คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2316/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นหนังสือรับรองว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่โดยตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกำหนดวีธีชำระหนี้โดยผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 (2) เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรก โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้แต่ละงวดได้ตั้งแต่เมื่อครบกำหนดที่จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้เป็นงวดนั้นๆ สิทธิเรียกร้องในหนี้งวดใดที่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังตั้งแต่วันฟ้องขึ้นไปจึงเป็นอันขาดอายุความ
หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ได้มีข้อตกลงว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดหรือหนี้ทั้งหมดนั้นถึงกำหนดชำระอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที ข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้ว่า หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยินยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที หมายถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดในงวดนั้นๆ แล้วเท่านั้น ส่วนงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้ยอมรับว่าเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์จำนวน 52,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระหนี้คืนเป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 2,000 บาท เริ่มชำระเดือนแรกภายในวันที่ 19 มกราคม 2541 และทุกวันที่ 19 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้จำนวนดังกล่าวโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้แล้วจำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ติดตามทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 ปี 3 เดือน 14 วัน คิดเป็นเงิน 41,244 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 93,244 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 93,244 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 52,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 40,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.50 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 1 ปี เป็นเงิน 12,000 บาท สัญญารับสภาพหนี้จำนวน 52,000 บาท จึงรวมดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดโจทก์คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 5 ปี สัญญารับสภาพหนี้เป็นข้อตกลงให้มีการผ่อนทุนคืนเป็นงวด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้ชำระหนี้ตามสัญญามีกำหนด 5 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2541 ถึงวันฟ้องเกิน 5 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นความรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 46,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2546 นับย้อนหลังไปเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี แต่ดอกเบี้ยคำนวนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 เมษายน 2546) ต้องไม่เกิน 41,244 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงเป็นการต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินกู้โจทก์จำนวน 52,000 บาท ตกลงชำระคืนเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท โดยเริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 19 มกราคม 2541 งวดถัดไปจะชำระภายในวันที่ 19 ของทุกๆ เดือนจนกว่าจะชำระเสร็จและยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมสละสิทธิตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688, 689, 690 ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ภายหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองไม่เคยชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนแก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 เป็นหนังสือรับรองว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่โดยตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกำหนดวิธีชำระหนี้โดยผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 (2) เมื่อปรากฏว่า หลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรกที่ต้องชำระภายในวันที่ 19 มกราคม 2541 โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แต่ละงวดได้ตั้งแต่เมื่อครบกำหนดที่จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้เป็นงวดนั้นๆ สิทธิเรียกร้องในหนี้งวดใดที่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังตั้งแต่วันฟ้องขึ้นไปจึงเป็นอันขาดอายุความ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 มีข้อตกลงกันว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยินยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งหมดได้นับแต่จำเลยทั้งสองผิดนัดงวดแรกการนับอายุความเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องจึงมีระยะเวลาเกินกว่า 5 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้มีข้อตกลงว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดหรือหนี้ทั้งหมดนั้นถึงกำหนดชำระอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที ข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้ว่า หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยินยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที น่าจะหมายถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดในงวดนั้นๆ แล้วเท่านั้น ส่วนงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share