แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้สั่งเพิกถอนการโอนทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้กระทำไปในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนล้มละลายตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่มีบทบัญญัติว่าจะต้องยื่นต่อศาลภายในเวลาใด จึงต้องนำอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มาใช้บังคับ(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 702-705/2513)
ก่อนที่จะถูกโจทก์ฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย ลูกหนี้ได้ทำสัญญายอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ต่อมาลูกหนี้จึงได้หย่ากับภริยาและโอนที่ดินสินสมรสให้ จึงฟังได้ว่าการโอนที่ดินดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน เมื่อได้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิร้องต่อศาลให้เพิกถอนการโอนนั้นได้ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 และบุคคลภายนอกแม้จะรับโอนต่อมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน แต่เป็นการโอนในภายหลังที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116
ก่อนล้มละลายและก่อนที่ลูกหนี้จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ ลูกหนี้ได้โอนทรัพย์สินที่จำนองไว้กับธนาคารบางส่วนให้แก่ธนาคาร แต่ยังมีทรัพย์จำนองเหลืออยู่อีกซึ่งมีราคาสูงกว่าหนี้จำนองที่เหลือเป็นจำนวนมาก และลูกหนี้ยังคงประกอบการค้าขายต่อไปตามปกติทั้งเป็นเวลาก่อนที่ลูกหนี้จะได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ ดังนี้เชื่อได้ว่าธนาคารรับโอนทรัพย์สินไว้โดยไม่ทราบว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และทรัพย์สินที่รับโอนไว้ก็เป็นทรัพย์สินที่จำนองจำนำไว้กับธนาคาร แม้ลูกหนี้จะถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย ธนาคารในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิพิเศษที่จะขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังนั้น การที่ธนาคารรับโอนทรัพย์สินที่รับจำนองจำนำไว้จากลูกหนี้เพื่อชำระหนี้บางส่วน จึงไม่ทำให้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นด้วย
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ 3 ราย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 ผู้รับโอนทั้งสามรายยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนทั้งสามราย
บริษัท ก. และธนาคาร ก. ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
บริษัท ก. และธนาคาร ก. ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่บริษัทกิจเจริญอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดผู้คัดค้าน ฎีกาว่า โจทก์เจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทราบถึงการโอนทรัพย์สินรายนี้ระหว่างลูกหนี้ที่ 2 กับนางพรพิมลแล้ว แต่ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนอันเป็นการฉ้อฉลภายในกำหนดเวลา 1 ปี จึงขาดอายุความ เห็นว่า กรณีตามคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการกระทำอันเป็นการฉ้อฉล ซึ่งจะต้องยื่นต่อศาลภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้รู้ถึงเหตุแห่งการขอให้เพิกถอนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 237 ประกอบด้วยมาตรา 240 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ใช้สิทธิร้องต่อศาลขอให้สั่งเพิกถอนการโอนทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้กระทำไปในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนล้มละลายตามนัยที่บัญญัติไว้ในมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายไว้ว่าจะต้องยื่นต่อศาลได้ภายในเวลาใดแล้ว จึงต้องนำเอาอายุความ 10 ปี ตามที่บัญญัติเป็นหลักทั่วไปในมาตรา 164 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับเกี่ยวกับกรณีนี้ คำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ขาดอายุความเทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 702-705/2513 ระหว่างนางถนอม ศิวะดิตถ์ โจทก์ นางสาวอารมย์รื่นหรืออารมย์ ฤทธิรักษ์ จำเลย นายศิริ บุศยอังกูร กับพวก ผู้คัดค้าน
บริษัทกิจเจริญอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้คัดค้านฎีกาอีกข้อหนึ่งว่านางพรพิมลรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5799 ไว้โดยสุจริตมีค่าตอบแทน ต่อมานางพรพิมลได้ขายและโอนให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านจึงไม่มีหน้าที่จะต้องคืนที่พิพาทหรือร่วมกับนางพรพิมลชำระราคาที่ดินให้แก่กองทรัพย์สินลูกหนี้ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงกลับได้ความในชั้นพิจารณาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5799 เป็นสินสมรสระหว่างนายพงษ์ชัย ลูกหนี้ที่ 2 กับนางพรพิมลก่อนที่จะถูกบริษัทโจทก์ฟ้องลูกหนี้ทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย ลูกหนี้ทั้งสองได้ทำสัญญายอมรับว่าเป็นหนี้บริษัทโจทก์อยู่เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ตามที่บริษัทโจทก์นำมาฟ้องลูกหนี้ให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต่อมาเมื่อลูกหนี้ทำสัญญายอมรับว่าเป็นหนี้บริษัทโจทก์แล้ว ลูกหนี้ที่ 2 จึงได้จดทะเบียนหย่ากับนางพรพิมลและได้ทำสัญญายกที่ดินส่วนที่เป็นสินสมรสของลูกหนี้ที่ 2 ให้แก่นางพรพิมลดังนี้ จึงฟังได้ว่า การโอนที่ดินพิพาทให้แก่นางพรพิมลของลูกหนี้ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน เมื่อปรากฏว่าการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้สั่งเพิกถอนการโอนนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ส่วนในข้อที่ว่า ผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกรับโอนไว้โดยสุจริต แม้จะเป็นความจริงแต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้คัดค้านได้รับโอนที่ดินส่วนที่เป็นสินสมรสของลูกหนี้ที่ 2 ไว้จากนางพรพิมลในเวลาภายหลังที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายแล้วผู้คัดค้านจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามนัยที่บัญญัติไว้ในมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ที่ศาลล่างวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านคืนทรัพย์สินที่รับโอนหากคืนไม่ได้ก็ให้ร่วมกับนางพรพิมลชำระราคาทรัพย์สินนั้นแทนจึงชอบแล้ว
ส่วนที่เกี่ยวกับสำนวนที่สอง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้กล่าวอ้างไว้ในคำร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้คัดค้านรับโอนไว้โดยไม่มีค่าตอบแทน ฉะนั้น คดีจึงคงมีปัญหาแต่เพียงว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้คัดค้านได้รับโอนทรัพย์สินไว้โดยสุริต โดยไม่ทราบว่าขณะรับโอนลูกหนี้มีภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้คัดค้าน ได้นำสืบถึงมูลเหตุที่รับโอนทรัพย์สินพิพาทไว้ว่า หลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสองชำระหนี้ให้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้คัดค้าน เพราะเหตุผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทแล้ว ปรากฏว่าลูกหนี้ทั้งสองยังคงประกอบอาชีพค้าขายของตนอยู่ต่อไปตามปกติ ประกอบกับขณะนั้นลูกหนี้กับนางพรพิมลก็ยังมีโฉนดที่ดินพิพาทได้แก่โฉนดเลขที่ 5799, 13230, 13251 และ 13252 มาจำนองไว้กับผู้คัดค้านและมีรถจักรยานยนต์จำนวน 520 คันจำนำไว้กับผู้คัดค้านเป็นการประกันหนี้ดังกล่าวอยู่ ผู้คัดค้านเชื่อว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้จึงไม่ได้รีบร้อนขอให้ศาลทำการบังคับคดีเพื่อให้ลูกหนี้ทั้งสองชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านตามคำพิพากษานั้นแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อลูกหนี้และนางพรพิมลได้เสนอขอนำเอาโฉนดที่ดินพิพาท 3 