แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในความครอบครองและโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เมื่อประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 97(พ.ศ. 2539) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539)ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มีผลเป็นเพียงให้เมทแอมเฟตามีนถูกเพิกถอนจากการเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 มาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1เท่านั้น โดยไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติยกเลิกความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ฉะนั้นจำเลยจึงยังมีความผิดและต้องรับโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอยู่ส่วนจะต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ย่อมเป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำผิด ซึ่งต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยคือตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67ทั้งนี้ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ วัตถุออกฤทธิ์ที่จะริบให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 116 ต้องเป็นกรณีมีการลงโทษตามมาตรา 89 มาตรา 90มาตรา 98 มาตรา 99 มาตรา 100 หรือมาตรา 101 เมื่อคดีนี้มิได้ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าว จึงไม่อาจริบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุขได้ แต่ริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6(7ทวิ), 11(4),62, 106 ทวิ, 116 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 32 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขและริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง,106 ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ภายหลังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 51 เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518ซึ่งมีผลให้เมทแอมเฟตามีนไม่ใช่วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทต่อไป และมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539)เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,67 ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่า จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ อันเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 ลงโทษฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 6 ปี ฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 7 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน ริบอาวุธปืนของกลางและริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจชุดเฉพาะกิจกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอจตุรัสตรวจค้นสถานีบริการน้ำมันของนายประสิทธิ์ บิดาจำเลย ยึดได้เมทแอมเฟตามีนของกลางและค้นบ้านจำเลยซึ่งอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุพบอาวุธปืนลูกซองพกของกลาง จำเลยรับว่ามีอาวุธปืนของกลางไว้ในความครอบครองปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในความครอบครองหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในความครอบครอง
ส่วนที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 51 เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งมีผลทำให้เมทแอมเฟตามีนไม่ใช่วัตถุออกฤทธิ์อีกต่อไป ฉะนั้น จึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จึงเป็นคำพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192เห็นว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539)ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มีผลเป็นเพียงให้เมทแอมเฟตามีนถูกเพิกถอนจากการเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 มาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1เท่านั้น โดยไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติยกเลิกความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองแต่อย่างใด ฉะนั้นจำเลยจึงยังมีความผิดและต้องรับโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอยู่ส่วนจะต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ย่อมเป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำผิด ซึ่งต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย คือตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
อนึ่ง วัตถุออกฤทธิ์ที่จะริบให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มาตรา 116 นั้นต้องเป็นกรณีมีการลงโทษตามมาตรา 89 มาตรา 90 มาตรา 98มาตรา 99 มาตรา 100 หรือมาตรา 101 เมื่อคดีนี้มิได้ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าว จึงไม่อาจริบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุขได้ แต่ริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32 ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1