คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ว่า จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ ได้ร่วมกันจัดทำเอกสารและกรอกข้อความลงในเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ ร. โดยไม่ได้ตั้งฎีกาเบิกเงินงบประมาณรายจ่าย ไม่ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือและไม่ได้ขีดคร่อมเช็ค ทั้งไม่ส่งมอบเช็คแก่ ร. ผู้มีสิทธิรับเงินตามเช็ค อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แล้วร่วมกันนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและเบียดบังเงินนั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งสี่กระทำไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิด มาตรา 157 การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 147, 151, 157 นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงิน 48,510 บาท แก่องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้ม
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151 การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี และปรับ 8,000 บาท จำเลยที่ 4 จำคุก 5 ปี โทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยที่ 4 คืนเงิน 48,510 บาท แก่องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้ม ข้อหาและคำขออื่นสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับยกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งกันว่า จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าพนักงาน โดยจำเลยที่ 1 เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้ม มีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าส่วนการคลังองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้ม มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน หรืองานเกี่ยวกับการเงินการบัญชีตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 ข้อ 5 (10) และเป็นผู้ควบคุม กำกับดูแล รับผิดชอบภายในส่วนการคลัง จำเลยที่ 3 เป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้ม มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดหรือตามที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมอบหมาย ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 60/1 และจำเลยที่ 4 เป็นนักวิชาการเงินและบัญชี 3 องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้ม มีหน้าที่ในการจัดทำรายงานการจัดทำเช็ค และติดตามประสานให้ผู้มีสิทธิรับเงินตามเช็คมารับไปโดยเร็วภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายลงนามในเช็ค หรือดำเนินการนำออกไปจ่ายให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 4 จัดทำเช็คโดยกรอกข้อความลงในเช็คธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาภูกระดึง เลขที่ 579xxxx โดยระบุวันที่ 8 ธันวาคม 2554 สั่งจ่ายเงินจำนวน 48,510 บาท ให้แก่ร้านราชสีห์คอมพิวเตอร์เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อวัสดุอุปกรณ์ แต่ไม่ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือและไม่ขีดคร่อมเช็ค แล้วนำเช็คนั้นไปให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 ข้อ 69 (1) จากนั้นแทนที่จำเลยที่ 4 จะประสานเจ้าของร้านราชสีห์คอมพิวเตอร์ให้มารับเช็คไปภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันสั่งจ่ายหรือนำเช็คออกไปส่งมอบแก่เจ้าของร้านราชสีห์คอมพิวเตอร์ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้มที่ 389/2553 จำเลยที่ 4 กลับนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารแล้วเอาเงินนั้นไปเป็นของตน สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่ฎีกา คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสี่ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ว่า จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ ในการจัดหาพัสดุ ร่วมกันจัดทำเอกสารและกรอกข้อความลงในเช็คธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาภูกระดึง เลขที่ 579xxxx ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2554 สั่งจ่ายเงินจำนวน 48,510 บาท ให้แก่ร้านราชสีห์คอมพิวเตอร์ มีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย เพื่อเบิกเงินขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้มออกจากบัญชีในธนาคาร โดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ตั้งฎีกาเบิกเงินตามงบประมาณรายจ่าย ไม่ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือและไม่ขีดคร่อมเช็ค ทั้งไม่ส่งมอบเช็คแก่เจ้าของร้านราชสีห์คอมพิวเตอร์ ผู้มีสิทธิได้รับเงินตามเช็ค ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แล้วร่วมกันนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร และเบียดบังเงินนั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต อันเป็นการร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเป็นการร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดด้วยแต่อย่างใด เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 4 แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่ศาลชั้นต้นกลับหยิบยกประเด็นขึ้นวินิจฉัยต่อไปว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีการขีดคร่อมและขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือ ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้มและพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นตามมาตราดังกล่าว ทั้งที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยมีเจตนาพิเศษมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานนี้นั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 หยิบยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ต่อไปว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้มสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์จากร้านราชสีห์คอมพิวเตอร์ไปใช้ในราชการ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้มจึงมีหนี้ที่จะต้องชำระค่าวัสดุอุปกรณ์ให้แก่ร้านค้าดังกล่าว การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเช็คและเขียนเช็ค ได้จัดทำเช็ค สั่งจ่ายเงินจำนวน 48,510 บาท ชำระหนี้ค่าวัสดุอุปกรณ์ให้แก่ร้านราชสีห์คอมพิวเตอร์ โดยไม่มีการขีดคร่อมและขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ แล้วนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากบัญชีขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้มในธนาคารแล้วนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตน โดยมิได้นำเช็คไปชำระหนี้ให้แก่ร้านราชสีห์คอมพิวเตอร์เจ้าหนี้ ย่อมทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้มยังคงมีภาระต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่ร้านค้าดังกล่าวอยู่ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้มจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 4 หาใช่ร้านราชสีห์คอมพิวเตอร์ดังที่จำเลยที่ 4 อ้างไม่ การกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานนี้มาจึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 4 ฎีกาขอให้ลดโทษและรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 4 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการ แต่จำเลยที่ 4 กลับอาศัยโอกาสดังกล่าวจัดทำเช็ค สั่งจ่ายเงินจากบัญชีขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยส้มเป็นจำนวนมากถึง 48,510 บาท โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ทางราชการกำหนดไว้ แล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเบียดบังเงินเป็นของตนโดยทุจริต พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 4 นับว่าร้ายแรง ทั้งจำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธและนำสืบต่อสู้คดีตลอดมา อันเป็นการไม่รู้สึกสำนึกในความผิด แม้จำเลยที่ 4 จะอ้างว่าร้านราชสีห์คอมพิวเตอร์ได้รับชำระหนี้แล้วและจำเลยที่ 4 มีเหตุจำเป็นต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์สองคนก็ตาม ก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะลดโทษและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 4 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 4 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share