แปลงตามคำร้องและรถจักรยานยนต์ที่จำนองจำนำไว้เป็นประกันตีราคาใช้หนี้ให้แก่ผู้คัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านเห็นว่ามีราคาเพียงพอจะชำระหนี้ที่ค้างอยู่บางส่วนจึงได้ตกลงรับโอนไว้เป็นการตีใช้หนี้บางส่วน ดังปรากฏรายละเอียดในสัญญาโอนทรัพย์สินลงวันที่ 20 สิงหาคม 2516 ซึ่งการโอนทรัพย์สินดังกล่าวก็เป็นเวลาก่อนที่ลูกหนี้ทั้งสองจะได้ทำสัญญายอมรับว่าเป็นหนี้ให้แก่บริษัทโจทก์ไว้เป็นที่แน่นอน และเมื่อผู้คัดค้านได้รับโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ดังกล่าวไว้เพื่อชำระหนี้บางส่วนแล้ว ก็ปรากฏว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นเหลืออยู่อีก เช่น ที่ดินโฉนดเลขที่ 5799 แม้ขณะนั้นจะติดจำนองผู้คัดค้านไว้เป็นการประกันหนี้ที่เหลือ ที่ดินแปลงนี้ก็มีราคาสูงกว่าจำนวนหนี้ที่จำนองไว้เป็นประกันนั้นมาก ดังจะเห็นได้เมื่อนางพรพิมลขายและโอนให้แก่บริษัทกิจเจริญอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้คัดค้านที่ 2 ในสำนวนคดีแรก ในเวลาภายหลังที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายแล้วนั้น ได้ราคาถึง 2,500,000 บาท ดังนี้ คดีจึงมีเหตุให้น่าเชื่อตามที่ผู้คัดค้านนำสืบว่า ขณะที่ผู้คัดค้านรับโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ ผู้คัดค้านไม่อาจจะทราบได้ว่าลูกหนี้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือกำลังตกอยู่ในภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามนัยที่บัญญัติเป็นข้อสันนิษฐานไว้ในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ส่วนในปัญหาที่ว่า การรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวของลูกหนี้ไว้ทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบคดีก็ได้ความว่าทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านรับโอนไว้ทั้งหมดล้วนแต่ติดจำนองและจำนำไว้กับผู้คัดค้านเพื่อประกันหนี้ ส่วนราคาทรัพย์สินที่ตีหักใช้หนี้เมื่อรับโอน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่ได้คัดค้านว่าเป็นราคาที่ไม่ถูกต้องหรือทรัพย์สินนั้นมีราคาสูงกว่าหนี้ที่จำนองจำนำเป็นหลักประกันไว้ทำให้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นหรือแม้หากว่าผู้คัดค้านไม่รับโอนทรัพย์รายนี้ไว้จากลูกหนี้ โดยให้คงติดภาระจำนองและจำนำไว้จนลูกหนี้ถูกบริษัทโจทก์ฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้คัดค้านในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันก็ยังมีสิทธิพิเศษที่จะขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้อันเป็นหลักประกันอยู่ตามนัยที่บัญญัติไว้ในมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ศาลฎีกาเห็นว่าการรับโอนทรัพย์สินที่รับจำนองและจำนำไว้จากลูกหนี้ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้คัดค้านเพื่อชำระหนี้บางส่วนไม่ทำให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นแต่อย่างใด ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า ขณะรับโอนทรัพย์สินลูกหนี้ไว้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้ลดหนี้สินที่ค้างให้แก่ลูกหนี้ ก็ปรากฏจากการนำสืบว่าการลดหนี้สินให้แก่ลูกหนี้ของธนาคารนั้นได้ถือปฏิบัติอยู่โดยทั่ว ๆ ไปแม้กับลูกหนี้รายอื่น แม้แต่บริษัทโจทก์เองก็ยังลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ทั้งสองเมื่อมีการทำสัญญารับสภาพหนี้ก่อนนำมาฟ้องเป็นคดีนี้ ฉะนั้น การลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้คัดค้านจึงไม่พอจะให้รับฟังว่า เกิดจากการสมยอมกันอันทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบเป็นการไม่สุจริต ที่ศาลล่างมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทรายนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เฉพาะที่เกี่ยวกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้คัดค้านในสำนวนที่สองโดยให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์