แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติเพื่อมิให้การดำเนินคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงต้องล่าช้าและทำให้ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไว้นานเกินสมควรแก่เหตุและความจำเป็น การที่จำเลยเข้ามอบตัวและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ จำเลยให้การปฏิเสธและได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวย่อมถือว่าจำเลยถูกจับแล้ว พนักงานสอบสวนต้องส่งตัวจำเลยพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้ฟ้องภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยโดยไม่ได้ขอผัดฟ้องและพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุดตามมาตรา 9 จึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 31 มีนาคม 2546 เวลาใดไม่ปรากฏชัดถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2546 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยหมิ่นประมาทด้วยการใส่ความนางสาวกาญจนา สิทธิมาตย์ ผู้เสียหายต่อพระสิริสารธรรมคณี และผู้อื่นซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยจำเลยร้องเรียนเป็นหนังสือว่า “ทำงานอยู่ในวัด ทำไมไม่มีคุณธรรม จริยธรรม และมโนธรรม ต้นงิ้วในวัดคงไม่มีหนามถึงไม่กลัวบาป” ซึ่งหมายความว่าผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับนายวุฒิศักดิ์ มีสาร์ สามีจำเลย อันเป็นการพูดจาใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่ตำบลในเมืองและตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เกี่ยวพันกันขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2546 จำเลยเข้ามอบตัวและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าหมิ่นประมาทผู้อื่น จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างสอบสวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัว โดยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 วรรคแรก ที่บัญญัติให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับนั้นเป็นบทบัญญัติเพื่อมิให้การดำเนินคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงต้องล่าช้า และทำให้ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไว้นานเกินสมควรแก่เหตุและความจำเป็น คดีนี้จำเลยเข้ามอบตัวและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นให้จำเลยทราบวันที่ 17 มิถุนายน 2546 กรณีย่อมถือว่าจำเลยถูกจับตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนต้องส่งตัวจำเลยพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้ฟ้องภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง ถ้าไม่สามารถฟ้องได้ทันภายในกำหนด พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องขอผัดฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2546 โดยไม่ได้ขอผัดฟ้องและพ้นกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 9 จึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน.