แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่มีสิทธิรับมรดกของ ป. แต่ที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกที่ผู้คัดค้านที่ 2 ขอเป็นผู้จัดการมรดก ป. ได้ทำพินัยกรรมยกให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 แล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกดังกล่าว การที่ ป. อนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปลูกสร้างบ้านลงในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกไม่มีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรม ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 จึงไม่มีสิทธิคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมของนายปรุซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2536 โดยก่อนถึงแก่ความตายนายปรุได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3861 ให้แก่ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ร้องมีความประสงค์จะแบ่งปันทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมแต่มีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมร่วมกับผู้ร้อง ที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม เป็นสินสมรสของนายปรุและนางเผียนซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้พินัยกรรมมีผลบังคับเพียงครึ่งเดียวเฉพาะส่วนของนายปรุ สำหรับที่ดินส่วนของนางเผียนนั้น นางเผียนได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ร้อง เมื่อนางเผียนถึงแก่ความตาย ผู้ร้องได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนดังกล่าวไปแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายปรุโดยไม่สุจริต จึงไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของนายปรุกับนางเผียน เมื่อประมาณปี 2519 นายปรุและนางเผียนยินยอมให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปลูกสร้างบ้านลงในที่ดินตามโฉนดในพินัยกรรม ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียผู้คัดค้านที่ 2 ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของนายปรุกับนางเผียน เมื่อประมาณปี 2519 นายปรุและนางเผียนยินยอมให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปลูกสร้างบ้านลงในที่ดินตามโฉนดในพินัยกรรม ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียผู้คัดค้านที่ 2 ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการคมรดกร่วมกับผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายปรุผู้ตาย กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะไม่ได้สั่งอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาถือได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3861 ตำบลบางหัวเสือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 99 ตารางวา เป็นสินสมรสของนายปรุและนางเผียน นายปรุถึงแก่ความตายแล้ว ก่อนถึงแก่ความตายนายปรุได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงให้แก่ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 นางเผียนจึงฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรม คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้พินัยกรรมของนายปรุมีผลบังคับเพียงครึ่งเดียวเฉพาะส่วนของนายปรุ ตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เอกสารหมาย ค.2 สำหรับที่ดินส่วนของนางเผียนนั้นนางเผียนทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ร้อง เมื่อนางเผียนถึงแก่ความตายผู้ร้องได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินส่วนของนางเผียนไปแล้วตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.2 ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายปรุกับนางเผียน ผู้คัดค้านที่ 2 ปลูกสร้างบ้านลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 3861 โดยได้รับความยินยอมจากนายปรุและนางเผียน คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 หรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่มีสิทธิรับมรดกของนายปรุ แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 3861 อันเป็นทรัพย์มรดกที่ผู้คัดค้านที่ 2 ขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้นนายปรุได้ทำพินัยกรรมยกให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 แล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกดังกล่าว การที่นายปรุและนางเผียนอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปลูกสร้างบ้านลงในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกไม่มีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรม ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่มีสิทธิคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายปรุได้ ที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายปรุร่วมกับผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เป็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมศาลฎีกาจึงสั่งให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 และมาตรา 167”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