คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7913/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจำกัดวงเงิน แม้การค้ำประกันเป็นบุคคลสิทธิส่วนการจำนองเป็นทรัพยสิทธิ แต่เมื่อเป็นการประกันหนี้จำนวนเดียวกันและจำเลยที่ 5 ได้ชำระหนี้ตามสัญญาจำนองครบถ้วนจนมีการไถ่ถอนจำนองให้จำเลยที่ 5 แล้ว อันมีผลให้ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันระงับไปด้วย จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือตามสัญญาค้ำประกันอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาขอนแก่น วงเงิน 12,500,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สมรสให้ความยินยอมและมีจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันและจำนองเป็นประกันแล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์รับโอนสินทรัพย์ด้วยคุณภาพมาจากธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) โจทก์บอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและทวงถามให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 21,556,680.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 15,455,449.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระให้บังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าจนครบ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 5 ให้การว่า ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 วงเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท และจำเลยที่ 5 ชำระหนี้โดยไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้นแล้วจึงสิ้นความผูกพัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 21,556,680.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 15,455,449.75 บาท ให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ชำระหนี้โจทก์แต่ไม่เกิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.24 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้บังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 49118, 49119, 49120, 49121, 49122, 49123, 49124, 49125, 4290 และ 4291 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้บังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าชำระหนี้จนครบ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 5 ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยที่ 5 ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยที่ 5 โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 10,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 5 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาให้โจทก์ชำระต่อศาลในนามจำเลยที่ 5 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2526 จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินบัญชีของจำเลยที่ 1 ให้ไว้ต่อธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด จำนวน 800,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.32 หรือเอกสารหมาย ล.2 และจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวให้ธนาคารไว้ในวงเงิน 800,000 บาท ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.1 ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2535 จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ให้ไว้ต่อธนาคารอีกจำนวน 700,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.33 หรือเอกสารหมาย ล.5 และจดทะเบียนเพิ่มวงเงินจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้ไว้ต่อธนาคารอีกจำนวน 700,000 บาท ตามบันทึกถ้อยคำขึ้นเงินจำนองครั้งหนึ่งเอกสารหมาย ล.6 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,500,000 บาท วันที่ 5 ตุลาคม 2537 จำเลยที่ 5 ไถ่ถอนจำนองตามเอกสารหมาย ล.7 สัญญาจำนองเป็นอันระงับ โจทก์รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรวมถึงสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ในคดีนี้มาจากธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 5 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.32 และ จ.33 อีกหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.32 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล.2 มีข้อความในข้อ 1 ระบุถึงสัญญาที่จำเลยที่ 1 ผู้กู้กู้เงินจากธนาคารผู้ให้กู้ตามสัญญาลงวันที่ 19 ตุลาคม 2536 จำนวน 800,000 บาท จำเลยที่ 5 ผู้ค้ำประกันยอมค้ำประกันรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาที่กล่าวแล้วจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง และสัญญาข้อ 6 ระบุว่าเพื่อนเป็นประกันที่ธนาคารยอมให้จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินไปตามสัญญาดังกล่าวในข้อ 1 จำเลยที่ 5 ขอมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 15995 ตำบล… พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้วหรือที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้าตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันลงวันที่ 19 ตุลาคม 2526 ซึ่งก็คือสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยที่ 5 