส่วนของ ก. ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. แก่ทายาทคนอื่น เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 2 ภายหลังจาก ก. ถึงแก่ความตายเกิน 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ทั้งหกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 2898 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2542 เพิกถอนนิติกรรมแบ่งแยกในนามเดิมของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ที่แบ่งแยกที่ดินในนามเดิมออกไปอีกสี่แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 27519, 27520, 27521 และ 27522 เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 2898 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 27520 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 และนิติกรรมแบ่งแยกที่ดินในนามเดิมออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 35021 และ 35022 ของจำเลยที่ 3 โดยให้ที่ดินกลับไปเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมซัวแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งหกตามกฎหมายต่อไป หากจำเลยที่ 1 เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งหกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนด ค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวม 70,000 บาท ค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 3 จำนวน 20,000 บาท ค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 4 จำนวน 30,000 บาท
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 และนางกิมซัวอยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2496 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรรวม 8 คน คือ นางปราณี โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 นางเจน และจำเลยที่ 2 ประมาณปี 2501 จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิ ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2517 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับนางกิมซัว วันที่ 24 มิถุนายน 2519 จำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 047 วันที่ 27 ตุลาคม 2535 จำเลยที่ 1 ดำเนินการเปลี่ยน น.ส. 3 ก. ดังกล่าวเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 2898 มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 นางกิมซัวถึงแก่ความตาย วันที่ 5 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2898 แก่จำเลยที่ 2 วันที่ 22 สิงหาคม 2555 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทในนามเดิมออกไปเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 27519, 27520, 27521 และ 27522 แล้ววันที่ 22 เมษายน 2557 จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27520 แก่จำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 3 จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทในนามเดิมออกไปเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 35021 และ 35022 ส่วนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2898 ส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยก วันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 จำเลยที่ 2 นำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ 4
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกในข้อแรกว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ ที่โจทก์ทั้งหกฎีกาว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งหกเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมและเรียกเอาที่ดินพิพาทคืนตามส่วนจากผู้ที่ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 มิใช่ฟ้องเพื่อจัดการมรดก แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยปัญหานี้ทั้งที่เป็นปัญหาที่สำคัญและมีผลต่อคดี ศาลฎีกาจึงเห็นควรที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียก่อนว่า ฟ้องโจทก์ทั้งหกเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย” ทั้งนี้ คำว่าภายในบังคับของกฎหมาย ตามบทบัญญัตินี้หมายความว่า หากเป็นกรณีที่ตกอยู่ภายใต้บังคับตามบทบัญญัติเฉพาะในเรื่องอื่นแล้ว ก็ไม่อาจนำมาตรา 1336 ไปใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 และนางกิมซัวอยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2496 ภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2501 ที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และนางกิมซัวหามาได้ร่วมกันจึงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 และนางกิมซัวเป็นเจ้าของรวมกัน ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2517 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับนางกิมซัว โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้มีการทำสัญญาก่อนสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 และนางกิมซัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1463 (1) (เดิม) และเป็นสินบริคณห์ ตามมาตรา 1462 (เดิม) ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตามมาตรา 1468 (เดิม) ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 047 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2519 และดำเนินการเปลี่ยน น.ส. 3 ก. ดังกล่าวเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 2898 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2535 การจัดการดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะลงชื่อในโฉนดที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวแต่สถานะของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทดังกล่าวซึ่งเป็นสินเดิมของนางกิมซัวก็มิได้เปลี่ยนแปลงไป ต่อมาเมื่อนางกิมซัวถึงแก่ความตายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 จึงส่งผลให้อำนาจในการจัดการสินบริคณห์ของจำเลยที่ 1 หมดไป และต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางกิมซัว ตามมาตรา 1625 (เดิม) นั่นคือ ต้องคืนสินเดิมแก่คู่สมรสทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 1513 (1) ส่งผลให้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกของนางกิมซัว ทั้งนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่านางกิมซัวได้ทำพินัยกรรมเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งของนางกิมซัวย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทของนางกิมซัว อันได้แก่ จำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีและนางปราณี โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 นางเจน และจำเลยที่ 2 ผู้เป็นบุตร เมื่อที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางกิมซัว และมีปัญหาในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกส่วนนี้ในระหว่างทายาทของนางกิมซัว คดีนี้จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องมรดก ไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 มาใช้บังคับตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกได้ ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงในคดีจึงรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 กับนางกิมซัวต้องการยกที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งหกรับรู้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมซัวตามคำสั่งศาลจังหวัดพัทยาแล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 1 และนางกิมซัว โดยบุตรทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งหกรับรู้และไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมซัวโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นกรณีการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด” ข้อเท็จจริงในคดีฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมซัวโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่เพียงแปลงเดียวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 หลังจากการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วเป็นเวลาเกือบสิบสองปี คดีของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความการจัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ สำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาทั้งก่อนและภายหลังนางกิมซัวถึงแก่ความตาย โดยไม่ปรากฏว่าภายหลังนางกิมซัวถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นของนางกิมซัวได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือแสดงความจำนงจะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทด้วยแต่อย่างใด ทั้งยังได้ความว่า โจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่นางกิมซัวถึงแก่ความตายจนมีการฟ้องคดีนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นมรดกของนางกิมซัวจึงมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่นหากแต่เป็นการครอบครองเพื่อตน ดังนั้น หากทายาทของนางกิมซัวต้องการใช้สิทธิเรียกร้องให้มีการแบ่งมรดกของนางกิมซัวในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาท ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทอื่นของนางกิมซัวซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหกในคดีนี้ได้ฟ้องแบ่งมรดกในส่วนของนางกิมซัว ภายใน 1 ปี แม้ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนให้ที่พิพาททั้งแปลงรวมถึงส่วนที่เป็นมรดกของนางกิมซัวแก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเป็นเรื่องการแบ่งปันมรดกของนางกิมซัวให้แก่ทายาทอยู่นั่นเอง การที่โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในส่วนของนางกิมซัวระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางกิมซัวแก่ทายาทคนอื่น เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 2 ภายหลังจากนางกิมซัวถึงแก่ความตายเกิน 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำพิพากษาฎีกาที่โจทก์ทั้งหกอ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ เมื่อวินิจฉัยดังนี้ กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ๆ ของโจทก์ทั้งหกเพราะไม่มีผลให้คดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหกมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งหกฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