คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2476/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยประสบภาวะขาดทุนจำเป็นจะต้องลดจำนวนลูกจ้างและจำเลยได้ขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างประจำสถานประกอบการของจำเลยและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เนื่องจากสาเหตุดังกล่าวต่อศาลแรงงานก่อนที่สหภาพแรงงานจะยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลยนานประมาณ 1 ปี และเมื่อศาลแรงงานมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงสืบเนื่องมาจากจำเลยประสบภาวะขาดทุน จำเป็นต้องลดจำนวนลูกจ้างและศาลแรงงานมีคำสั่งอนุญาตแล้ว มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ฉะนั้น แม้ว่าโจทก์จะเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องตามที่สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย และขณะที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์นั้นจะอยู่ในระหว่างการเจรจาหรือการไกล่เกลี่ยหรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ยังตกลงกันไม่ได้ก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลย และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้างและกรรมการบริหารสหภาพแรงงาน ที ที เอ จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โดยอ้างเหตุว่า ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้ คำสั่งของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื่องจากอยู่ระหว่างเกิดข้อพิพาทแรงงานต่อกัน และข้อพิพาทแรงงานดังกล่าวยังไม่สามารถตกลงกันได้ คำสั่งของจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ ๑ อัตราเดือนละ ๕,๒๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ เดือนละ ๖,๑๗๒ บาท นับแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป และให้จำเลยมอบหมายงานให้โจทก์ทั้งสองทำและกลับเข้าไปยังสถานประกอบการของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลาง ขอเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองกับพวก ต่อมาศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองกับพวกจึงได้ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยกล่าวหาว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้ออกคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสองกับพวกกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย ต่อมาคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งยกคำร้อง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ กำหนดห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้องในกรณีที่มีการยื่นข้อเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และข้อเรียกร้องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการเจรจาหรือการไกล่เกลี่ย ทั้งนี้วัตถุประสงค์ก็เพื่อที่จะคุ้มครองบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องดังกล่าวมิให้นายจ้างกลั่นแกล้งโดยการเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงาน ซึ่งหากนายจ้างประสงค์จะกระทำดังกล่าวก็จะต้องมีกรณีเข้าข้อยกเว้น ๔ ประการตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่ก็มิได้หมายความว่าหากมีเหตุจำเป็นที่นอกเหนือจากเหตุผล ๔ ประการ ดังกล่าวแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้างไม่ได้เสียเลยทีเดียว คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยประสบภาวะขาดทุนจำเป็นจะต้องลดจำนวนลูกจ้างและจำเลยได้ขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเนื่องจากสาเหตุดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลางตั้งแต่วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่สหภาพแรงงาน ที ที เอ จะยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลยนานประมาณ ๑ ปี และเมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ จำเลยก็มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจึงสืบเนื่องมาจากจำเลยประสบภาวะขาดทุน จำเป็นต้องลดจำนวนลูกจ้างและศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตแล้ว มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด ฉะนั้น แม้ว่าโจทก์ทั้งสองจะเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องตามที่สหภาพแรงงาน ที ที เอ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย และขณะที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองนั้นจะอยู่ในระหว่างการเจรจาหรือการไกล่เกลี่ยหรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ยังตกลงกันไม่ได้ก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share