นำที่ดินดังกล่าวมาจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อธนาคารเป็นจำนวนเงิน 800,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี สัญญาค้ำประกันกับสัญญาจำนองดังกล่าวทำในวันเดียวกัน ต่างระบุถึงหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อธนาคารจำนวน 800,000 บาท เช่นกัน ส่วนสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.33 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล.5 ก็มีข้อความทำนองเดียวกัน กล่าวคือ ข้อ 9 ของสัญญาดังกล่าวระบุว่าเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญานี้จำเลยที่ 5 ขอมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 15995 ตำบล… ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม 2526 และขึ้นเงินจำนองเป็นประกันฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2535 ไว้เป็นประกันการชำระหนี้ต่อธนาคาร ให้ธนาคารถือไว้เป็นหลักประกันจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญานี้ ซึ่งจำนวนเงินตามสัญญาค้ำประกัน 700,000 บาท ก็ตรงกับจำนวนเงินในบันทึกถ้อยคำขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่หนึ่ง ซึ่งทำในวันเดียวกับวันทำสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.33 ทั้งยังมีข้อความระบุในบันทึกถ้อยคำขึ้นเงินจำนองดังกล่าวว่า เงื่อนไขและข้อตกลงอื่น ๆ ให้เป็นไปตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองฉบับเดิมทุกประการ เมื่อมีการไถ่ถอนทรัพย์จำนองดังกล่าวก็มีบันทึกถ้อยคำหลังสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งตรงกับบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ล.7 ว่าธนาคารได้รับชำระหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งนายทัตชัยผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ก็เบิกความถึงหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อธนาคารว่าเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้กล่าวถึงหนี้อื่น ดังนั้นการที่จำเลยที่ 5 เข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินบัญชีของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.32 หรือเอกสารหมาย ล.2 ให้ไว้ต่อธนาคารจำนวน 800,000 บาท และสัญญาจำนองที่ดินของจำเลยที่ 5 ก็ระบุว่าตกลงจำนองที่ดินเป็นประกันจำนวน 800,000 บาท ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.1 โดยมีข้อความในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวข้อ 6 ระบุถึงสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งทำในวันเดียวกันว่าเพื่อเป็นประกันที่ผู้ให้กู้ยอมให้ผู้กู้ได้กู้เงินไปตามสัญญาดังกล่าวในข้อ 1 แสดงว่า สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 5 ทำขึ้นเป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อธนาคาร และเป็นหนี้จำนวนเดียวกับที่จำเลยที่ 5 จำนองที่ดินเป็นประกันจำนวน 800,000 บาท และเมื่อมีการทำสัญญาค้ำประกันอีกฉบับหนึ่งตามเอกสารหมาย จ.33 ซึ่งตรงกับสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.5 ก็ปรากฏตามสัญญาข้อ 9 ที่กล่าวถึงบันทึกถ้อยคำขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่หนึ่งตามเอกสารหมาย ล.6 ซึ่งมีข้อความทำนองเดียวกับสัญญาค้ำประกันฉบับแรกที่จำเลยที่ 5 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารตามที่กล่าวมาแล้ว แสดงว่า เมื่อรวมกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารตามที่กล่าวมาแล้ว แสดงว่า เมื่อรวมจำนวนเงินที่จำเลยที่ 5 ค้ำประกันและตกลงจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันทั้งสองฉบับกับสัญญาจำนองและบันทึกถ้อยคำขึ้นเงินจำนวงเป็นประกันครั้งที่หนึ่งแล้ว จำเลยที่ 5 จึงมีความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองดังกล่าวในต้นเงินเพียง 1,500,000 บาท เมื่อธนาคารได้รับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวครบถ้วนจนมีการไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 5 แล้ว ก็มีผลให้ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันย่อมระงับไปด้วย ที่โจทก์ฎีกาให้จำเลยที่ 5 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.32 และ จ.33 อีกโดยอ้างว่าตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.32 และ จ.33 ทำในวันเดียวกับสัญญาจำนองและวงเงินที่ประกันจะมีจำนวนเท่ากันกับสัญญาจำนอง และมีวัตถุประสงค์ในการประกันหนี้รายเดียวกันคือหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่สัญญาค้ำประกันเป็นการค้ำประกันด้วยบุคคลเป็นบุคคลสิทธิโจทก์จะมีสิทธิบังคับจำเลยที่ 5 ได้โดยตรง แม้จะมีการปลดจำนองแล้วนั้น เห็นว่า ข้ออ้างตามฎีกาของโจทก์เป็นการฎีกาขอให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 มากกว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 5 ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันทั้งสองครั้ง ซึ่งโจทก์รับในฎีกาแล้วว่าการค้ำประกันและการจำนองดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการประกันหนี้รายเดียวกัน แม้การค้ำประกันเป็นบุคคลสิทธิส่วนการจำนองเป็นทรัพย์สิทธิดังที่โจทก์อ้าง แต่เมื่อเป็นการประกันหนี้จำนวนเดียวกันแล้วก็ไม่อาจให้จำเลยที่ 5 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share